ประสบการณ์เปลี่ยนจากฟรีแลนซ์มาทำสตาร์ตอัพ ความแตกต่างของวิถีการทำงาน

ในโลกการทำงานสมัยใหม่ คำว่า Freelance กับ Startup มีความใกล้เคียงกันอยู่ในหลายจุด หลายคนอาจเริ่มด้วยการเป็น Freelance ก่อนแล้วผันตัวมาเปิด Startup ในภายหลัง ซึ่งในรายละเอียดก็มีความแตกต่างระหว่างการทำงานทั้งสองแบบเช่นกัน

John Rampton ผู้ผ่านประสบการณ์เป็นฟรีแลนซ์มาก่อน แล้วหันมาเปิดสตาร์ตอัพของตัวเอง จากนั้นขายกิจการกลับเป็นฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเปิดสตาร์ตอัพเป็นรอบที่สอง เขียนเล่าประสบการณ์ลง Fast Company ว่าการทำงานทั้งสองแบบมีความแตกต่างอย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

Freelance
ภาพจาก Pexels

ฟรีแลนซ์ทำงานกับคนจำนวนไม่มาก แต่สตาร์ตอัพนั้นกลับกัน

ปกติแล้ว ฟรีแลนซ์ทำงานกับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เช่น ถ้าคุยกับลูกค้าก็อาจมีแค่ 1-2 คนที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเรา งานส่วนใหญ่สื่อสารกันทางอีเมลหรือซอฟต์แวร์คุยงานอื่นๆ อาจแทบไม่ต้องเจอกันเลยด้วยซ้ำ

แต่เมื่อหันมาทำสตาร์ตอัพ การสร้างทีมเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในฐานะผู้ก่อตั้ง (Founder) ยิ่งต้องบริหารจัดการทีม กระจายงาน ประสานงาน ซึ่งเป็นทักษะที่ฟรีแลนซ์อาจไม่เคยทำสักเท่าไร (และต้องหัดถ้าอยากเป็นผู้ก่อตั้ง)

ฟรีแลนซ์ยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่สตาร์ตอัพต้องเคร่งเรื่องเวลามากขึ้น

กำหนดเวลาของฟรีแลนซ์มักมีเฉพาะ deadline ส่วนเราจะทำงานตอนไหนก็ได้ ขอเพียงส่งงานทัน deadline ก็พอ บางวันขี้เกียจจะหยุด แล้วมาทำงานชดเชยวันหลังก็ได้

แต่เมื่อมาเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพ ต้องเคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลามากขึ้นมาก ซึ่งส่งผลให้ความสบายๆ ยืดหยุ่นเรื่องเวลาของการเป็นฟรีแลนซ์ลดลงไปมาก การที่ผู้ก่อตั้งจะหยุดพักสบายๆ จึงเป็นไปได้น้อยลง

เรื่องเงินก็เช่นกัน เป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพ ต้องหาเงินมาจ่ายลูกน้องเสมอ

การเป็นฟรีแลนซ์ตัวคนเดียว ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นใด การหาโครงการใหญ่ เอาเงินก้อนเข้ามา แล้วหยุดทำงานสักพักก็ยังอยู่ได้

แต่สตาร์ตอัพนั้นกลับกัน เจ้าของกิจการมีภาระต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ในขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ของเราก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีลูกค้ามาจ่ายเงินเพื่อใช้งานก็ตาม ดังนั้นฟรีแลนซ์ที่คิดจะมาเป็นสตาร์ตอัพต้องระลึกตรงนี้ให้มากว่า ต่อจากนี้ไปจะมีภาระเรื่องเงินที่ต้องแบกรับแล้ว

วิธีหาคอนเนคชั่นก็เปลี่ยนไป

การหาคอนเนคชั่นของฟรีแลนซ์ มุ่งเป้าเพื่อหาลูกค้ามาจ้างเราทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นสตาร์ตอัพ มีคนหลายกลุ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวมากขึ้น เช่น นักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คู่ค้าธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการแตกต่างกันไป ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพต้องหาวิธีพูดคุยที่แตกต่างกัน

Startup
ภาพจาก Pexels

ข้อดีของการทำสตาร์ตอัพเหนือฟรีแลนซ์

ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าชีวิตการเป็นฟรีแลนซ์ดีกว่าสตาร์ตอัพ แต่ John ก็ให้ข้อคิดในมุมกลับว่า การเป็นฟรีแลนซ์มักพบปัญหาเสียลูกค้าไป ทั้งในแง่โครงการของลูกค้ามีเงินไม่พอ หรือลูกค้าหาฟรีแลนซ์รายอื่นที่ถูกกว่าเรา แถมเรามักมีลูกค้าแค่ไม่กี่ราย การเสียลูกค้ารายสำคัญไปย่อมเสียความรู้สึกอยู่บ้าง

แต่การเป็นสตาร์ตอัพนั้นควบคุมอนาคตของตัวเองได้ดีกว่า แถมโมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพต้องหาลูกค้าจำนวนมากกว่าฟรีแลนซ์อยู่แล้ว การเสียลูกค้าไปบางรายก็ไม่กระทบมากนัก

นอกจากนี้ รายได้ของการเป็นสตาร์ตอัพก็มากกว่าฟรีแลนซ์ และยังได้ความรู้สึกดีกว่าเพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราสามารถช่วยเหลือคนได้เยอะกว่าด้วย

ต้นฉบับอ่านได้จาก Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา