สัมภาษณ์งานกับ Elon Musk ต้องเจอคำถามชี้เป็นชี้ตาย จับพิรุธคนโกหก เนียนแค่ไหนก็ไม่รอด

Elon Musk เผยเทคนิคจับคนโกหกขณะสัมภาษณ์งาน โกหกเก่งแค่ไหนก็ไม่เนียน ไม่รอดจากสายตาของเขาแน่ๆ ด้วยการถามหารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ถ้าทำจริงต้องตอบได้ ไม่ปิดบัง

Elon Musk
Elon Musk ภาพจาก Getty Images

การจะทำงานกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Tesla ของมหาเศรษฐีชื่อดัง Elon Musk ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในแต่ละปีมีผู้สนใจสมัครเข้าทำงานกับบริษัทระดับโลกนี้จำนวนมาก กระบวนการสัมภาษณ์งานจึงต้องคัดกรองคนที่ “เก่งจริง” เข้าไปทำงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ Elon Musk ต้องการจากคนเก่งทั่วโลก ไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษาเท่านั้นที่เขาต้องการ แต่เขาต้องการคนที่เก่งจริง แสดงความสามารถพิเศษที่ต่างจากคนอื่นๆ ออกมา แม้จะไม่มีวุฒิการศึกษามาเป็นสิ่งยืนยันก็ไม่เป็นไร เหมือนที่ก่อนหน้านี้ Elon Musk เคยโพสต์ลงใน Twitter ส่วนตัวของเขาเพื่อตามหาคนเข้ามาทำงานในทีม AI ของ Tesla ไม่ต้องจบการศึกษา ขอแค่ทำงานได้ก็พอ

แน่นอนว่าการไม่ต้องการวุฒิการศึกษามายืนยันความสามารถ แสดงว่ากระบวนการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานด้วยการสัมภาษณ์ ต้องมีการคัดกรอง และจับไต๋คนโกหกได้ดีพอ ไม่เช่นนั้นคงได้คนเก่งไม่จริงเข้ามาทำงาน

คำถามชี้เป็นชี้ตายจับไต๋คนโกหกของ Elon Musk

Elon Musk ได้เผยเทคนิคการจับไต๋คนโกหกในระหว่างการสัมภาษณ์งานโดยใช้การถามคำถาม “ให้เล่าปัญหาที่ยากที่สุดที่เคยเจอมา และแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร” แม้จะดูเป็นเหมือนคำถามง่ายๆ แต่ความจริงแล้วสามารถจับผิดคนโกหกได้เป็นอย่างดี

Elon Musk อธิบายว่า คนที่เคยแก้ไขปัญหาที่ยากๆ ด้วยตัวเอง จะรู้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถอธิบายได้

เพราะคนที่โกหกจะไม่สามารถหาเหตุผลมาประกอบการอธิบายได้ ดังนั้น Elon Musk จึงต้องการให้ผู้เข้าสัมภาษณ์ตอบวิธีการแก้ไขปัญหานั้นตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียด

วิธีของ Elon Musk ใช้ได้จริง มีงานวิจัยยืนยันแล้ว

แม้ว่าวิธีการจับไต๋คนโกหกของ Elon Musk จะดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ความจริงแล้ววิธีของ Elon Musk มีการศึกษาวิจัยรองรับถึงความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์

โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า The Journal of Applied Research in Memory and Cognition เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา โดยใช้เทคนิคที่ชื่อว่า Asymmetric Information Management หรือ AIM ที่ออกแบบมาเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบคำถามด้วยความจริง หรือโกหก ด้วยการอธิบายข้อมูลให้กับผู้สัมภาษณ์ฟัง

ผลการวิจัยพบว่า การให้ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถช่วยให้ผู้สัมภาษณ์งานตรวจสอบได้ว่าการตอบคำถามนั้นเป็นเรื่องจริง หรือโกหก ยิ่งอธิบายได้มากแค่ไหน ก็จะยิ่งเป็นการให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้สัมภาษณ์ได้มากเท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ตอบคำถามด้วยความจริงไม่ได้โกหก มักหาวิธีในการอธิบายความบริสุทธิ์ของตัวเอง ด้วยการตอบคำถามที่ให้ข้อมูล และรายละเอียดมากที่สุด อาจถึงขั้นอธิบายเป็นขั้นเป็นตอนได้

ในขณะที่คนที่โกหก ตอบคำถามไม่จริง จะปกปิดความไม่บริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการปิดบังข้อมูล ไม่ให้รายละเอียด เพราะกลัวว่าหากให้รายละเอียดมากๆ จะโดนจับได้ถึงการโกหกของตัวเอง

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา