แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยประจำปี 2564 ตลาดคอนโดมิเนียมยังคงน่าจับตามอง จากความต้องการขายที่ลดลง ส่วนความต้องการซื้อใหม่ก็มีไม่มาก อันเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการเติบโตที่ลดลง จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมถึงมาตรการ LTV จนมาถึงปี 2563 ที่เจอกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดทั้งปี ทำให้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปมองหาที่อยู่ศัยศัยประเภท “บ้าน” มากขึ้น
Supply คอนโดใหม่ ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมาว่า ปริมาณ Supply ของคอนโดในกรุงเทพมหานครลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวน Supply ใหม่เพียง 20,100 หน่วย จากที่ปกติเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะต้องมี Supply เพิ่มราวๆ 50,000 หน่วยต่อปี
แนวโน้มคอนโดในกรุงเทพฯ ขยายตัวสู่นอกเมือง
สำหรับแนวโน้มการพัฒนาคอนโดมิเนียนโครงการใหม่ๆ พบว่ามีการปรับทำเลสู่นอกเมืองมากขึ้น ทั้งรามอินทรา รังสิต คูคต พุทธมณฑล บางใหญ่ สุขุมวิท เทพารัก และบางปู โดยทำเลนอกเมืองเหล่านี้ คิดเป็นจำนวนถึง 20% หรือราว 20,100 หน่วย ส่วนคอนโดมิเนียมที่อยู่กลางเมืองมีเพียง 10% เท่านั้น
ด้านระดับราคาของคอนโดมิเนียมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ตลาดตอบรับกับคอนโดมิเนียมในระดับราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (ไม่เกิน 50,000 บาท/ตารางเมตร) โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร ทำเลอยู่ในส่วนของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย อาจไม่ต้องติดกับรถไฟฟ้า จะอยู่ในซอยก็ได้
นอกจากนี้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ประเภทของคอนโดมิเนียมในตลาดยังเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เคยมีคอนโดมิเนียมประเภท Mid Market อยู่ 49% และ City Condo อยู่ราว 20% ส่วนในปี 2020 คอนโดมิเนียม Mid Market เหลือเพียง 23% ส่วน City Condo เพิ่มขึ้นเป็น 37% และมีคอนโดประเภท Affordable เกิดขึ้นราว 18%
อัตราการขายเพิ่มขึ้น จากราคาที่ลดลงในปี 2020
ด้านจำนวนคอนโดมิเนียมที่ขายได้ในปี 2020 มีจำนวนทั้งหมด 32,800 หน่วย ซึ่งมากกว่าจำนวน Supply ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2020 คือ 20,100 หน่วย อัตราการขาย 93% นับว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2016-2019 ที่มีอัตราการขายอยู่ที่ 90%
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการขายคอนโดมิเนียมในปี 2020 เพิ่มขึ้น แม้จะเจอกับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาเฉลี่ยที่ลดลง จาก 140,000 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2019 เหลือ 126,000 บาทต่อตารางเมตร หรือลดลงเฉลี่ย 11% แต่หากแยกเป็นรายไตรมาส จะพบว่าในช่วงไตรมาส 2 ราคาคอนโดมิเนียมลดลงถึง 16% และไตรมาส 3 ลดลงอีก 4%
แนวโน้มตลาดคอนโด 1-2 ปีข้างหน้า ราคายังทรงตัว
ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ พบว่า จะมี Supply เพิ่มขึ้นอีกราว 33,000-38,000 หน่วย แบ่งเป็น Supply ที่มีอยู่เดิม 16,000 หน่วย และที่เหลือเป็น Supply ใหม่ ในขณะที่ Demand จะมีราว 30,000-35,000 หน่วย
ด้านราคาของคอนโดมิเนียมคาดว่าจะมีการปรับลดลงในปีนี้อีก 5% และปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยราว 2-3% ในช่วงปี 2022
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในปี 2021 นี้ คาดการณ์ว่า Supply ยังคงมีปริมาณต่ำอยู่ ส่วน Demand อาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 แต่ยังคงไม่ได้มีการปรับตัวที่เห็นได้มากนักในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ นอกจากนี้คนยังมีแนวโน้มที่จะมองหาที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน มากกว่าคอนโดมิเนียมอีกด้วย
ด้านคอนโดมิเนียมมือสอง ปี 2021 Demand ที่เกิดขึ้นจริง จะเป็นคอนโดมิเนียมในกลุ่มราคา 1-5 ล้านบาท ที่คนกรุงเทพฯ สามารถซื้อหากันได้จริงๆ ส่วนคอนโดมิเนียมในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมี Supply ประมาณ 6,000 หน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20%
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา