เปิด 7 กลยุทธ์ Under Armour ย่อมเฉือนเนื้อตัวเอง ดัมพ์ราคา 10% สู้ศึก Sportswear

ศึกษาการทำตลาดของ Under Armour ในประเทศไทย น้องใหม่แต่ใจใหญ่ เร่งขยายสาขา สร้างแบรนด์ อัดกิจกรรม รวมถึงลดราคาสินค้า หวังสู้ศึกในตลาดเสื้อผ้ากีฬาที่เจ้าตลาดแข็งแกร่ง

7 กลยุทธ์ มัดใจสายสปอร์ตชาวไทย

พูดถึง Under Armour เป็นแบรนด์น้องใหม่ในวงการเสื้อผ้ากีฬา มีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น แต่สามารถขึ้นสู่ท็อป 3 ของโลกได้ เขย่าบัลลังก์แบรนด์ใหญ่อย่าง Adidas และ Nike ได้ โดยการสร้างความแตกต่างด้วยการเน้นโปรดักส์ Performance สำหรับคอกีฬาตัวยง ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ มีความแฟชั่นผสมอยู่

สำหรับในประเทศไทย Under Armour ได้บุกตลาดได้ 3 ปีแล้ว บริหารโดย “บริษัท ยูเอ สปอร์ต ไทยแลนด์ จำกัด” เปิดแฟล็กชิพสโตร์แห่งแรกที่สยามเซ็นเตอร์ และได้เดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ดูมีความท้าทายค่อนข้างสูงในการสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงผู้บริโภค ท่ามกลางสงคราม Brand Loyalty ของ 2 แบรนด์เจ้าตลาดที่แข็งแกร่งมาก

ในช่วง 3 ปีนี้ Under Armour ก็ได้ปรับตัว ปรับกลยุทธ์อยู่ตลอด เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค ทั้งการขยายสาขา และการลดราคาสินค้าเพื่อให้แข่งกับแบรนด์อื่นๆ ได้ โดยกลยุทธ์หลักมีทั้งหมด 7 ข้อด้วยกัน

  1. เร่งขยายสาขา

ปัจจุบันมีจุดขายทั้งหมด 15 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน และภูเก็ต แบ่งเป็นช็อปที่เป็นแบรนด์ เฮาส์ 7 สาขา รูปแบบช็อป อิน ช็อปตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าอีก 6 สาขา และ Outlet อีก 2 สาขา โดยในปี 2560 ได้ขยายสาขาใหม่ไป 4 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล เวสเกต, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, คิงเพาเวอร์ รางน้ำ และคิงเพาเวอร์ สีวลี

ในปีนี้จะขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 3 สาขา เป็นรูปแบบแบรนด์ เฮาส์ 2 สาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์ และไอคอนสยาม รวมถึง Outlet ที่พัทยา ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 10 ล้านบาท/สาขา หลักการเลือกพื้นที่ในการเปิดสาขา จะต้องเป็น Strategic Location ตามศูนย์การค้า และแหล่งท่องเที่ยว

  1. บุกตลาดรองเท้ากีฬาหนักขึ้น

ที่ผ่านมา Under Armour มีจุดแข็งที่สินค้ากลุ่ม Performace สายเสื้อผ้า มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับนักกีฬาอยู่ตลอด ทำให้สัดส่วนยอดขายแบ่งเป็นเสื้อผ้า 65% รองเท้า 25% และอุปกรณ์อื่นๆ 10%  แต่ในตลาดอุปกรณ์กีฬากว่า 30,000 ล้านบาท กลุ่มรองเท้าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และปัจจุบันเทรนด์การวิ่งกำลังมาแรง การวิ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเทรนนิ่ง และรองเท้าก็เป็นหัวใจสำคัญ

จึงมีการเน้นที่กลุ่มรองเท้ามากขึ้นในปีนี้ ด้วยการออกอาวุธใหม่ HOVR ถือเป็นเทคโนโลยีในรองเท้าวิ่งรุ่นที่ 3 ของแบรนด์ ได้ร่วมกับ DOW Chemical ในการพัฒนาวัสดุโฟมชนิดพิเศษในการรองรับการกระแทกได้ดีขึ้น ในปีนี้มีการเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 25% เป็น 28% และจะเพิ่มเป็น 30-33% ภายในปี 2020

  1. เพิ่มกิจกรรมกีฬา สร้าง Engagement

หนึ่งในการตลาดของ Under Armour เน้นที่การทำกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค ให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงความแตกต่างจากแบรนด์อื่น กิจกรรมสำคัญในปีนี้ ได้แก่ ทัวร์นาเมนต์กอล์ฟยิ่งใหญ่แห่งปีรายการ LPGA Thailand 2018, การแข่งขันบาสเก็ตบอล 3×3 U18 ระดับเยาวชน, การแข่งขันฟังก์ชั่นนอลฟิตเนสรายการ Test of Will 2018 และกิจกรรมไฮไลท์ UA Run Crew เป็นคอมมูนิตี้ฝึกเท้าสำหรับนักวิ่ง มีการจัดต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น

  1. ดัมพ์ราคาสินค้า สู้กับคู่แข่ง

โดยปกติแล้วราคาสินค้าของ Under Armour ในประเทศไทยจะสูงกว่าที่สิงคโปร์ราว 15% แต่เมื่อปีที่แล้วได้มีการปรับราคาลดลงมาทำให้มีความแตกต่างราว 10% แล้ว

ในการปรับราคาสินค้าลงนั้นจะขึ้นอยู่แต่ละสินค้า ปรับลงประมาณ 5-15% ส่วนรองเท้าปรับลง 10% จะใช้วิธีการเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด สินค้าต่อสินค้า ทำให้ช่องว่างของราคาต่างกันน้อยที่สุด ถ้าสินค้าตัวไหนสูงไปก็หาวิธีปรับลดลง ถ้าสินค้าตัวไหนราคาต่ำกว่า ก็หาวิธีในการเพิ่มจำนวนการขาย

เหตุผลที่ปรับราคาลงเพราะต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น ถือเป็นการเฉือนเนื้อตัวเองด้วย ยอมได้กำไรน้อยลง เพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้น

  1. เพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ดีไซน์แฟชั่น

ด้วยเทรนด์ของสปอร์ตในตอนนี้ควบคู่กับแฟชั่นไปแล้ว แบรนด์คู่แข่งของแบรนด์ก็มีการพัฒนาดีไซน์ให้เป็นแฟชั่น เกิดกระแสต่างๆ มากมาย ทั้งเสื้อผ้า และรองเท้า Under Armour เองก็มองว่ามีแผนทำสินค้าเป็น Sport Lifestyle มากขึ้นในทุกๆ กลุ่ม ดีไซน์จะทำมีความแฟชั่นมากขึ้น ไม่ใช่ใส่สำหรับการเล่นกีฬาอย่างเดียว แต่สามารถใส่เที่ยวได้

  1. สร้างแบรนด์ เน้นคุณภาพ

ตลาดอุปกรณ์กีฬาขึ้นชื่อเรื่อง Brand Loyalty อย่างมาก โดยเฉพาะ 2 แบรนด์ใหญ่ Adidas และ Nike ต่างมีแฟนๆ ของตัวเองที่พร้อมจะซัพพอร์ตเวลามีสินค้าใหม่ๆ แต่ Under Armour มองว่าจะสร้าง Brand Loyalty ด้วยคุณภาพของสินค้า ไม่ใช่ Brand Loyalty ที่โลโก้แบรนด์ จะต้องทำให้ให้ลูกค้าได้เห็นถึงคุณภาพของแบรนด์จริงๆ แล้วรู้สึกรักแบรนด์ มากกว่าการเล่นกีฬาตามกระแส

  1. Brand ambassador ต้องสายกีฬา

ในประเทศไทย Under Armour มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ในการสร้างการรับรู้เช่นกัน แต่ไม่ใช่เซเลบริตี้ หรือดาราที่มีชื่อเสียง แต่เป็นคนดังในสายกีฬา หรือฟิตเนสตัวจริง เช่น นักมวย นักเพาะกายทีมชาติ นักกอล์ฟ นักเทนนิส โยคะ นักบาส หรือเทรนเนอร์ฟิตเนสชื่อดัง โดยจะไม่เน้นเซเลบ แต่เน้นสาย Performance โดยตรง แต่ถ้ามีสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ก็อาจจะมีกลุ่ม Influencer มากขึ้นก็ได้

สรุป

  • ถือเป็นการบุกตลาดอย่างหนักในประเทศไทยสำหรับแบรนด์น้องใหม่ แต่ก็มีการเติบโตอย่างสูง โดยเลือกแนวทางที่ฉีกจากคู่แข่ง และใช้กลยุทธ์เรื่องราคาแต่ยังคงภาพลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้อยู่ ทำให้ตลาดอุปกรณ์กีฬามีการแข่งขันกันร้อนระอุมากขึ้นแน่ๆ ในปีนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา