หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าเงินซื้อความสุขได้ แต่ผลการศึกษานี้ช่วยเป็นเครื่องพิสูจน์และยืนยันได้ว่ามีการศึกษามาแล้ว พบว่า ความคิดที่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้เป็นคำพูดที่พร่ำสอนกันมาตั้งแต่ยังเด็กยังเล็กนั้น เอาเข้าจริงแล้วอาจเป็นแค่เพียงมายาคติ เพราะความเป็นจริงแล้วเงินสามารถซื้อความสุขได้ รายได้ที่สูงขึ้นช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น รายได้ที่มากขึ้นส่งผลให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน
The Hill หยิบงานวิจัยชิ้นใหม่จาก PNAS มาเล่าว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรามักจะมีใครบางคนมาพร่ำพูดให้ฟังอยู่เสมอว่า เราไม่สามารถใช้เงินซื้อความสุขได้ แต่งานศึกษาชิ้นล่าสุดบอกให้เรารู้ว่าไม่จริงเสมอไป เราอาจมีความสุขเพิ่มขึ้น เมื่อเรามีเงินเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ Matthew Killingsworth (แมธธิว คิลลิงวอร์ธ) นักวิจัยอาวุโสจาก Penn’s Wharton School ผู้เขียนงานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า เมื่อสำรวจดูรายได้หลากหลายระดับแล้ว พบว่า ความสุขเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อคุณมีเงินเพิ่มขึ้น คุณก็มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณจะเห็นตัวอย่างชัดเจนในช่วงที่เกิดโรคระบาด ผู้คนใช้ชีวิตแบบมีเงินใช้เดือนชนเดือน ใครที่สูญเสียงานจากโรคระบาดก็อาจจะต้องการทำงานที่ทำให้เขาพ้นจากปัญหาเหล่านี้ไปได้ แม้ว่าจะเป็นงานที่ไม่ชอบก็ตาม แต่ก็ทนทำงานนั้นๆ ไปเพื่อที่จะหางานที่เหมาะสมกว่าหรือหางานที่ดีกว่าทดแทนได้ในภายหลัง
คำถามที่ยังต้องถกเถียงกันต่อจากนี้ก็คือ เราจะนิยามความสุขอย่างไร ผลสำรวจตั้งคำถามว่า ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้างเพื่อวัดความพอใจในชีวิต รวมถึงการสำรวจความรู้สึกโดยแบ่งออกเป็น 12 ชนิด ความรู้สึกเชิงบวกคือ รู้สึกมั่นใจ รู้สึกดี รู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกสนใจ และรู้สึกภูมิใจ ขณะที่ความรู้สึกเชิงลบคือ ความเกรงกลัว ความโกรธ ความรู้สึกแย่ ความเบื่อ ความเศร้า ความเครียด และความหงุดหงิด เหล่านี้ช่วยเป็นมาตรวัดความเป็นอยู่ที่ดีที่สะท้อนถึงความพอใจในชีวิตได้
คำตอบที่พบมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนส่วนมากพิจารณาเรื่องเงินเป็นดั่งมาตรวัดความพึงพอใจในชีวิตและสะท้อนความสุขเมื่อคุณมีทุกอย่างที่คุณต้องการและมีความสุขในการใช้ชีวิต
คิลลิงวอร์ธเก็บข้อมูลจากผู้คนกว่า 33,391 คน อายุระหว่าง 18-65 ปีในสหรัฐอเมริกาเป็นการรายงานถึงประสบการณ์ถึงความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี 1,725,994 ชิ้น เขาก็พบว่า เงินมีอิทธิพลต่อการสร้างความสุข ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
ที่มา – The Hill, Medical Express, PNAS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา