ธุรกิจ Co-Working ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่กำลังเป็นวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการอยู่ในออฟฟิศแบบเดิมๆ ต้องการพื้นที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่ามองว่ากลุ่มเป้าหมายมีเพียง Startup เท่านั้น
Nikkei Asian Review ได้สัมภาษณ์ Miguel McKelvey ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Chief Creative Officer ของ WeWork ผู้นำให้บริการ Co-Working จากอเมริกา ที่ Startup ทั่วโลกน่าจะรู้จักกันดี เพราะได้ขยายธุรกิจไปอีกหลายประเทศ และเวลานี้กำลังโฟกัสอย่างเต็มที่ในเอเชีย หลังจากเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกในนิวยอร์ค และปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายไปมากกว่า 100 แห่ง มีมูลค่าแตะ 16 พันล้านดอลลาร์
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย WeWork ให้บริการแล้วในเซี่ยงไฮ้และโซล กำลังเริ่มที่ปักกิ่ง และมีแผนเปิดให้บริการในเมืองหลักๆ ในเอเชียให้ครบในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนไว้ แล้วอะไรคือ ปัจจัยสำคัญในการขยายสาขา
พันธมิตร คือหัวใจขยายธุรกิจ Co-Working ในต่างประเทศ
McKelvey บอกว่า การจะเปิดตลาด Co-Working ในต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญคือ การหาพันธมิตรที่เป็นคนพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจตลาด และมี connection ทางธุรกิจ จะเป็นส่วนสำคัญทำให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายและเร็วขึ้น
WeWork เลือกบุกตลาดจีนก่อน เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีโอกาสมาก และการได้ John Zhao ซีอีโอจาก Hony Capital มาร่วมพันธมิตร คือ ปัจจัยที่ทำให้สามารถเจาะตลาดจีนได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่เกาหลีใต้ ก็ได้คนในท้องถิ่นที่รู้รายละเอียดตลาด WeWork จึงตัดสินใจเริ่มต้นที่ โซล ก่อน โตเกียว ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าเมืองไหนดีกว่ากัน แต่ต้องดูว่ามีพันธมิตรที่ถูกต้องหรือไม่
และเป้าหมายต่อไปอาจเป็น กรุงเทพ ก็ได้
นอกจากพันธมิตรที่เข้าใจตลาดแล้ว อีกกรณีคือ พันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็มีส่วนช่วยได้มาก การมีอาคารหลายๆ แห่ง ช่วยให้สามารถเลือกที่ตั้งที่เหมาะสม ทำได้อย่างรวดเร็วกว่า เจาะตลาดได้ดี และขยายสาขาได้เร็ว
ไม่เพียงสร้างงาน แต่ช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้วย
WeWork เป็น Co-Working รายใหญ่ของโลกที่ได้รับความนิยมสูง การเลือกเมืองที่จะตั้งสาขา นอกจากเรื่องของพันธมิตรแล้ว เมืองนั้นต้องเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะก้าวไปสู่อนาคต พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและการเติบโต
กล่าวได้ว่าสิ่งที่ WeWork ทำเป็นการตอบโจทย์ความเป็น เถ้าแก่ยุคใหม่ ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ให้มาทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ช่วยก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อาจเรียกว่าเป็น Intrepreneur ซึ่งจะทำให้สมาชิกที่มาใช้บริการสร้างโอกาสใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการทำงาน และสามารถเติบโตในอนาคตได้
ดังนั้น WeWork มองว่า Co-Working ไม่ต้องใช้แคมเปญการตลาดมาดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการ แต่เป็น community ที่เกิดจากกลุ่มคน และธุรกิจที่เข้ามาสร้างร่วมกันมากกว่า ที่ดึงดูดให้สมาชิกใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการร่วมกัน
พิสูจน์วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ แพร่กระจายไปทั่วโลก
ความกังวลของธุรกิจ Co-Working คือ วัฒนธรรมการทำงานในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ เช่น มีคนกล่าวว่า คนจีนส่วนใหญ่ไม่นิยมออกมาทำงานร่วมกันในพื้นที่ Co-Working เมื่อเข้าไปเปิดธุรกิจ ต้องทำให้คนได้มาทดลองใช้บริการ ได้มาทำงานร่วมกัน สุดท้ายก็พบว่า จีน ไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด
หรือในลอนดอน ที่กล่าวว่าการทำงานโดยมีบริษัทอื่นๆ อยู่รอบๆ เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี แต่จากการเปิดให้บริการมาปัจจุบัน ลอนดอน เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ WeWork พิสูจน์ว่าการทำงานแบบ Co-Working ในลอนดอนก็เป็นที่นิยมไม่น้อย
ธุรกิจ Co-Working เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก รายงานวิจัยของ Jones Lang Lasalle ระบุว่า ในปี 2020 จะมีผู้ใช้งาน Co-Working เกิดขึ้นกว่า 3.8 ล้านคนทั่วโลก แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่ วัฒนธรรมการทำงานแบบ Co-Working จะแพร่หลายทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็มี Co-Working เกิดขึ้นมากมาย
ไม่ได้มองแค่ Startup แต่เล็งไปที่ Enterprise
McKelvey บอกว่า มีคนมากมายที่กำลังเปลี่ยนจากการทำงานในออฟฟิศเดิมๆ มาหาพื้นที่แบบ Co-Working ที่สร้างโอกาส สร้างชีวิตการทำงานแบบใหม่ และตอนนี้พื้นที่ Co-Working มีไม่เพียงพอ ดังนั้นการแข่งขันของธุรกิจนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง
ยิ่ง WeWork ไม่ได้เน้นเจาะแค่กลุ่ม Startup หรือบริษัทขนาดเล็ก แต่กำลังมององค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่แบบ Enterprise ที่สนใจใช้บริการเช่นเดียวกัน บอกเลยว่านี่คือโอกาสครั้งใหญ่
WeWork มีแผนที่จะทำธุรกิจ Co-Working ไปเรื่อยๆ เป็นร้อยปี เพราะรู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการ “ปฏิสัมพันธ์” ซึ่งกันและกัน ยิ่งโลกยุคดิจิทัลฉีกเราออกจากกัน ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่าไร Co-Working หรือพื้นที่ที่เราสามารถรวมตัวกัน จะยิ่งเป็นที่ต้องการ และ WeWork สามารถให้บริการได้ดีที่สุด
ส่นการมีข่าวว่า SoftBank สนใจที่จะลงทุนใน WeWork ผ่านกองทุนใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork มองว่ายังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการขยายตลาดในเอเชียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มากจำเป็นต้องใช้เงินทุน จะช่วยให้ขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น
สรุป
การที่ธุรกิจ Co-Working เกิดขึ้นหลายแห่งในไทย ถือว่ายังน้อยด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ และความต้องการยังมีอยู่ โดยอย่ามองตลาดแค่ Startup แต่มองว่า Enterprise ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่สนใจเข้ามาใช้บริการ เพราะมีข้อพิสูจน์ไม่น้อยว่า พื้นที่ทำงานลักษณะนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ และถ้า WeWork จะเข้ามาขยายธุรกิจในไทย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ที่มา: asia.nikkei.com
รูปภาพ: WeWork.com
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา