Elon Musk มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla คือผู้ชนะอย่างแท้จริงในสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีที่สูงกับจีน แต่ก็ยังไม่สามารถลดการขาดดุลการค้าได้ ซ้ำร้ายยังมีการลงทุนไหลไปจีนเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์อยู่ดี
จีน ก็กำลังเผชิญกับกำแพงทางการค้าอันสูงลิบ ทำให้จีนต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมหาศาลเพื่อดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูงให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศจีน
Elon Musk ที่มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เบอร์ 1 ของโลก จึงได้รับอานิสงค์จากสงครามการค้าไป
จีนต้องการให้ Elon Musk เข้ามาลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีน
จีนให้ความสนใจกับการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 และปรับแผนเศรษฐกิจมหภาคเพื่อเพิ่มการพัฒนาทางเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้าและระบบขับเคลื่อนแบบไร้คนขับคือภาพอนาคตของอุตสาหกรรม ส่วนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการเผาไหม้คืออดีต
ในด้านหนึ่ง จีนต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง จีนทราบดีว่าตนตามหลังประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือสหรัฐฯ อยู่ไกล ในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิม
Elon Musk ซึ่งดูจะเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบใหม่ เป็นที่ต้องตาต้องใจของจีน เพราะหากเขาเข้ามาลงทุนในจีน นอกจากการสร้างโรงงานซึ่งสร้างเม็ดเงินและการจ้างงานให้กับจีนอย่างมหาศาลแล้ว เขายังเข้ามาทำการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีน นั่นทำให้จีนสามารถยกระดับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมยานยนต์ แถมยังช่วยพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มหาศาล
เช่น กรณีของ Contemporary Amperex Technology บริษัทแบตเตอรี่สัญชาติจีนที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla ก็มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ในปี 2020 จนมีมูลค่าบริษัทกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ และนี่คือภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่การผลิต
Scott Kennedy ที่ปรึกษาอวุโสของ Center for Strategic & International Studies ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนกล่าวว่า ความคาดหวังของจีนในการให้ Tesla เข้ามายกระดับอุตสาหกรรม คล้ายกับตอนที่ Apple เข้ามาผลิต iPhone ในจีน ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมข้างเคียงเติบโต จนเพียงพอที่บริษัทท้องถิ่น เช่น Huawei, Oppo, Vivo และ Xiaomi สามารถลืมตาอ้าปากมาแข่งขันกับ Apple เองได้
Elon Musk คือนายทุนต่างชาติคนโปรดของจีน
ย้อนกลับไปในปี 2018 หลังสงครามการค้าได้เริ่มต้นขึ้นจนทำให้การค้าระหว่างประเทศปั่นป่วน
3 ใน 4 ของบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอเมริกันในจีน รู้สึกว่าจีนต้อนรับการลงทุนของบริษัทอเมริกันน้อยลง และไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเท่ากับบริษัทท้องถิ่นเหมือนอย่างเคย
นั่นเป็นหนังคนละม้วนกับกรณีของ Elon Musk แม้กำแพงภาษีจะสูงขึ้น แต่ Elon Musk ก็ยังเป็นนายทุนต่างชาติคนโปรดของจีน กำแพงภาษีไม่ใช่สิ่งที่ขวางกั้นความสัมพันธ์หวานชื่นของ Elon Musk กับจีนได้
เพราะเมื่อสหรัฐฯ ตั้งกำแพงทางการค้าไว้สูง จีนจึงต้องมอบสิทธิพิเศษมหาศาลเพื่อดึงดูดให้ Tesla มาลงทุนในจีน
โรงงาน Tesla ในจีนได้รับการสนับสนุนจากทางการในช่วงโควิดมหาศาล
หลังจากโควิดได้เริ่มต้นแพร่ระบาดในจีนจนทำให้กิจกรรมต่างๆ จนหยุดชะงัก ล่าสุด รัฐบาลจีนประกาศให้เริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 หลังจากเริ่มจัดการกับการระบาดได้ดีขึ้น
โรงงานของ Tesla กลับมาทำการผลิตได้ในในอัตรา 1,000 คัน/สัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์แรก และสามารถแตะระดับ 3,000 คัน/สัปดาห์ ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าช่วงก่อนการระบาดได้ในเดือนต่อมา ในขณะที่โรงงานรถยนต์อื่นๆ เช่น Toyota และ Volkswagen ยังไม่สามารถกลับมาทำการผลิตเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ
ข้อมูลจาก Bloomberg Businessweek ชี้ว่า โรงงาน Giga Shanghai ในเซี่ยงไฮ้ของ Tesla ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนอย่างเต็มกำลัง
- มีแรงงานนับพันกลับมาทำงานตั้งแต่วันแรกๆ หลังล็อคดาวน์
- มีรถรับส่งของทางการที่คอยรับส่งไปกลับระหว่างโรงงานและหอพักที่ทางการคอยดูแลความปลอดภัย ไม่ให้พนักงานคลุกคลีกับชุมชนข้างเคียงเพื่อป้องกันโควิด
- มีข้าวของที่ทางการเข้ามาช่วยควบคุมอย่างข้มงวดให้มีใช้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก N-95 หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
ความสัมพันธ์ของทั้งสองดีมาตั้งแต่ปี 2018
ที่จริงแล้ว ก่อนวิกฤติการระบาด ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและ Tesla อยู่ในระดับดีมาก เดิมทีแล้วในอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาเปิดบริษัทในจีนจะต้องร่วมทุนกับบริษัทในจีนคนละครึ่ง และมีข้อบังคับให้แบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระหว่างกัน
ทว่า ในปี 2018 หลังจาก Tesla มีโปรเจกต์ที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดยักษ์นอกสหรัฐฯ และได้หมายตาทำเลในเซี่ยงไฮ้เอาไว้ รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ และให้คำมั่นสัญญาในเดือน เมษายน ปี 2018 ว่าจะยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวภายในปี 2022 และมีข้อยกเว้นพิเศษให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโดยการยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้ทันที
Looking forward to breaking ground on the @Tesla Shanghai Gigafactory today!
— Elon Musk (@elonmusk) January 7, 2019
3 เดือนต่อมา Tesla จึงเซ็นข้อตกลงสร้างโรงงานที่มีกำลังผลิตรถยนต์ได้ 500,000 คัน/ปี โดยใช้ชื่อว่า Giga Shanghai และในช่วงต้นปี 2019 ธนาคารต่างๆ ที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลยื่นข้อเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างโรงงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 521 ล้านดอลลาร์
เท่านั้นไม่พอ ในเดือนสิงหาคม 2019 รัฐบาลจีนยังประกาศงดเว้นภาษีการขาย 10% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ไม่ว่าจะเป็นรถที่ผลิตในจีนหรือเป็นรถนำเข้าก็ตาม
ยังมีข่าวลือว่า บริษัทโรงงาน Tesla ในจีนมีช่องทางติดต่อ Xi Jinping ประธานาธิบดีจีนได้โดยตรงอีกด้วย
At Tesla Giga Shanghai NSFW!! pic.twitter.com/1yrPyzJQGZ
— Elon Musk (@elonmusk) January 7, 2020
ทั้งหมดนี้ทำให้ Elon Musk มีสิทธิพิเศษมหาศาลในการเข้าถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดนอกจากสหรัฐฯ ในปี 2020 Tesla มีรายได้จากจีนคิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมด
รายได้ของ Tesla ปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เกือบ 3 เท่าตัว นี่แปลว่าการลงทุนในจีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ Elon Musk กลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา
กำแพงการค้าที่สูงใหญ่ของสหรัฐฯ กดดันให้จีนต้องทุ่มเงินมากขึ้นเพื่อดึงดูดบริษัทระดับต้นๆ จากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และ Elon Musk ก็เป็นผู้ที่สามารถเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้ไป
อนาคตที่ยังไม่แน่นอน
แม้จะความสัมพันธ์ของ Tesla และจีนยังหวานชื่น แต่ต้องไม่ลืมว่าจีนยังคงเป็นประเทศอำนาจนิยมที่มีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจ ว่ากันว่าบริษัทที่จะลงทุนจนประสบความสำเร็จในจีนจะต้องได้รับความสนับสนุนจากทางการ
และในวันนี้ Tesla ยังไปได้สวยในจีนเพราะ Tesla อยู่ในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการพัฒนา และทางการจีนยังคงยอมรับใน Tesla อยู่ น่าสนใจว่าหากบริษัทต่างๆ ในจีนเริ่มเติบโตจากการเข้ามายกระดับห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าโดย Tesla จนสามารถแข่งขันได้แล้ว แล้ว Tesla จะมีอนาคตอย่างไรต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา