เปิด 9 เหตุผล ทำไม TV Direct ถึงเข้าซื้อ Spring News มูลค่าพันล้าน

TV Direct ทุ่มพันล้านเข้าถือหุ้น 90.1% ในสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น บริหารทีวีดิจิทัลช่อง 19 ดันกระแส Virtual Shopping ให้โตต่อเนื่อง รับเทรนด์ผู้บริโภค

ทำช่องทีวีดิจิทัล ให้เป็น TV Shopping

เป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ของวงการทีวีดิจิทัล เมื่อ TV Direct ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด TV Shopping และ Home Shopping เข้าฮุบสถานีสปริงนิวส์ช่อง 19 ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 90.1% คิดเป็นมูลค่ารวม 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 949 ล้านบาท และบวกค่าจ้างทำข่าวอีก 130 ล้านบาท

ซึ่ง TV Direct ได้ซื้อโฆษณา และเช่าเวลาในสถานีร่วมกับสปริงนิวส์มา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่ยังเป็นทีวีดาวเทียม จนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการตกลงในเรื่องการเช่าเวลาสถานี และร่วมผลิตรายการการด้วยกัน มีสัญญา 4 ปี ตั้งแต่ 2561-2565

ช่องสปริงนิวส์ยังคงเป็นสถานีข่าวต่อไป มีการปรับผังรายการโดยมีรายการข่าว 6 ชั่วโมง รายการสาระ วาไรตี้ 6 ชั่วโมง Home Shopping 6 ชั่วโมง และ TV Shopping 6 ชั่วโมง ซึ่งทาง TV Direct ผลิตรายการ 18 ชั่วโมง และจ้างสปริงนิวส์ผลิตข่าว 6 ชั่วโมง ส่วนรายการสาระวาไรตี้เป็นคอนเทนต์ที่ร่วมกันผลิต จากตอนแรกที่สัดส่วนคอนเทนต์เป็นข่าว 70% และอีก 30% เป็นให้เช่าสถานี

เท่ากับว่าสปริงนิวส์จะขยับบทบาทจากผู้บริหารสถานีโทรทัศน์มาเป็นผู้ผลิตรายการหรือ Content Provider ในทันที เป็นการลดภาระจากเดิมลงมาก และทำให้มีรายได้เข้ามาแน่นอน ไม่ต้องแบกภาระเรื่องค่าใบอนุญาต ต่อจากนี้ก็มีรับผลิตรายการให้ช่องอื่นๆ อีกด้วย

ในส่วนของ TV Direct เองมีทั้งช่อง Home Shopping ของตัวเอง 6 ช่อง เป็นช่องในทีวีดาวเทียม และมีการลงสป็อตโฆษณาตามช่องทีวีดิจิทัลอีกมากมาย โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกเดือนมกราคมมิถุนายน 2561 TV Direct ได้มีการใช้งบโฆษณามากถึง 1,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีทีแล้วที่ใช้เพียง 144 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเทรนด์ของ TV Shopping มีการเติบโต

เมื่อดูทั้งอุตสาหกรรมก็พบว่ากลุ่ม Direct Sale มีการใช้งบโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับแรก เติบโตถึง 600% สาเหตุที่กลุ่ม Direct Sale มีการเติบโตแบบพุ่งกระฉูดขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติของทีวีดิจิทัลที่ไม่มีโฆษณาเข้า กลายเป็นว่า Direct Sale เข้ามาเติมเต็มสล็อตเวลาโฆษณาที่ว่างได้ แต่อาจใช้โมเดลลดแลกแจกแถมสุดๆ หรือใช้โมเดล Profit Sharing กัน

9 เหตุผล ที่ TV Direct ต้องมีช่องทีวีดิจิทัลเป็นของตัวเอง

TV Direct มีการขายในหลายแพลตฟอร์ม และหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้ง TV Shopping ที่เป็นสป็อตโฆษณาไม่กี่นาที แทรกตามรายการต่างๆ และ Home Shopping ที่เป็นรายการขายสินค้ายาว 20-40 นาที ส่วนใหญ่อยู่ในช่องทีวีดาวเทียม การที่ TV Direct เข้าซื้อสปริงนิวส์ครั้งนี้มีเหตุผลอะไรบ้าง?

  1. เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปสู่ Virtual Shopping มากขึ้น ทั้งช้อปออนไลน์ และ TV Shopping เทรนด์นี้เริ่มเกิดเมื่อปี 2013 ตั้งแต่ 3G ได้เข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนอุตสาหกรรมส่วนสมาร์ทโฟนก็มีส่วนกระตุ้นมีกลุ่มลูกค้าใช้ออนไลน์มากขึ้น

2. กลุ่มลูกค้าของ TV Direct ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุซึ่งคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเช่นกันและคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง

3. ทีวียังไม่ตาย แค่เปลี่ยนรูปแบบ ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้บอกว่า สปริงนิวส์ได้ทำช่องทีวีมา 8 ปี ทำทีวีดิจิทัล 5 ปี ทีวีไม่ตาย แต่คนถือใบอนุญาตใกล้ตาย วิธีการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จากที่ต้องการายได้จากโฆษณาชั่วโมงละ 10 นาที เปลี่ยนมาหารายได้เสริมไปถึงรายได้หลัก ทำให้สถานีข่าวพาร์ทเนอร์กับทีวีช้อปปิ้ง ทั้ง 22 ช่องนั้น มีไม่ถึงครึ่งที่ยังสนุกที่ทำ ส่วนเกินครึ่งเริ่มเหนื่อยเพราะค่าโฆษณาต่ำไม่คุ้มกับค่าใบอนุญาต และทำคอนเทนต์ โมเดลนี้วินกันทุกฝ่าย เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน

4. ธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง และออนไลน์ช้อปปิ้งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยที่ทีวีช้อปปิ้งโต 20% ช้อปออนไลน์โต 30% ได้รับตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ช้อปปิ้งแบบไม่ต้องไปหน้าร้านเรียกว่า Virtual Shopping และมีออนไลน์เข้ามาเสริมกันอย่างเต็มรูปแบบ

5. มองเทรนด์การเติบโตของตลาดโฮมชอปปิ้งเฉลี่ย 20% มา 4 ปีแล้ว ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 13,000 ล้านบาท ส่วนช้อปออนไลน์น่าจะโต 40% มองเทรนด์มีการเติบโตอย่างนี้ไปอีก 6-7 ปี

6. TV Direct ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด TV Shopping เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่จากทั้งเครืออาร์เอส แกรมมี่ และผู้เล่นจากต่างชาติเข้ามามากมาย ต้องเสริมช่องทางในการแข่งขัน

7. โมเดลรูปแบบนี้มีในอเมริกาและยุโรปที่ช่องสถานีข่าวลงมาขายสินค้ามากขึ้นเพราะได้ความน่าเชื่อถือสังเกตว่าช่องข่าวจะเริ่มมีสินค้าเมอร์เชนไดร์สเป็นของตัวเอง

8. โดยปกติแล้วฐานลูกค้าของ TV Direct เป็นกลุ่มคนต่างจังหวัด 60% คนกรุงเทพฯ 40% การที่ได้ช่องสปริงนิวส์มานั้นสามารถขยายกลุ่มลูกค้าไปยังคนในเมืองได้มากขึ้น

9. โมเดลธุรกิจต้องการเปลี่ยนจากการหารายได้จากโฆษณา เป็นหารายได้จากผู้บริโภคโดยตรงนั่นคือ B2C คือขายสินค้าตรงกับผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ทั้งสองได้ทดลองการทำรายการร่วมกันตั้งแต่ต้นปี มีรายได้จากช่องทางนี้ 200-300 ล้านบาท

TV Shopping แข่งเดือด ตะลุมบอน 11 ราย

ตลาด TV Shopping มีการแข่งขันดุเดือดมากขึ้นทุกปี ในปีนี้ได้มีผู้เล่นรวมกันถึง 11 ราย รวมเงินจดทะเบียนทั้งหมดเกือบ 4,000 ล้านบาท ธุรกิจ B2C เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ตอนนี้ช้อปออนไลน์คิดเป็น 2.1% ของตลาดค้าปลีกมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท

ส่วนตลาดทีวีช้อปปิ้งยังไม่ถึง 1% ของตลาดค้าปลีกเลย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วน 30% ของตลาดค้าปลีก ประเทศเกาหลีสัดส่วน 17% ประเทศจีน 15% ทำให้ในไทยยังมีโอกาสโตได้อีก 5-10 เท่า

  • TV Direct ถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดโฮมช้อปปิ้ง
  • TVD shopping เป็นโฮมช้อปปิ้งทำร่วมกับโมโม่ไต้หวัน
  • G CJ O shopping ทุนเกาหลีร่วมกับแกรมมี่ ออกอากาศในช่องแกรมมี่ CJ เป็นบริษัทใหญ่มากในเกาหลีมีหลายธุรกิจยอดขายรวมกว่าแสนล้าน
  • True Select / Shopping ทุนจากเกาหลี พาร์ทเนอร์กับทรู วิชั่นส์ ซีพี และเดอะมอลล์
  • High Shopping ร่วมกับอินทัช ฮุนไดโฮมช้อปปิ้งจากเกาหลี
  • Shop Channel โฮมช้อปปิ้งอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ร่วมกับ ICC และเซ็นทรัล
  • Tiger Shopping ทุนจากญี่ปุ่น
  • Wizard Solution โด่งดังจากกระทะโคเรียคิง
  • 1781 โฮมช้อปปิ้งจากค่ายอาร์เอสเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งพุ่งแรงโดยใช้บริษัทไลฟ์สตาร์เริ่มจากทำธุรกิจความงาม
  • 1577 และ 29 Shopping เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาด

กลุยุทธ์สำคัญหลังจากเข้าบริหารสปริงนิวส์

  • ต้องทำเป็น Massive Awareness เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น
  • ความท้าทายคือต้องเปลี่ยนเป็น Omni Channel ผนึกออนไลน์ กับออฟไลน์ให้ได้ หลังจากได้เปลี่ยนมา 8 เดือน ก็พบว่าผลประกอบการดีขึ้น
  • เพิ่มสินค้าให้หลากหลายขึ้น มีการ Custermize ให้ตรงจุดลูกค้า ไม่ขายสินค้าแมสเหมือนแต่ก่อน แต่ลงละเอียดแบบ Tailor Made แม้จะขายไม่เยอะแต่ได้กำไรเยอะ
  • ใช้กลยุทธ์ Nua Marketing ไม่มีอะไรชัดเจน 100% ทำการตลาดหลายๆอย่างรวมกันเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วทำให้กระบวนการทำงานคล่องตัวขึ้น

สรุป

– การที่ TV Direct เข้าซื้อหุ้นสปริงนิวส์ในครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นวินทุกฝ่ายทั้งทางสถานีสปริงนิวส์เองที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอคเนทนต์ และค่าใบอนุญาต การมีนายทุนเข้ามาช่วยแบ่งเบา และถอยมาอยู่ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ทำให้โล่งขึ้น

– ทางด้านของ TV Direct เองก็มีช่องทางในการขายสินค้ามากขึ้น จากเดิมที่ต้องซื้อสป็อตโฆษณา และเช่าเวลาสถานี ตอนนี้มีช่องเป็นของตัวเอง ทำให้ต้นทุนถูกลง แถมยังได้เวลามากขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา