มธ. สำรวจคนไทยเห็นด้วย ‘เรียกรถผ่านแอป’ ถูกกฎหมาย ช่วยยกระดับมาตรฐานการเดินทาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยผลโพล เรียกรถผ่านแอป พบคนไทย 92.3% อยากผลักดันให้ถูกกฎหมายและใช้จริงภายในปี 64 หวังช่วยยกมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ลดปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร

เรียกรถผ่านแอป Taxi
แท็กซี่ในกรุงเทพ ภาพจาก Shutterstock

หลังจากที่กรมการขนส่งได้ออกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบบริการทางเลือกและอยู่ระหว่างการพิจารณาผ่านข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดทางเลือกในการให้บริการที่สอดคล้องวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันมากขึ้นและเพิ่มแนวทางการตรวจสอบ ควบคุม และติดตามความปลอดภัยของโดยสารให้กับภาครัฐ

ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยที่มีต่อนโยบายการส่งเสริมและผลักดันให้การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมาย

โดยทำการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไป คนขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอป และคนขับแท็กซี่ จำนวน 3,914 คน พบว่า

  • 92.3% ของกลุ่มตัวอย่างอยากให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวก มีความโปร่งใสด้านราคา ลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร สามารถช่วยเพิ่มรายได้เสริมให้คนไทยได้ และยังช่วยยกระดับมาตรฐานการเดินทางเพราะมีเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง
  • 83% ของประชาชนทั่วไปที่ตอบแบบสำรวจต้องการให้บริการเรียกรถผ่านแอปถูกกฎหมายภายในปี 64 สอดคล้องกับความคิดเห็นของกลุ่มคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านเเอป ขณะที่คนขับจำนวน 30% ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันกฎหมายนี้ได้สำเร็จ
  • 64.3% ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับการจำกัดจำนวนรถยนต์หรือคนขับ เนื่องจากมีความกังวลว่าการจำกัดจำนวนรถยนต์หรือผู้ให้บริการจะเป็นการปิดกั้นช่องทางการหารายได้เสริม และอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการซื้อขายใบอนุญาตหรือระบบมาเฟีย ขณะที่ 11.2% ของกลุ่มที่อยากให้มีโควต้าต้องการให้สวงนสิทธิ์สำหรับคนขับแท็กซี่เดิมเท่านั้น

สำหรับเงื่อนไขเพิ่มเติมในข้อกฎหมายกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นประชาชนทั่วเห็นด้วยกับการแสดงราคาค่าโดยสารให้ทราบล่วงหน้า ให้มีการติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ตัวรถเพื่อแสดงว่าเป็นรถให้บริการทางเลือก (ประชาชนทั่วไปเห็นด้วย 80% แต่ผู้ให้บริการผ่านแอป 65% ไม่เห็นด้วย) กำหนดเกณฑ์อายุรถยนต์ให้บริการแบบเดียวกับแท็กซี่ และจำกัดการจดทะเบียนรถยนต์ 1 คันต่อคนเท่านั้น

เรียกรถผ่านแอป
ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อทำการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมเฉพาะในกลุ่มคนขับรถแท็กซี่จำนวน 2,436 คน เกี่ยวกับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายและความคาดหวังต่อภาครัฐในการช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พบว่า

  • 56.3% ของคนขับแท็กซี่ต้องการให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย โดย 43.7% ที่ไม่เห็นด้วยมีความกังวลเรื่องต้นทุนการประกอบอาชีพที่สูงกว่าคนขับรถยนต์ส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการที่มีความเข้มงวดมากกว่า
  • 39.3% ต้องการให้ภาครัฐช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ ค่าบริการรายเดือนในระบบของรัฐ และควบคุมราคาเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  • 33.5% อยากให้รัฐปรับราคามิเตอร์ให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจ
  • 20.3% อยากให้ปรับลดหรือผ่อนผันข้อกำหนดต่างๆ ของรถแท็กซี่ เช่น การขยายอายุรถ การอนุญาตให้ใช้รถต่ำกว่า 1600 ซีซี
  • มีเพียง 4% เท่านั้นที่อยากให้มีการกำหนดโควต้าสำหรับผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอป

สุทธิกร กิ่งเเก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การออกร่างบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายถือเป็นก้าวสำคัญของภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เเต่บางประเด็นในกฎหมายฉบับนี้ยังล้าหลังโดยเฉพาะเรื่องโควต้าที่เเม้เเต่คนขับเเท็กซี่เเบบดั้งเดิมเองก็ไม่ได้ต้องการ แต่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเรื่องการลดต้นทุนและแก้ไขกฎระเบียบที่เข้มงวดโดยไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันแทน

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบบริการทางเลือก สำหรับรับฟังความคิดเห็น:

  1. รถที่สามารถนำมาจดทะเบียนได้มี 4 ประเภท คือ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และอเนกประสงค์
  2. ตัวรถต้องมีการติดตั้งและใช้อุปกรณ์เพื่อรับงานจ้างผ่านแอปพลิเคชันซึ่งมีระบบคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า มีระบบติดตา,ตรวจสอบเวลาและสถานที่รับส่งย้อนหลังได้อย่างน้อย 1 เดือน
  3. ต้องแสดงเครื่องหมายการเป็นรถยนต์รับจ้างแบบทางเลือกไว้ที่ตัวรถ

อย่างไรก็ตามในร่างกฎหมายยังไม่ได้มีการกล่าวถึงแอปพลิเคชันที่จะนำมาใช้เพิ่มเติมว่าจะเป็นการพัฒนาขึ้นใหม่หรือเป็นการใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่ในปัจจุบันของบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องติดตามประกาศและความคืบหน้าต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา