7 ปีของ Uber สตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่ให้บริการเรียกรถทั่วโลก ยังไม่ทำกำไร!

กระแสของ Uber สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น และเป็นคำกล่าวติดปากในการพูดบรรยายของกูรูทั้งในไทยและต่างประเทศ เมื่อต้องยกตัวอย่างหรือพูดถึงสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องรู้ว่า Uber มีปัญหาเรื่องกฎหมายอยู่ในหลายประเทศ บางแห่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง บางแห่งมีกฎหมายรองรับแล้ว

Brand Inside เลยถือโอกาสนำข้อมูลในอีกมุม โดยเป็นบทความจากเพจ สตาร์ทอัพผัดเป็ด มานำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์กับ สตาร์ทอัพ และผู้ที่สนใจอื่นๆ ต่อไป

7 ปี Uber ยังไม่กำไร

รายได้ของ Uber มาจากการหักรายได้ 25% ของค่าโดยสารแต่ละเที่ยว (จากเดิมที่เก็บ 20%) หมายความว่าถ้าค่าโดยสาร 100 บาทคนขับก็รับไป 75 บาท ส่วน Uber รับไป 25 บาท

เงิน 25 บาทจะนำไปจ่ายค่าโฆษณา, ค่าโปรโมชั่นคนขับ, ค่าจ้าง Developer ใน Sillicon Valley, ค่า R&D รถไร้คนขับ, ระบบงานหลังบ้าน, ค่าติดต่อประสานงานกับรัฐบาลในแต่ละประเทศเรื่องกฎหมาย, ค่าสู้คดีฟ้องร้อง และเงินเดือนของพนักงาน (รวมถึง Travis Kalanick…ฮา)

หมายความว่ากำไรของ Uber จึงค่อนข้างบางมากหรือไม่มีเลย

ที่ผ่านมา Uber เคยทำกำไรในสหรัฐแค่ช่วงสั้นๆ ของ Q1 ปี 2016 ที่ประมาณ 0.19 Cent (หรือ 6 บาทนิดๆ) ต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง ส่วนในตลาดโลกยังไม่เคยทำกำไรเลย ถ้าดูตัวเลขการเติบโตของรายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า Uber รายได้เพิ่มขึ้นมากจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่เลขขาดทุนก็สูงจนน่ากลัวเช่นกัน เพราะ Uber ไม่ได้ใช้กำไรมาป้อนการเติบโต เเต่เป็นการใช้เงินของนักลุงทุนมาทุ่มเพื่อยึดตลาดโลกให้ได้มากที่สุดก่อนคู่แข่งอย่าง Lyft, Didi หรือ Grab

มาดูตัวเลขรายได้ ขาดทุนของ Uber กัน

2014 : รายได้ 495 ล้านเหรียญ ขาดทุน 671 ล้านเหรียญ แปลงเป็นค่าใช้จ่าย 1,166 ล้านเหรียญ

2015 : รายได้ 1,500 ล้านเหรียญ ขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านเหรียญ แปลงเป็นค่าใช้จ่าย 3,500 ล้านเหรียญ

2016 : รายได้ 5,500 ล้านเหรียญ ขาดทุนประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ แปลงเป็นค่าใช้จ่าย 8,500 ล้านเหรียญ

หมายความว่าในปีที่แล้ว Uber ต้องจ่ายเงิน 1.5 เหรียญนิดๆ เพื่อสร้างรายได้ 1 เหรียญ ถ้ามองว่าในค่าใช้จ่าย 1.5 เหรียญประกอบด้วย ค่าโฆษณาเพื่อชิงพื้นที่กับคู่แข่ง, ค่า Subsidize ให้การขึ้น Uber แต่ละเที่ยวของเราราคาไม่แพงเกินไป ก็จะเห็นว่า Business Model ของ Uber ไม่ค่อยยั่งยืน และจะถึงจุดที่ทำกำไรยาก

Uber แตกต่างจาก Amazon ที่มีธุรกิจ Cloud มาช่วยสร้างรายได้ (ธุรกิจขายของ e-Commercr ของ Amazon ไม่เคยทำกำไร) Uber ไม่มีธุรกิจกำไรมหาศาลแบบโฆษณาเหมือน Facebook, Google ทางรอดของ Uber เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมามาก คือ ต้องทำให้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสารสูงกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกำไรแต่ละเที่ยวแท็กซี่ค่อนข้างจะบางเฉียบ

ทางออกของ Uber ในการทำกำไร… ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค

เงิน: เพิ่มค่าโดยสาร…แต่ถ้าทำอย่างนั้นลูกค้าก็สามารถไปใช้บริการคู่แข่ง เรียกว่าเป็นปัญหา Loyalty อาจเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ หรือเลือกระหว่าง Uber กับ Grab ต่อให้มีแตกสายธุรกิจมาส่งอาหารหรือ logistics ก็ยังไม่แน่ว่าธุรกิจเหล่านั้นจะกำไรไหม แถมอะไรที่คิดได้ แปบๆ คู่แข่งก็ทำตาม

คน: เพิ่มส่วนแบ่งจาก 25 เป็น 30-40% แต่คนขับก็อาจหนี มีผลการศึกษาว่าคนขับ Uber กว่าครึ่งในอเมริกาทำได้ปีเดียวก็เลิกเพราะรับค่าผ่อนรถ, ค่าน้ำมันสูงเกินรับไหว Gautam Gupta CFO ของ Uber ยอมรับว่าค่าแรงจูงใจคนขับค่อนข้างสูงมากและเป็นสาเหตุใหญ่อันหนึ่งของการขาดทุน

กฎหมาย: เคลียร์ปัญหาทางกฎหมายกับเมืองต่างๆ ให้เรียบร้อย เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากของ Uber มาจากการเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ก็ไม่ง่าย ซึ่งยังมีประเด็นเรื่องสวัสดิการเพราะ คนขับ Uber มีสถานะเป็น Sub-Contract จึงทำให้ไม่ได้รับโอกาสเรื่องประกันสุขภาพและสวัสดิการอีกหลายอย่างซึ่งประเทศฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปมักมองว่าไม่ถูกต้องและเป็นการเอาเปรียบพนักงาน นี่อาจทำให้ Uber ต้องเสียเงินก้อนใหญ่จากการถูกบังคับให้ต้องมีรายได้ขั้นต่ำในอนาคต

เทคโนโลยี: ผลักดันเทคโนโลยีรถไร้คนขับให้สำเร็จทั้งทาง Technical และ Legal เพราะรถไรัคนขับจะเปลี่ยนส่วนแบ่งที่ Uber ได้จาก 25% เป็น 100% ทันที ปัญหาคือเทคโนโลยีรถไร้คนขับมีความพร้อมขนาดไหน (ล่าสุดรถหุ่นยนต์ Uber เพิ่งฝ่าไฟแดงไป) และต้องไม่ลืมว่าเดิม Uber ผลักภาระค่าใช้จ่ายเรื่องรถ น้ำมัน ไปให้คนขับ หากนำรถไร้คนขับมาใช้ Uber ต้องกลับมาปวดหัวกับเรื่องนี้แทน (แต่ก็มีทางลด cost ได้ถ้า Partner กับบริษัทรถแล้วทำ Lease ยาวๆ บวกกับพัฒนาระบบไร้คนขับเป็นแค่อุปกรณ์เสริมมาติดเฉยๆ ไม่ใช่ต้องมาออกแบบรถใหม่)

ค่าใช้จ่าย: ลดค่าใช้จ่ายเช่นโฆษณาและถอนตัวจากตลาดไม่ทำกำไรเช่นที่เคยทำในจีน ทางนี้เหมือนทำง่าย แต่จริงๆ อาจยากที่สุดเพราะการเติบโตของลูกค้าอาจช้าลง ยิ่งถอยจากตลาดมากๆ ความเชื่อมั่นนักลงทุนจะตกเพราะความยิ่งใหญ่ของ Uber ในสายตานักลงทุน คือ ตัวเลขการเติบโตแบบก้าวกระโดด

ถนนทุกสายมุ่งสู่ Monopoly

เรามักจะมองว่าธุรกิจ Startup คือชัยชนะของระบบทุนนิยม แต่ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรม Taxi ที่กำไรค่อนข้างน้อย และด้วยความไม่แน่นอนที่เกิดจากผู้เล่นจำนวนมากในตลาด ความหวังของ Uber และบริษัท Ride-Sharing อื่นๆ คือการใช้เงินมหาศาลที่ระดมมาได้ทุ่มลงไปในตลาดเพื่อดูดผู้โดยสารและคนขับจนระบบ Taxi เดิมรวมถึงคู่แข่งที่รับค่าใช้จ่ายไม่ไหวจนต้องถอยไป จากนั้นจึงค่อยๆ ขึ้นค่าโดยสารให้อยู่ในระดับที่ตัวเองกำไรได้ (Didi เหมือนจะเริ่มทำสำเร็จในบางเมืองแล้ว)

การสร้าง Monopoly ฟังดูค่อนข้างเป็นได้ยากเพราะ Taxi ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ต้นทุนสูงขนาดจะไม่มีใครเข้ามาแข่งขัน ขนาดใน New York ที่ Uber เป็นใหญ่มากๆ พวกรถ Taxi เหลืองก็ยังเป็นที่หนึ่งอยู่ และ Uber เองก็ไม่ใช่คนเดียวที่มีเงินสดมหาศาลมาทุ่มตลาด ยิ่งถ้าเจอคู่แข่งท้องถิ่นอย่าง Grab ที่ทำแค่ลงเงินมากกว่า Uber ในบางตลาดก็พอจะทำให้เซแล้ว

Uber เป็นไอเดียที่อัจฉริยะมากๆ แต่บางที Business Model ที่จะช่วยให้ไอเดียอัจฉริยะนั้นทำกำไรอาจจะไม่มีจริงก็ได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หลายคนมองข้ามเมื่อหมกมุ่นกับคำว่า Disruption และ Valuation มากเกินไป

แล้ว Valuation สูงๆ ของ Uber ล่ะ?

Valuation เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อธุรกิจนี้ Disrupt จึงมีมูลค่าสูง ลองคิดดูว่าในธุรกิจกำไรบางนิดเดียว คู่แข่งเข้ามาง่ายแต่ Uber กลับมี Valuation ระดับ USD 70 Billion สูงกว่ามูลค่าของบริษัท Honda, Ford, GM เสียอีก ถ้าไม่มอง Uber เป็นบริษัทรถแต่เป็นบริษัทขนส่ง มูลค่านี้สูงกว่าสายการบิน Delta Airlines ที่มีเครื่องบินถึง 800 ลำและ Emirates ที่ Valuation ตัวเองไว้ USD 40 Billion ด้วยซ้ำ ค่อนข้างจะเวอร์มากทีเดียว

สรุปแล้ว Valuation ที่ถูกต้องของ Uber ควรเป็นเท่าไร ซึ่งไม่น่าจะสูงกว่าบริษัทที่มี Technology ในมือมากมายและทำกำไรสูงต่อเนื่องอย่าง Honda, GM

Travis Kalanick ซีอีโอ Uber

อนาคต Uber ในอีก 3-5 ปี จะเป็นอย่างไร

มองโลกแง่ดี: Uber มีเงินสดจำนวนมหาศาลกว่า USD 10 Billion พอสำหรับการเผาเงินปีระดับพันล้านเหรียญได้ไปอีกหลายปีจนครองตลาดสำคัญๆ ผลักดันรถไร้คนขับ จัดการปัญหาทางกฎหมายสำเร็จจนพลิกมาทำกำไรได้ เช่นเดียวกับ Airbnb ธุรกิจที่ไม่มีของที่ตัวเองขายอีกเจ้าที่ตอนนี้เริ่มมีกำไรแล้ว

มองโลกแง่ร้าย: Uber พบว่าการ Disrupt ง่ายกว่าการทำกำไรและเสียเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เร็วๆ นี้อาจต้องเปลี่ยนผู้บริหารเช่น Kalanick รวมถึงพยายามเพิ่มรายได้ด้วยวิธีต่างๆ (เช่น ขายข้อมูลผู้โดยสารให้บริษัทโฆษณา, บังคับฟังโฆษณาตอนนั่ง Uber) จากนั้นจึงค่อยๆ หาทางสู่กำไร

มองโลกแง่ร้ายสุดๆ: Uber คงไม่มีวันเจ๊ง แต่ด้วยคู่แข่ง, ปัญหาทางกฎหมาย, และ Business Model ที่มีขึ้นเพื่อใช้เงินไม่ใช้สร้างเงิน สุดท้ายอาจทำให้ Uber ต้องขายเทคโนโลยีให้บริษัทรถอัตโนมัติอย่าง Tesla, รวมร่างกับคู่แข่งเช่น Lyft หรือ Didi เพื่อสร้าง Monopoly

ไม่แน่ว่าปัญหาของ Uber จะกลายเป็นเหตุการณ์ Unicorn ล้มครั้งใหญ่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 พร้อมให้บทเรียนคนอยากทำธุรกิจว่า อย่าหลงใหลกับคำว่า Disrupt และ Valuation จนมองข้าม Business Model ที่ยั่งยืน อย่าคิดว่ามีเงินมากจะไม่พินาศ ยังไงธุรกิจ Ride-Sharing ก็จะอยู่กับเราตลอดไปแต่การเป็นผู้เปิดทางธุรกิจให้คนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายเช่นกัน

แน่นอนว่าในอีก 2-3 ปี Ride-Sharing เจ้าอื่นๆ เช่น Grab, Didi, Lyft ก็ไม่น่าจะทำกำไรได้ เพราะการขยายตลาดแลกมากับการยอมขาดทุนให้ผู้โดยสารได้ใช้ในราคาถูก ซึ่งดีสำหรับผู้บริโภค แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ไหน และเมื่อจบแล้วจะมีการขึ้นราคาเป็นเท่าไร ขณะที่การจะเข้า IPO ของ Uber ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะถ้าต้องเปิดตัวเลขทั้งหมดออกมา อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ที่มา: สตาร์ทอัพผัดเป็ด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา