เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีจำนวนประชากรราว 96.46 ล้านคน มีพรมแดนติดต่อกับจีนที่มีการระบาดโควิดเป็นแห่งแรกของโลก แต่เวียดนามสามารถจัดการควบคุมโรคระบาดได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพเหนือประเทศที่เจริญแล้วหลายแห่งทั่วโลก เวียดนามติดเชื้อรวม 1,544 คน เสียชีวิต 35 คน รักษาหาย 1,406 คน
- เวียดนามคุมโควิด-19 อยู่: คาดการณ์เก่ง กักกันโรคตั้งแต่ไม่ระบาด ใครไม่ใส่แมสก์ จำคุก 12 ปี
- เวียดนามจัดการโควิด-19 ได้แล้ว: เน้นตรวจโรคเข้มข้น กักกันโรคอย่างหนัก ปิดพรมแดนเชื่อมจีน
บรรยากาศเวียดนามในปัจจุบันผ่อนคลาย จนเหมือนเป็นประเทศอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่นที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการจัดการโควิด-19 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามก็สูงแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะถดถอย
- IMF ชื่นชม เวียดนามจัดการโควิด-19 ได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศกำลังพัฒนา
- GDP เวียดนามปี 2020 ยังโต 2.91% จากภาคการส่งออกที่ยังเติบโตดี รัฐบาลมองปี 2021 เศรษฐกิจโตมากกว่า 6%
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซาในหลายประเทศ แต่ปี 2020 เวียดนามโดดเด่นไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ที่เอาตัวรอดจากวิกฤตโควิดได้ เช่น ไต้หวัน ด้วยการเข้าสู่การทำความตกลงทางการค้า 3 เรื่องด้วยกัน ทั้งเตรียมเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ให้แบรนด์ระดับโลกอย่าง Apple, เตรียมเปิดสายการบินใหม่และยังมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น เลื่อนจากอันดับ 7 เป็นอันดับ 6
ชีวิตผู้คนภายในและภายนอกประเทศเวียดนามแตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกประเทศ หันไปทางไหนก็มีแต่คนเต็มล้นโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ผู้คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ในเวียดนาม นักเรียนไปโรงเรียนได้ มีเที่ยวบินสำหรับทริปธุรกิจประจำสัปดาห์ มีการออกกำลังกายในยิม มีคนแออัดกันอยู่ในรถบัส ในลิฟท์ พลวัตรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดี ฟื้นตัวเร็ว บอบช้ำจากโควิดน้อย
เวียดนามพึ่งพาการส่งออกมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต อีกทั้งการเปิดกว้างทางการค้าจึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว การทำงานที่บ้านทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์กลับมาบูมมากยิ่งขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านของเวียดนามก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ยิ่งประเทศใกล้เคียงที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันแต่ต้องปิดประเทศหนีโควิด ยิ่งทำให้เวียดนามได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เวียดนามมีแรงดึงดูดให้ประเทศอื่นเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก สามารถทำสินค้ามีคุณภาพสูงได้ มีประสิทธิภาพ มีเทคโนโลยีทันสมัย และมีการปกป้องสิ่งแวดล้อม นี่คือลักษณะเด่นที่เป็นจุดแข็งของเวียดนาม
การพัฒนาศักยภาพของเหล่าซัพพลายเออร์ภายในประเทศ คนเก่งคนมีความสามารถได้รับการฝึกฝนและพัฒนามากขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มงบเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความสำเร็จจากการบริหารจัดการช่วงโควิดระบาดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้นำได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
ประสบการณ์ของเวียดนามจากการจัดการโรคระบาดในอดีต เช่นโรค SARS ในปี 2003 ทำให้เวียดนามเรียนรู้ที่จะควบคุมโรค มุ่งเป้าในการตรวจโรค จำกัดเที่ยวบิน เหล่านี้ล้วนเป็นการเรียนรู้จากอดีตเพื่อจัดการวิกฤตในปัจจุบันให้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีผู้คนข้องใจในการพิสูจน์ข้อมูลเวียดนามเพราะสื่อมวลชนภายในประเทศถูกควบคุมโดยรัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดจากฮาวาร์ดก็มองว่าข้อมูลน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ และไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ได้ว่ามีโรคระบาดแพร่กระจายอยู่
เวียดนามจัดการโควิดดี จนส่งผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและยังมีอัตราการเติบโตทางจีดีพีที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก อยู่ที่ 2.9% โดยตั้งเป้าว่าปี 2021 จะเติบโตให้ได้ราว 6.5% การบริโภคทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ชาวอเมริกัน ชาวยุโรปใช้เวลากักตัวอยู่บ้านยาวนานขึ้น ทำให้ต้องทำกิจกรรมเช่นการจัดสวน จัดบ้าน และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเวียดนามมากขึ้น
ในเดือนมกราคม 2020 มีการขนส่งผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ 1.05 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการล็อคดาวน์ประเทศเพราะโควิดระบาด และเพิ่มขึ้น 47% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อมีการล็อคดาวน์ นอกจากนี้ การส่งออกโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัว 56% บริษัทที่ส่งออก PPE ก็ได้รับความสนใจในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นหลังจากอินเดียและจีนถูกดิสรัปหลังโรคระบาด
ปีที่ผ่านมา เวียดนามร่วมวงเจรจาการค้า 3 กรอบความร่วมมือ ทั้ง RCEP, EU, และ อังกฤษ เรียกได้ว่า ไม่ตกขบวนทางการค้าใดๆ อีกทั้งบริษัทเทคโนโลยีกังวลปัญหาจากซัพพลายเชนชะงักงัน ส่งผลให้เริ่มมองหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อกระจายความเสี่ยง เวียดนามกลายเป็นแหล่งดึงดูดให้บริษัทต่างๆ สนใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา ยุโรปล้วนสนใจเวียดนามทั้งสิ้น
กอปรกับแผนเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ฉบับห้าปี ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนภายในปี 2025 อีกทั้งพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ให้กับสินค้าระดับสูง อาทิ Apple, Samsung, LG ตลอดจน Qualcomm ที่เป็นบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกยังเสนอที่จะโอนถ่ายเทคโนโลยีให้เวียดนาม
เหล่านี้ส่งเสริมให้เวียดนามเป็นแหล่งผลิตสำคัญของธุรกิจสมาร์ทโฟนและยานพาหนะ นอกจากนี้กรอบความร่วมมือจีนบวกหนึ่ง จะช่วยทำให้หลายประเทศลดความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ การดิสรัปของซัพพลายเชนจากโควิด-19 อีกด้วย
หลายบริษัทในเวียดนามใช้โอกาสจากการหยุดชะงักเพราะโรคระบาดมาเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานในท้องถิ่น ขณะเดียวกันทีมงานที่เป็นบุคลากรจากต่างประเทศไม่สามารถเข้าประเทศได้ กว่า 56% คือระดับผู้จัดการ เขาจึงใช้โอกาสนี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะและปรับทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงานในองค์กร
ฟิลิปเป ริชาร์ท ซีอีโอจากบริษัทอินซีในเวียดนามระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศฟื้นตัวเร็ว น่าจะเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทุกอุตสาหกรรมล้วนได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเรื่องนี้
ด้านไวเซน ผู้แทนองค์กร UNDP ในเวียดนามระบุว่า เขาเชื่อว่า บทเรียนจากการเรียนรู้ความสำเร็จครั้งนี้คือความโปร่งใส ความรับผิดชอบและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมที่ช่วยทำให้รัฐบาลสามารถจัดการกับวิกฤตในอนาคตได้
ที่มา – Nikkei Asia, JHU
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา