ถอดรหัส 8 เทรนด์ธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในปี 2020 การตลาดที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วสำหรับปี 2020 ปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยมีปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาด ไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างหนักไปทั่วโลก ธุรกิจ ต้องงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบ การปรับตัวขององค์กร ระบบการทำงาน รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เรียกว่าเป็นมิติใหม่ๆ ของโลก จึงเกิด 8 เทรนด์การตลาดที่ธุรกิจต้องเรียนรู้และกับปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ภาพจาก Shutterstock

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกมิติครั้งใหญ่

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนปรากฎการณ์ในรอบหลายปีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) ผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน (Household Product) ที่ให้ความหอมเป็นหลัก มาสู่การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพ หรือมีส่วนผสมของการฆ่าเชื้อโรคมากขึ้น จากในอดีตที่ผ่านมาค่ายผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่า ยูนิลีเวอร์ พีแอนด์จี ต่างแข่งขันชูผลิตภัณฑ์ที่มีความหอมต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น แชมพู ครีมอาบน้ำ แต่การแพร่ระบาดไวรัส ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ผลิตภัณฑ์เดทตอล กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับคนไทย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางโพซิชั่นนิ่ง เพื่อสุขภาพและฆ่าเชื้อฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.9% และลดการสะสมของแบคทีเรีย 100% ปกป้องมั่นใจ

ภาพจาก Shutterstock

Plant-Based Meat จุดพลุในธุรกิจอาหาร

พฤติกรรมการกินของผู้บริโภคในยุค 2020 Plant-Based Meat ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่กลุ่มที่รับประทานมังสวิรัติเท่านั้น แต่ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มกินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากการที่สตาร์ทอัพในธุรกิจอาหาร สร้างนวัตกรรมให้กับวงการอาหารใหม่ Plant-Based Meat ที่ไม่เพียงดีต่อสุขภาพเพราะเป็นโปรตีนที่ทำจากพืชเท่านั้น แต่ด้วยรสชาติที่ไม่ต่างกับการกินเนื้อสัตว์ เรียกว่าเป็น Plant-Based Meat 2020 ที่ดีต่อสุขภาพ+ รสชาติอร่อย + เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากตลาดที่ชูกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าเนื้อสัตว์ ทำให้ตลาดแจ้งเกิดเริ่มแพร่หลายทั้งในอเมริกา ยุโรป และปีนี้เริ่มเข้าสู่ตลาดเอเชีย ตอนนี้คงเหลือเพียงข้อจำกัดทางด้านราคาเท่านั้นที่ค่อนข้างสูง จึงยังไม่สามารถขยายสู่ Mass Market ได้

Photo : Shutterstock

พฤติกรรมคนไทยเข้าสู่ดิจิทัลเต็มตัว

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้คนไทยทั่วประเทศปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือที่เรียกว่า New Normal สู่ชีวิตวิถีใหม่ ทั้งการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในหลากหลายแพลตฟอร์ม ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท ในปี 2020 หรือมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น ส่งผลให้ฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโต 100-200% จากปี 2562 มีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การดูหนังและฟังเพลงผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง (Video Streaming) และการสร้างความบันเทิงใหม่ๆ ให้กับตัวเอง อย่างแอปพลิเคชั่น Tik Tok และโลกของการทำงานที่เปลี่ยนไปเข้าสู่ Work From Home ที่ทำให้แอปพลิเคชั่นอย่าง ZOOM แจ้งเกิด ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นตัวเร่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น Smart City ได้เร็วยิ่งขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

โลจิสติส ขนส่งพัสดุ เฟื่องฟู

การค้าขายในช่องทางออนไลน์ที่เติบโต ส่งผลให้มีผู้ประกอบการทั้งค่ายยักษ์ใหญ่และผู้ประกอบการหน้าใหม่ในประเทศ ต่างเข้ามาบุกทำตลาดนี้ ซึ่งคาดการณ์มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุที่จะมีมูลค่ามากถึง 66,000 ล้านบาท ในปี 2020 นั่นคือเหตุผลที่ทำให้การแข่งขันปีนี้ดุเดือด นอกจากจุดบริการที่เข้าถึง และบริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ยังเพิ่มความเข้มข้นลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น เช่น ไปรษณีย์ไทย นำร่องติดตั้งระบบ Digital Service Kiosk เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย รองรับการอ่านข้อมูลบัตรประชาชน กล้องถ่ายภาพยืนยันตัวตน (eKYC) หรือการผนึกกำลังพันธมิตรธุรกิจ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดร้านเบเกอรี่คาเฟ่ – เบลลินี เบคแอนด์บรู (Bellinee’s Bake & Brew) ในพื้นที่ไปรษณีย์ เป็นจุดพักผ่อนสำหรับผู้ใช้บริการซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ที่มากกว่าแค่การส่งพัสดุ

สร้าง Model ใหม่ Reskill เพื่อความอยู่รอด

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอย รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศไทย ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง เช่น ด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และขณะเดียวกันบางธุรกิจกลับมีความต้องการของตลาดสูงขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จึงเห็นว่าธุรกิจต่างปรับไลน์การผลิตสินค้าเกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่าง LVMH เจ้าของแบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton ประกาศปิดไลน์การผลิตน้ำหอมและเปลี่ยนมาผลิตเป็นเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ชุดชั้นในวาโก้ปรับไลน์การผลิตมาเป็นหน้ากากผ้า กระทั่งกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในปัจจุบัน ส่วนในด้านของอาชีพของการทำงาน นักบินที่ต้องตกงานจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ใช้วิธีการ Reskill โดยหันมาเป็นช่างซ่อมแอร์ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวเพื่อสร้างรายได้และเพื่อความอยู่รอด

ผลิตภัณฑ์ผสมวิตามินแจ้งเกิดตลาดไทย

คนไทยเริ่มเปลี่ยนทัศนคติกินเพื่อการป้องกันมากขึ้นและยอมจ่ายเงินแพงเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ผสมวิตามินต่างๆ ยังเป็นตลาดที่ไม่ต้อง Educate เพราะคนไทยมีความรู้และมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ในปี 2020 ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากวิตามินแจ้งเกิดและมีจำหน่ายในตู้แช่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มผสมวิตามิน เครื่องดื่มวิตามินเข้มข้น ผลิตภัณฑ์เจลลี่ วิตามินซี และวิตามินบี ล่าสุดเริ่มมีค่าย วิตอะเดย์ ผลิตเครื่องดื่มผสมสารต่างๆ สู่ตลาดมากขึ้น เช่น ไฟเบอร์ หรือกระทั่ง Iron โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 1.2 ของมูลค่าเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย และคาดว่ามูลค่าตลาดจะขยับขึ้นเป็นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในปี 2564

ภาพจาก Shutterstock

เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์สุขภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์

กระแสสุขภาพที่ไม่เพียงจุดพลุแค่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์สุขภาพและเปิดตัวสู่ตลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ หน้ากากอนามัย สเปรย์นานาชนิด ถุงมือยาง ชุด “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล” (Personal Protective Equipment, PPE) ที่ชูในเรื่องของการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และนับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้อีกมากมาย โดยในปี ปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยที่ 5.0% ต่อปี

2020 ปีแห่งการเริ่ม Agile + CRM Marketing

โครงสร้างองค์กรหลายแห่งปรับตัวใช้ Agile เพราะเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง และมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น ขณะที่กลยุทธ์ CRM Marketing ถูกนับมาใช้หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะท่ามกลางที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การตลาดที่เป็นสูตรสำเร็จ การรักษาฐานลูกค้าเก่าให้อยู่หมัด และปีนี้จะค่ายที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว เดินหน้าสร้าง Ecosystem ของ CRM โดยการผนึกความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เพื่อให้การใช้บริการ CRM เพิ่มมากขึ้น เช่น Singha Rewards จับมือร่วมกับ Blue Card เพื่อนำพ้อยท์ไปใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการในปตท. ขณะเดียวกันการทำ CRM ยังเป็นการจัดทำ Data เพื่อเป็นข้อมูลและสร้างบริการสินค้าที่โดนใจให้กับลูกค้าได้อีก

ในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้การตลาดและโลกของธุรกิจต้องปรับตัวครั้งใหญ่ “คิดเร็ว ปรับตัวให้ทัน มุ่งลดต้นทุน วางแผนระยะสั้น สร้าง Model ใหม่ Reskill ” ถึงเป็นผู้ที่อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Senior Writer Brandinside asia