จีนเตือนสหรัฐฯ อย่าก่อสงครามเย็น-แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขณะที่โลกเผชิญปัญหาร่วมกัน

ประธานาธิบดีจีน Xi Jinping กล่าวเตือนไปยังสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรตะวันตกว่า อย่ามาเล่นสงครามเย็นใส่กันในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาร่วมกัน ในแถลงการณ์ความยาวกว่า 20 นาที ในที่ประชุมเสมือนจริงของ World Economic Forum ที่ปกติแล้วจะประชุมกันทุกปีในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

World Economic Forum China Xi Jinping
Xi Jinping in the Davos meetings on Jan 25 in a screenshot from the World Economic Forum video.

เบื้องหน้าเชื้อเชิญให้ร่วมสู้โควิด แต่เนื้อในวิจารณ์สหรัฐอเมริกา

ในที่ประชุม Xi Jinping กล่าวไปยังโลกตะวันตกว่า การสร้างวงทางการเมืองแคบๆ และการก่อสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ โดยการจงใจสร้างการแบ่งแยก ขัดขวางการผลิตในห่วงโซ่อุปทานโลก จนไปถึงการคว่ำบาตรทางการค้า ไม่สร้างประโยชน์อะไรเลยนอกจากการผลักให้โลกเข้าสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และร้ายแรงที่สุด อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน

จีนส่งสาสน์ไปยังโลกตะวันตกโดยไม่เอ่ยนาม

แถลงการณ์นี้ชัดเจนว่าเป็นการส่งสาส์นไปถึงประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ อย่าง Joe Biden ให้คิดใหม่เรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าในแบบของ Donald Trump ซึ่งมีทีท่าว่าจะยังไม่หายไปในเร็วๆ นี้ และยังเป็นการกล่าวกระทบไปถึงการเร่งฟื้นคืนความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพันธมิตรดั้งเดิมของตนในเวทีโลก

เขากล่าวต่อไปว่าประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราได้เห็นว่าไม่มีใครจะได้ประโยชน์จากการเผชิญหน้า ไม่ว่านั่นจะเป็นสงครามเย็น สงครามร้อน สงครามการค้า หรือสงครามเทคโนโลยี

Joe Biden โจ ไบเดน สาบานตน Inauguration
WASHINGTON, DC – JANUARY 20: Joe Biden is sworn in as U.S. President during his inauguration on the West Front of the U.S. Capitol on January 20, 2021 in Washington, DC. During today’s inauguration ceremony Joe Biden becomes the 46th president of the United States. (Photo by Alex Wong/Getty Images)

จีนยกเรื่องโควิดกดดันให้สหรัฐฯ หันมาร่วมมือ นัยคือการร่วมมือทางการค้า

Xi Jinping ยกสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มากดดันว่า การระบาดครั้งนี้กระทบไปทั่วโลกและเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ละประเทศควรตระหนักถึงการสื่อสารกันอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทางออกของวิกฤตินี้คือการส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคีมากกว่าการสร้างความขัดแย้ง

จีนยกการค้าเสรี-ลดกำแพงภาษีขึ้นเป็นประเด็น เพราะช้ำจากสงครามการค้าพอสมควร

4 ประเด็นที่จีนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ณ ตอนนี้ คือ 

  1. การร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (ที่เสรี)
  2. ลดอคติทางอุดมการณ์
  3. ลดช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
  4. ความร่วมมือในการจัดการปัญหาระดับโลก เช่น โควิด-19

เขาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดกำแพงภาษี กำแพงต่อการลงทุน และกำแพงต่อการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีลง และกล่าวว่าจีนมองถึงโอกาสที่จะได้ร่วมมือกับประเทศอื่นมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกและสร้างความเจริญเติบโตต่อไป 

สหรัฐฯ ตอบโต้จีน ประเด็นกำแพงภาษีอาจไม่เปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ 

แม้ Joe Biden จะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงในครั้งนี้ แต่ทางสหรัฐฯ ก็ได้ส่ง Jen Psaki โฆษกประจำทำเนียบขาว ทำหน้าที่ส่งสาส์นจากฝั่งสหรัฐฯ เข้าสู่ที่ประชุมระดับโลก และจากแถลงการณ์แล้ว มีแนวโน้มว่าเราจะยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องกำแพงภาษีในเร็วๆ นี้

เธอกล่าวว่า ความคิดเห็นของจีนไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ ได้ ถึงแม้จีนจะเรียกร้องความร่วมมือเรื่องโควิด-19 นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ สหรัฐฯ และจีนยังเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และตอนนี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันที่จริงจังกับจีน 

ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาษีของสินค้าจากจีน และอยากจะร่วมมือกับพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ เพราะจีนมีแนวทางที่เป็นเป็นอำนาจนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องกิจการภายในประเทศ และยังมีนโยบายที่ก้าวร้าวมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

Joe Biden โจ ไบเดน
Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ภาพจาก Twitter Presiden Biden

ในขณะที่จีนเรียกร้องการค้าเสรี จีนกลับขโมยเทคโนโลยี ทำลายการค้าเสรีโดยป้องกันบริษัทของรัฐจากการแข่งขัน เข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ ตั้งแต่อุตสาหกรรมพลังงานไปจนถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

สิ่งที่จีนกระทำ ตรงข้ามกับสิ่งที่จีนพยายามพูดและเรียกร้องในที่ประชุมครั้งนี้  

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์สอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐฯ แถลง

Louis Kujis นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics ชี้ว่ายังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในนโยบายทางการค้าและมีการประกาศออกมาอย่างชัดเจน การปกป้องทางการค้าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในที่เน้นอุ้มชูชนชั้นกลางและเศรษฐกิจฐานรากของสหรัฐฯ

แม้จุดเน้นในการต่อรองจะเปลี่ยนไปจาก Trump คือแทนที่จะมุ่งลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนลง นโยบายเศรษฐกิจในยุค Biden จะเน้นการพูดถึงและเน้นย้ำบทบาทรัฐในพื้นที่ทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งมีใจความสำคัญในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เหมือนกันคือการปกป้องทางการค้ามากขึ้น

ดังนั้นการลดกำแพงภาษีลงกระทันหัน และการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อาจจะยังไม่ใช่สิ่งที่จะได้เห็นในเร็วๆ นี้

ที่มา – Nikkei Asia, WSJ, Washington Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน