เปิดประวัติ Masatoshi Ito ผู้อยู่เบื้องหลังแฟรนไชส์ 7-Eleven ญี่ปุ่นร่ำรวยระดับแสนล้าน

ในปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีแฟรนไชส์ 7-Eleven กว่า 2 หมื่นสาขา ทั่วประเทศ

คำถามคือใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ?

7-11 Japan

เปิดประวัติการบริหารธุรกิจของ Masatoshi Ito

ปัจจุบัน Masatoshi Ito มีอายุ 97 ปี เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Seven & i Holdings บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกซึ่งบริหาร 7-Eleven กว่า 69,000 สาขาใน 18 ประเทศ ทำให้เขามีทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 127,000 ล้านบาท)

ย้อนกลับไปในอดีต จุดเริ่มต้นของ 7-Eleven ในญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1973 เพราะ Masatoshi Ito ได้รับสิทธิจากบริษัท Southland Corporation ให้เปิด York Seven Inc. ในญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Seven-Eleven Japan 

ในช่วงเวลานั้น 7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อชั้นนำในสหรัฐอเมริกา Masatoshi Ito จึงมุ่งมั่นว่าเขาจะทำให้แฟรนไชส์ 7-Eleven เติบโตในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จเพราะสามารถขยายแฟรนไชส์ได้ปีละ 100 สาขาเลยทีเดียว

ในปี 1989 Seven-Eleven Japan ได้รับโอกาสให้บริหารร้านกว่า 58 สาขาในฮาวาย โดยมีเงื่อนไขคือ Southland Corporation ต้องฟังและเรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากสาขาที่ญี่ปุ่น เพราะในตอนนั้นทางบริษัทกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก 

จุดเปลี่ยนของ Masatoshi Ito คือในปี 1992 ทางบริษัทโดนคนกลุ่มหนึ่งพยายามขู่ว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริหารในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และด้วยปัญหานี้เองทำให้ Masatoshi Ito ออกมารับผิดชอบโดยประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท และ Toshifumi Suzuki ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทอยู่ในขณะนั้นก็ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

ในปี 1994 Toshifumi Suzuki ได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานของ 7-Eleven ครั้งใหญ่ โดยปิดร้านกว่า 1,180 สาขาที่ขาดทุนในสหรัฐอเมริกา และหันมาใช้กลยุทธ์เพิ่มราคาสินค้าแทน จากเดิมที่ 7-Eleven ใช้ระบบกระจายสินค้าของตัวเอง ทางบริษัทก็ได้เปลี่ยนมาใช้บริการของ McLane ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Walmart 

นอกจากนั้น ทางบริษัทยังใช้กลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของสินค้าภายในร้านอย่างการขายของสดแบบวันต่อวัน และการขายอาหารพร้อมทาน เช่น แซนด์วิชหรือขนมอบ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งนี้ทำให้บริษัท Southland Corporation กลับมาเปิด 7-Eleven สาขาใหม่ๆ ได้ในจำนวนมากกว่าสาขาที่เคยปิดไปก่อนหน้านี้

ในปี 2000 ทาง 7-Eleven ได้บุกตลาดออนไลน์และมีเว็บไซต์ 7dream.com เป็นของตัวเอง ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งจองสินค้าต่างๆ ได้ตลอดเวลาผ่านทางอินเตอร์เน็ต และมารับสินค้าจริงได้ที่สาขาใกล้บ้าน ในปีต่อมาธนาคาร IYBank ก็ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งความพิเศษของธนาคารนี้คือเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าคู่แข่ง และ ‘ไม่มีสาขา’ แต่มีแค่ ‘ตู้เอทีเอ็ม’ ที่ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงกระจายอยู่ในจุดต่างๆ แทน ทางบริษัทจึงตั้งเป้าหมายว่าจะติดตั้งตู้เอทีเอ็มนี้ที่ 7-Eleven หลายสาขาทั่วประเทศ

ในปี 2005 Masatoshi Ito ได้ก่อตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ Seven & i Holdings ขึ้นมา ซึ่งโลโก้ของบริษัทนี้เลียนแบบมาจากโลโก้ของ 7-Eleven นั่นเอง 

ไม่ใช่แค่ Seven & i Holdings เพราะ Masatoshi Ito เคยเป็นประธานบริหารที่ Ito Yokado ด้วย

Ito Yokado เป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่นที่มีจำนวนกว่า 133 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูลอัพเดตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021) ย้อนกลับไปในปี 1920 Ito Yokado เป็นเพียงร้านขายเสื้อผ้าเล็กๆ ที่ชื่อว่า Yokado Yohin ในสมัยนั้นลูกค้าของร้านนี้คือชนชั้นกลางที่มีรายได้ระดับหนึ่ง

ต่อมาในปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ยอดขายของทางร้านก็ตกฮวบลง เพราะผู้คนไม่อยากใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย และหลายร้านก็ถูกบังคับให้ปิดตัวไป เนื่องจากมีการโจมตีทางระเบิดโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา 

ในปี 1958 เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัว Masatoshi Ito จึงได้ก่อตั้ง Yokado Co., Ltd. ขึ้นมา แล้วเขาก็เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับ ‘การค้าปลีก’ และในปี 1972 ทางบริษัทก็ได้รับโอกาสให้ดูแลเชนร้านอาหาร Famil ในญี่ปุ่น ภายใต้ลิขสิทธิ์ของร้าน Denny’s ในสหรัฐอเมริกา โดยวางเป้าหมายให้กลุ่มลูกค้าเป็นครอบครัวชนชั้นกลางเช่นเดียวกัน

ในปี 1984 Ito Yokado ได้เข้ามาดูแลสาขาของห้าง Robinson ในญี่ปุ่น ด้วยแนวคิดที่อยากให้สินค้าหรูถูกวางขายในห้างที่มีบรรยากาศสบายๆ และในปี 1985 ทางบริษัทก็นำคิวร์อาโค้ดรวมถึงเทคโนโลยี POS มาใช้เก็บข้อมูลการขายในทุกสาขา เพื่อให้พนักงานตัดสินใจเรื่องสินค้าต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้มูลค่าหุ้นของทางบริษัทพุ่งขึ้นสูงมาก

การโคจรมาพบกันของ Masatoshi Ito และ Peter Drucker กูรูด้านการบริหารระดับโลก

Peter Drucker เป็นเจ้าของหนังสือด้านการบริหารจัดการที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง The Effective Executive (ผู้บริหารทรงประสิทธิผล) Managing Oneself (ปัญญางานจัดการตน) และ The Five Most Important Questions You Will Ever Ask About Your Organization (ตอบ 5 คำถามนี้ไม่ได้ก็อย่าทำธุรกิจเลย)

Masatoshi Ito ได้มารู้จักกับ Peter Drucker ครั้งแรกในฐานะของที่ปรึกษาทางธุรกิจ และพวกเขาก็ได้สนิทกันในที่สุดเพราะมีความเชื่อคล้ายกันในหลายๆ เรื่อง ย้อนกลับไปในเวลานั้น ทั้ง 2 คนบินไปมาหาสู่กันทั้งที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยทั้งคู่ชอบใช้เวลาช่วงเย็นด้วยกันเพื่อสนทนาในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจญี่ปุ่น และแนวทางการทำธุรกิจ 

Peter Drucker เคยให้คำแนะนำตอน Masatoshi Ito เริ่มบริหารบริษัท Seven & i Holdings ว่าอย่าเพิ่งเร่งขยายสาขาของ 7-Eleven เร็วจนเกินไป เพราะควรดูแลให้แต่ละสาขามีรากฐานที่แข็งแรงก่อน ด้วยคำแนะนำนี้เอง Masatoshi Ito จึงสามารถขยาย 7-Eleven ในญี่ปุ่นได้อย่างมั่นคง เขาจึงให้เครดิต Peter Drucker มาตลอดว่าช่วยให้ธุรกิจที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ ส่วน Peter Drucker ก็ชื่นชม Masatoshi Ito เช่นกันว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถโดดเด่นมาก 

Masatoshi Ito บริจาคเงินกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับทาง Drucker School ส่วน Junro ผู้เป็นลูกชายก็เป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมศิษย์เก่า Drucker School ในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน เพราะเขาเรียนจบจาก Drucker MBA

โดยสรุป

ในปี 2021 นี้ธุรกิจของ Seven & i Holdings ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ Ito Yokado ก็ดำเนินกิจการอย่างมั่นคงมากว่าร้อยปีแล้ว ทั้งสองบริษัทอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจก็เพราะทีมบริหารที่มีคุณภาพ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงยังครองแชมป์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นได้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ตาม

ที่มา : referenceforbusiness, itoyokado, Forbes, cgu.edu, thriftbooks, wikipedia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา