Burger King ในประเทศไทยประกาศรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมดตามบริษัทแม่ ภายใต้สถานการณ์ยอดขายในปี 2020 ที่ติดลบเพราะโควิด-19 ส่วนปี 2021 นี้ หวังยอดขายกลับไปเท่าปี 2019
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมกราคม Burger King เพิ่งจะประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี กลับไปใช้โลโก้เดิมคล้ายกับที่เคยใช้เมื่อช่วงปี 1969-1999 รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบร้าน ป้ายเมนู บรรจุภัณฑ์ และชุดยูนิฟอร์มของพนักงานใหม่ทั้งหมด ส่วนด้าน Burger King ในประเทศไทยก็ได้ประกาศรีแบรนด์ใหม่ตามนโยบายของ Burger King ในต่างประเทศแล้วเช่นกัน
ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าถึงเบื้องหลังการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ของ Burger King ว่าการรีแบรนด์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก้ใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนทุกอย่างที่เป็น Touch Point ของลูกค้า เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในมุมของผู้บริโภค และเชิงดิจิทัล ทำให้โลโก้เดิมมีความล้าสมัย
ลายเส้นรูปเสี้ยวสีน้ำเงินไม่ได้มีอยู่ในอาหารของ Buger King เงาบนตัวเบอร์เกอร์ดูปลอม ส่วนโลโก้ใหม่ใช้สีสันจากขนมปังสีเหลือง และซอสสีแดง มีความอบอุ่น มีความคมชัดมากขึ้น
นอกจากโลโก้ที่มีความเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้โลโก้แบบคลาสสิกคล้ายกับที่เคยใช้ในช่วงปี 1969-1999 แล้ว ยังมีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของการออกแบบสาขา ตั้งแต่ป้ายร้าน การออกแบบภายใน เมนู รวมถึงชุดพนักงานด้วย โดยธนวรรธ เล่าว่า Burger King ต้องมีความเป็นมิตร และเข้ากับยุคสมัยดิจิทัลมากขึ้น โดยในอนาคตเราจะได้เห็นป้ายที่หน้าร้าน โดยใช้คำว่า “เบอร์เกอร์คิง” เป็นภาษาไทยอยู่ที่หน้าร้านด้วย เพราะ Burger King อยากจะมีความใกล้ชิดกับลูกค้าชาวไทยมากกว่าเดิม เหมือนที่เคยประกาศกลยุทธ์มาแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามอาจต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของ Burger King ครบทุกสาขา เพราะนโยบายจากบริษัทในต่างประเทศกำหนดเส้นตายว่าจะต้องปรับปรุงทุกสาขาให้เข้ากับการรีแบรนด์ใหม่นี้ภายในปี 2030
สำหรับในประเทศไทย ธนวรรธ เล่าว่าจะค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกำหนดการรีโนเวทร้านของแต่ละสาขา ส่วนการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อาหารก็จะใช้ของเดิมจนหมดสต็อกก่อน จึงเริ่มเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่
สาขาที่จะได้เห็นความเป็น Burger King ในภาพลักษณ์ใหม่สองสาขาแรก คือ สาขาปั๊มน้ำมันเชลล์ เวสต์เกต และปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ รังสิต-นครนายก
สถานการณ์ Burger King ในปี 2020 ยอดขายยังติดลบ
สำหรับสถานการณ์ของ Burger King ในประเทศไทย ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีจำนวนสาขาทั้งหมด 116 สาขา (นับรวมสาขาใหม่ที่เปิดในปีนี้ 2 สาขา) แต่เปิดให้บริการอยู่ 99 สาขา โดยสาขาที่ปิดไปชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ในสนามบิน ส่วนสาขาที่มีการเติบโตสูงส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน หรือที่อยู่ในจุดการเดินทางของคน ซึ่งมีอยู่ราว 50 สาขา
โดยในปีที่ผ่านมา Burger King เปิดสาขาใหม่เพิ่มเพียง 3 สาขา ส่วนในปีนี้วางแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 5-10 สาขา ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาแบบ Stand Alone
ด้านยอดขายของ Burger King ในปีที่แล้ว ธนวรรธ ยอมรับว่ายังติดลบอยู่ราวๆ เลขสองหลัก แม้ว่าสัดส่วนการขายของ Burger King จะเปลี่ยนไปเป็นการเดลิเวอรีมากขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด
-
- ปี 2019 สัดส่วนการนั่งทานในร้านอยู่ที่ 50% Take Away 35% และเดลิเวอรีอีก 15%
- ปี 2020 สัดส่วนการนั่งทานในร้านลดลงเหลือ 25% Take Away 50% และเดลิเวอรีอีก 25%
ส่วนเป้าหมายในปี 2021 นี้ อยากกลับไปสร้างยอดขายได้เท่ากับปี 2019 หรือก่อนที่โควิด-19 จะระบาด อยู่ในระดับ 2,000 ล้านบาท จากปัจจัยการมีวัคซีนโควิด-19
โดยในปีนี้เราจะยังเห็นความพยายามของ Burger King ที่ต้องการเป็นร้านเบอร์เกอร์ที่เป็นมิตรกับคนไทยมากขึ้น เพื่อชิงส่วนแบ่งจากตลาดเบอร์เกอร์ที่มีมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มเมนูใหม่ๆ ที่เหมาะกับความชอบของคนไทย โดยเฉพาะเมนูข้าว ที่เป็น Comfort Food ของคนไทยเหมือนกับที่เบอร์เกอร์เป็น Comfort Food ของต่างชาติ รวมถึงการออกโปรโมชันดึงดูดผู้บริโภค และการหันมาเปิดตัวเบอร์เกอร์ที่ทำจาก Plant Based Meat ที่กำลังเป็นกระแส ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นกันภายในปีนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา