ถึงคราวขาลงของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกอีกครั้ง ขณะนี้ มีบริษัทร่วมลงชื่อบอยคอตต์ระงับโฆษณาบน Facebook มากกว่า 900 แบรนด์แล้ว จัดหนักขนาดนี้ Mark Zuckerberg จะรับมือยังไงไหว?
มากกว่า 900 แบรนด์ระงับโฆษณา แต่มาร์คยังเชื่อ อีกไม่นานก็กลับมา
หลังจากที่กลุ่มสิทธิพลเมือง อาทิ NAACP และ Anti-Defamation League ปล่อยแคมเปญ #StopHateForProfit เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อกดดันให้บริษัทต่างๆ ร่วมแสดงจุดยืนในการต่อต้านการใช้ Hate Speech ด้วยการระงับโฆษณาใน Facebook ตลอดเดือนกรกฎาคม โดยมี The North Face แบรนด์ใหญ่เจ้าแรกที่ร่วมแสดงจุดยืน บอยคอตต์โซเชียลมีเดีย จากนั้นก็มีหลายบริษัทร่วมแบนด้วย ซึ่งก็มีทั้งแบน Facebook, Instagram, Twitter และ Snapchat
บางแบรนด์ระบุว่าจะระงับโฆษณาเป็นเวลา 1 เดือน บางแบรนด์ระบุว่าจะระงับโฆษณาจนหมดปีนี้ 2020 และบางแบรนด์ก็ระบุว่า จะบอยคอตต์จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแท้จริงถึงจะกลับมาพิจารณาการโฆษณาบนโซเชียลมีเดียใหม่
แน่นอนว่า เรื่องนี้ต้องสะเทือนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook บ้างไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะมีข่าวหลุดจากผู้บริหารระดับสูงของ Facebook ระบุว่าการเดินหน้าระงับโฆษณานั้นกระทบต่อ Facebook มาก แม้ว่า Mark Zuckerberg จะออกมาประกาศว่าได้พยายามที่จะควบคุมและจัดการข้อความที่มี hate speech แล้วด้วยการติดป้ายให้รู้ว่าข้อความดังกล่าวของ users มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง
นอกจากนี้ ยังแบน 220 แอคเคาท์ใน Facebook 95 แอคเคาท์ใน Instagram 28 เพจ 106 กรุปที่คาดว่าจะเชื่อมโยงกับเครือข่าย boogaloo ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวขวาจัด รวมถึงกลุ่มที่อันตรายแบบเดียวกับกลุ่มก่อการร้าย หรือเชื่อมโยงกับองค์กรขนาดใหญ่ด้านอาชญากรรม
ล่าสุด ข่าวหลุดจากคำพูดของ Mark Zuckerberg จากงาน town hall ของบริษัทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ระบุว่า เราจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายหรือแนวทางของเราเพราะมันกระทบรายได้เราเพียงเล็กน้อย (หมายถึง หลายแบรนด์ร่วมระงับโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ไม่ได้สะเทือน Facebook สักเท่าไรหรอก) แถมยังบอกอีกว่า เหล่าสื่อโฆษณาทั้งหลายเดี๋ยวก็กลับมาใช้บริการเร็วๆ นี้
งานนี้ Nick Clegg อดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ปัจจุบันเป็นรองประธานด้าน Global Affairs and Communications ของ Facebook เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่อง “Facebook Does Not Benefit from Hate” เนื้อหาระบุว่า เวลาที่สังคมเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งขั้วกันสูงนั้น แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย อย่าง Facebook พยายามจะเป็นกระจกสะท้อนให้สังคมได้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีผู้คนใช้แอปพลิเคชัน Facebook เป็นจำนวนกว่า 3 พันล้านคนบนแพลตฟอร์มในทุกๆ เดือน มีทั้งดี เลวร้าย และน่าเกลียดอยู่ภายในสังคมของเรา
เหล่านี้ ทำให้ความรับผิดชอบตกอยู่ที่ Facebook และแพลตฟอร์มโซเชียลมีอื่นๆ ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มให้เป็นที่ยอมรับได้ โดย Facebook เองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีที่ปล่อยให้ข้อความของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไปจนนำไปสู่ความต้องการจากหลากหลายองค์กรที่อยากให้จัดการกับ hate speech นั้น
Facebook does not benefit from hate. My latest thoughts on how Facebook is getting better at removing hate speech. https://t.co/vRK9Rbgbm3
— Nick Clegg (@nick_clegg) July 1, 2020
Facebook ยืนยัน ไม่ได้แสวงหากำไรจากความเกลียดชัง..แน่นอน?
Nick Clegg ยืนยันว่า Facebook ไม่ได้แสวงหากำไรจากความเกลียดชัง ผู้คนนับพันล้านที่ใช้แพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram ก็เพราะพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดี พวกเขาไม่ได้ต้องการเห็นข้อความที่สร้างความเกลียดชัง สื่อโฆษณาทั้งหลายไม่ได้ต้องการเห็นมันเช่นกัน รวมทั้งเราด้วย
มีข้อความส่งมาหา Facebook กว่าแสนข้อความทุกๆ วัน เราพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความหวัง และประสบการณ์ร่วมกัน เมื่อเราพบข้อความที่สร้างความเกลียดชังทั้งใน Facebook และ Instagram เราได้พยายามกำจัดมันออกไป โดยเลือกให้เสรีภาพในการใช้ free speech เพื่อต่อกรกับข้อความที่สร้างความเกลียดชัง การแบ่งแยก เลือกวิธีที่เปิดเผยดีกว่าจะซุกซ่อนความเกลียดชังเหล่านี้เอาไว้
Clegg ระบุว่า Facebook ลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อให้ผู้คนใช้แพลตฟอร์มได้อย่างปลอดภัยต่อไป และยังเป็นแพลตฟอร์มเจ้าแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยี AI มาจัดการข้อความที่สร้างความเกลียดชังด้วย
พยายามให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ
Clegg บอกว่า Facebook ได้พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงทำให้ล่าสุดต้องออกนโยบายใหม่ที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและยังคงได้รับข้อมูลข่าวสารอยู่ Clegg เข้าใจความโกรธแค้นที่มีต่อข้อความของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่โพสต์ในแพลตฟอร์มตนเองและค่ายอื่น แต่การคงไว้ซึ่งข้อความดังกล่าว ก็เพื่อจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถนำข้อมูลไปตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งถัดไปได้อย่างดีที่สุด
สุดท้าย เขาก็บอกว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก Facebook ก็เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนและทำให้ users ทั้งหลายได้รับรู้ข้อมูลอย่างเต็มที่ สุดท้ายแล้ว เขาก็บอกว่า แม้ Facebook อาจจะไม่เคยปกป้องแพลตฟอร์มจากการสร้างความเกลียดชังได้ทั้งหมด แต่ก็ได้พยายามทำให้มันดีขึ้นอยู่ทุกวันไป
เรื่องนี้ Politico มองว่า สิ่งที่ Facebook แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียยักษ์ใหญ่กำลังเผชิญอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา (Facebook เริ่มปล่อยให้ใช้งานได้เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2004 หรือประมาณ 16 ปีที่แล้ว) ภายใน 3 วัน แบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ร่วมแสดงจุดยืนระงับโฆษณามากกว่า 900 แบรนด์
การบอยคอตต์ของแบรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียอย่าง Facebook ที่กลายเป็น key player ในเกมการเมืองอเมริกาไปแล้ว หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารแบบผิดๆ ตลอดจนข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง อคติ จนในที่สุดก็ได้โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขวัญใจฝ่ายขวาสุดโต่ง อนุรักษ์นิยม
ทั้งนี้ Derrick Johnson ประธาน NAACP หนึ่งในกลุ่มที่เริ่มแคมเปญต้าน hate speech ด้วยการบอยคอตต์การโฆษณาในแพลตฟอร์ม Facebook ก็ระบุว่า Facebook เปรียบเสมือนพื้นที่หล่อเลี้ยงกลุ่มที่สร้างความเกลียดชังนี้
จากนี้ไปก็ถึงคราวที่แพลตฟอร์มภายใต้การนำของ Mark Zuckerberg รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ จะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน อีกกี่แบรนด์ที่จะเข้ามาร่วมแสดงจุดยืนต้าน hate speech ด้วยการระงับการโฆษณา จะถึงจุดเปลี่ยนของสื่อโฆษณาที่จะเลิกพึ่งพา Facebook จริงหรือไม่ รอติดตามกันต่อไป
ที่มา – Forbes, Market Watch, The New York Times, Facebook, Politico
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา