เมื่อเที่ยวต่างประเทศเองเริ่มป๊อบ KKday ดึงทัวร์ท้องถิ่นขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ เติบโตไปด้วยกัน

กระแสนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT (Free Independent Travelers) ที่เดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างประเทศด้วยตนเองมียอดเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ตัวแปรนี้ก็ทำให้บริษัททัวร์มียอดขายหายไปตามๆ กัน

ภาพ pixabay.com

หาข้อมูลง่าย-จ่ายเงินสะดวก คือปัจจัยหลัก

กลุ่ม FIT นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากอินเทอร์เน็ตถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว, รูปแบบการเดินทาง รวมถึงโปรโมชั่นของสายการบินต่างๆ แต่เมื่อผู้บริโภคหันไปท่องเที่ยวด้วยตนเอง ปัญหาที่ตามมาคือทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็อยู่กันลำบาก เช่นมัคคุเทศก์ก็ไม่รู้จะไปนำใครเที่ยว หรือบริษัททัวร์ก็กลายเป็นทางเลือกท้ายๆ ของผู้บริโภคในยุคนี้ แม้พวกเขาเหล่านี้จะมีแต้มต่อในเรื่องราคาการทำกิจกรรมต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ก็ตาม

หมิง เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKday บริการแพลตฟอร์มดีลท่องเที่ยวจากไต้หวัน เล่าให้ฟังว่า ถ้าเทียบความเชี่ยวชาญการท่องเที่ยวระหว่างผู้บริโภค กับบริษัททัวร์ท้องถิ่น รายหลังย่อมมีความรู้มากกว่า เพราะคุ้นเคยกับพื้นที่ นอกจากนี้บริษัททัวร์เหล่านี้ยังมีการเจรจาธุรกิจกับสวนสนุก หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในการได้สิทธิ์จำหน่ายค่าเข้าใช้บริการต่างๆ ในราคาพิเศษ แต่ตอนนี้บริษัททัวร์มีปัญหาในการเข้าถึงผู้บริโภค ดังนั้นคงไม่แปลกที่จะเกิดแพลตฟอร์มต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมา และหนึ่งในนั้นคือแพลตฟอร์มรวมดีลท่องเที่ยวจากบริษัททัวร์ต่างๆ

ยกดีลบริษัทนำเที่ยวขึ้นออนไลน์โตไปด้วยกัน

สำหรับ KKday เป็นอีกบริษัทแพลตฟอร์มรวมดีลท่องเที่ยวทั่วโลก ผ่านการดึงบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ที่ได้ใบอนุญาตอย่างถูกต้องขึ้นมาสร้างโปรแกรมนำเที่ยวกว่า 6,000 รายการ ใน 53 ประเทศ เช่นการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แบบ One-Day Trip หรือการจำหน่ายบัตรสวนสนุกในราคาพิเศษ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้บริษัททัวร์เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระได้ง่ายขึ้น แม้พวกเขาจะไม่ได้ซื้อโปรแกรมทัวร์ตั้งแต่แรกก็ตาม โดยไทยถือเป็นประเทศล่าสุดที่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง เพราะคนไทยเริ่มนิยมเที่ยวเอง และเป็นประเทศที่ดึงดูดชาวต่างชาติมาเที่ยวเช่นกัน

“ถ้ามองมุมนักท่องเที่ยวชาวไทยตอนนี้มีถึง 30% ที่เป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศแบบ FIT และยี่ง KKday มีความแข็งแกร่งในประเทศไต้หวันที่กำลังเป็นอีกจุดหมายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ทำให้ KKday ได้รับความสนใจ และมียอดจองทริปในแพลตฟอร์มถึง 2,000 ครั้งจากนักท่องเที่ยวไทย เฉลี่ย 5-6 คน/ทริป ทั้งการไปไต้หวัน, จีนแผ่นดินใหญ่, ญี่ปุ่น และเกาหลี แม้จะเริ่มทำตลาดเมื่อเดือนต.ค. 2559 ก็ตาม และจากนี้บริษัทจะพยายามร่วมกับบริษัททัวร์ในประเทศอื่นๆ และหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขอให้ 3% ของกลุ่ม FIT ชาวไทยใช้บริการ KKday”

หมิง เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKday บริการแพลตฟอร์มดีลท่องเที่ยวจากไต้หวัน

ตลาดนี้ไม่ง่าย หลังคนธรรมดาก็พาเที่ยวได้

ทั้งนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ KKday มากที่สุดคือชาวไต้หวัน, เกาหลีใต้ และฮ่องกง โดยแพลตฟอร์มรวมดีลท่องเที่ยวรายนี้เปิดให้บริการมา 3 ปี มีสมาชิกกว่า 3 แสนคน และมีกว่า 2 ล้านทริปที่ถูกซื้อภายในแพลตฟอร์ม และภายใน 3 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านทริป ผ่านการทำตลาดด้วยช่องทางออนไลน์ และจ้าง Blogger เข้ามาให้ข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนในประเทศไทยจะหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่ร่วมกับ dtac, Eatigo, Show DC และ Nokscoot รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษานำระบบผ่อนชำระค่าทริปมาใช้ เพื่อเป็นอีกตัวแปรในการจูงใจ

อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อโปรแกรมทัวร์ผ่านออนไลน์นั้นไม่ง่าย เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่นำคนท้องถิ่นมาเป็นผู้นำเที่ยวโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตใดๆ เช่นในประเทศไทยมี Takemetour หรือถ้าในระดับโลก Airbnb ก็เริ่มให้บริการ Trips หรือการให้สิทธิ์เจ้าของที่พักอาศัยในแพลตฟอร์มสร้างโปรแกรมนำเที่ยวขึ้นเอง เพื่อสร้างรายได้อีกทาง ดังนั้นคงได้เห็นการแข่งขันระหว่างบริษัทนำทัวร์ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายไปอีกนาน คล้ายกับกรณีของบริการเรียกรถอย่าง Uber และ Grab ที่มีปัญหาเรื่องกฎหมายอยู่

สรุป

แพลตฟอร์มรวมดีลท่องเที่ยวอย่าง KKday ก็มีลักษณะคล้ายกับเว็บดีลท่องเที่ยวอื่นๆ แต่ด้วยบริการจากไต้หวันรายนี้ชูเรื่องถูกกฎหมาย และมีพาร์ทเนอร์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เข้ามาทำตลาดร่วมกัน ทำให้โอกาสที่เติบโตก็ยังมีอยู่ และหากไต้หวันยังเป็นเป้าหมายสำคัญ ตัวบริการนี้ก็คงโตเร็วคล้ายกับกรณี H.I.S. ที่รับอานิสงส์เที่ยวญี่ปุ่นบูม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา