ผาสุก-คริส เบอร์เคอร์: พลิกโควิดให้เป็นโอกาส ปฏิวัติการเก็บภาษี มุ่งหน้าสู่สังคมเสมอภาค

ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร. คริส เบอร์เคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ เสวนภายใต้หัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี ภายใต้งานเสวนา ‘เบรกทรูไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชอล คอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 

Thailand Royal Palace Bangkok กรุงเทพ พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก Shutterstock

ดร. คริส เบอร์เคอร์ พูดถึง ธนาคารโลกที่เพิ่งรายงานว่าในปีที่ผ่านมาว่า จำนวนคนจนของคนไทยเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านคน สถานการณ์ในไทยกว่าจะฉีดวัคซีน กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวน่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน หลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญปัญหาเช่นนี้ ในสหรัฐฯ มีคนรวยที่รวยเพิ่มขึ้นคนละ 50,000 ล้านบาทกว่า 600 คน ที่อังกฤษก็มีคนรวยที่มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในไทยก็เช่นกัน 

มีการอภิปรายกันว่า เราจะทำยังไงให้คนที่ได้เปรียบจากวิกฤตโควิดจะช่วยคนที่เสียเปรียบจากวิกฤตโควิด ก็มีคำตอบว่าอาจจะต้องเพิ่มภาษีทรัพย์สินซึ่งก็น่าจะลำบากหน่อย เพราะคนรวย มหาเศรษฐีต่อต้านและไม่ยอม และคนรวยเขาก็มีอำนาจด้วยก็ไม่น่าจะยินยอม ต่อมาจึงคิดว่าน่าจะเป็นภาษีจิตอาสา คือ volunteer tax เป็นเรื่องที่ยังอภิปรายกันยังไม่จบ 

ปัญหาก็คือว่า หลังโควิดระบาด รัฐบาลจะกระเป๋าแห้ง ไม่มีเงินแน่นอน แต่ต้องหารายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จะทำยังไงให้หารายได้แบบแฟร์ทั้งคนรวยและคนจนด้วย

ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ระบุว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราสั่งสมความมั่งคั่งมากมาย กลุ่มคนมั่งมีหรือกลุ่ม Wealth เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในไทยด้วย ธุรกิจ Wealth กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู คือธุรกิจที่ทำให้คนมั่งมีหาประโยชน์จากความมั่งมีต่อไปได้อย่างไร คนร่ำรวยที่สูงอายุอยู่บ้านนั่งเล่นหุ้น ขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดยังหารายได้ไม่พอ 

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

หกประเด็นที่​ ศ.ดร. ผาสุกฯ นำเสนอคือ

1. เรารู้กันอยู่แล้วว่าวิกฤตเป็นโอกาส เรามีระบบที่คุ้นเคยกันมานานจนไม่มีใครคิดว่าดีหรือไม่ดี เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องทบทวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วิกฤตโควิดเป็นโอกาสให้เปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้ดีขึ้น

2. เราต้องเข้าใจก่อนว่าระบบภาษีของเราไม่แฟร์มาก เป็นยังไง ภาษีของเราเป็นแบบแยกส่วน มีหลายระบบ เงินได้ประเภทต่างๆ มีข้อกำหนดการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ กัน

เราแบ่งกลุ่มคนเสียภาษีสองกลุ่ม

  • นาย ก มนุษย์เงินเดือน มีรายได้เป็นเงินเดือน ไม่มีทรัพย์สินมากมาย
  • นาย ข มนุษย์ทรัพย์สิน ได้กำไรจากการเล่นหุ้น ได้กำไรจากธุรกิจ โดยไม่ต้องอาศัยเงินเดือน 

3. กลุ่มนาย ก จะเสียภาษีเงินได้ธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า และถูกนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายบางส่วนไว้ก่อน และต้องกรอกแบบภาษี

กลุ่มนาย ข มนุษย์ทรัพย์สินจะเสียภาษีตามอัตราคงที่ เริ่มที่ 0 ถึง 15 เสียครั้งเดียวจบ ไม่ต้องกรอกแบบภาษีอีกหากไม่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ณ ที่จ่าย ซึ่งการหักค่าลดหย่อนสำหรับ นาย ก ขณะที่ นาย ข มีช่องทางให้หักมากกว่า ซึ่งกลุ่มนาย ข คือ Top 1% หรือกลุ่ม Wealth ชั้นยอด ภาษีที่เสียเป็นศูนย์ ในไทยมีหลายประเภทเช่นกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น ผลได้จากการลงทุนหุ้นในต่างประเทศและไม่เอารายได้กลับเข้ามาในปีเดียวกันไม่ต้องเสียภาษีเลย เอาเข้ามาในปีที่สองได้ ก็มีคนที่ใช้วิธีพลิกแพลงต่างๆ เพื่อทำเช่นนี้ได้

มีกลุ่มคนที่รายได้เป็นค่าเช่าบ้านหรือปล่อยเงินกู้ ไปจนถึงธุรกิจการพนัน เป็นต้น ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วไม่มีระบบนี้ เขาจะมีระบบภาษีเป็นระบบเดียวใช้กับทุกคนเหมือนกันหมดเลย ทุกคนเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีในแบบฟอร์มเดียวกัน จ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้า หลักการคือรายได้คือรายได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม สามารถเก็บภาษีได้หมดแม้กระทั่งรายได้จากการพนันผิดกฎหมายด้วย 

โอกาสในการเสียภาษี มนุษย์เงินเดือนแทบไม่มีช่องทางหลีกเลี่ยงเลยเพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ขณะที่มนุษย์ทรัพย์สินช่องทางหลีกเลี่ยงมีมากมายตามที่รู้กันอยู่ 

BANGKOK, THAILAND – MARCH 22: Quiet streets in Bangkok after the government announced a partial lockdown on March 22, 2020 in Bangkok, Thailand. On March 22, 2020 Bangkok imposed a partial lockdown of the city calling for the closure of shopping malls, restaurants apart from delivery, all sporting events, entertainment venues, beauty salons and more amidst the spread of Covid-19. Thailand announced 188 new cases, rasising the country’s total to 599 confirmed cases. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

4. มีคนจำนวนมากในบ้านเรานั่งอยู่กับบ้านเล่นหุ้น หรือลงทุนต่างประเทศ เล่นหุ้นต่างประเทศก็เสียภาษีเป็นศูนย์ เรามีฐานภาษีที่แคบลง คณะวิจัยของเราคำนวณ พบว่า ปี 2560 รัฐบาลเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาต่ำลง ราว 1 แสนล้านบาท 

5. เสนอให้ปฏิวัติภาษีเงินได้ธรรมดาแบบแยกส่วนให้เป็นระบบเดียวแบบบูรณาการ ให้เสียภาษีตามมาตรฐานสากล แบบฟอร์มเดียวกัน จะไม่มีใครในไทยอยู่กับบ้านเล่นหุ้นหรือลงทุนต่างประเทศแต่เสียภาษีเป็นศูนย์อีกต่อไป 

เราสามารถทำให้ระบบภาษีทำให้เราเท่าเทียมกันได้ 

6. วิธีที่จะเพิ่มภาษีสำคัญ เช่น การซื้อขายที่ดิน เราจ่ายภาษีตามราคาประเมินต่ำกว่าราคาจริง เราต้องเก็บภาษีตามความจริงและหักภาษีจากกำไรที่มาจากการซื้อขายที่ดิน

เราพร้อมหรือยังที่จะเสมอหน้ากันด้วยภาษี ถ้าเราสามารถปรับระบบภาษีโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอัตราภาษี รัฐบาลจะมีรายรับจากภาษีอย่างน้อย 1% หรือ 5% หรือมากกว่า ซึ่งนี่คืองานศึกษาของธนาคารโลก สังคมเราที่ไม่ใช่สังคมเสมอภาคเพราะเรามีความรั่วไหลในเรื่องภาษีมาก ถ้าเราปรับเปลี่ยนได้ เศรษฐกิจจะเติบโต สังคมจะดีขึ้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา