7 อุปนิสัยเพื่อความสำเร็จด้านการเงินในปี 2563 | BI Opinion

คอลัมน์: Wealth Insight
โดย คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย 
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีแล้วนะครับ เป็นโอกาสดีที่ผู้อ่านจะได้ทบทวนตัวเองกับหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นกับเราตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเรื่องการงานว่าสำเร็จตามคาดหรือไม่? หรือเรื่องการเงินก็เช่นกันว่าปีนี้เรามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? สุขภาพการเงินดีขึ้นหรือไม่? นอกจากจะได้ทบทวนเรื่องที่ผ่านมาแล้ว การเริ่มต้นมองอนาคตไปข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกัน ซึ่งปีใหม่นี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะได้เริ่มต้นนิสัยใหม่ เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ และตั้งเป้าหมายการเงินใหม่ ผมจึงขอนำเสนอ 7 อุปนิสัยการเงินที่จะทำให้คุณมีสุขภาพการเงินที่ดีในปี 2563 และปีต่อๆ ไปด้วยครับ

  1. จดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายการเริ่มต้นจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนเรื่องต่างๆ ที่สำคัญหลายๆ คนอยากจะเริ่มต้นบริหารเงิน-บริหารความมั่งคั่งแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรเพราะไม่มีข้อมูลอะไรที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ เช่น ไม่รู้ว่าเดือนๆ หนึ่งมีรายจ่ายเท่าไร, ไม่รู้ข้อมูลว่ารายได้ทั้งปีที่ได้รับอยู่นั้นหายไปไหน, หากเราไม่เคยจดไม่เคยทำบัญชีเราก็จะไม่รู้เลยว่าเงินรั่วไหลไปอยู่ที่ไหนบ้างและยากที่จะหาวิธีแก้ไข ประโยชน์ที่สำคัญคือการทำบัญชีจะทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของเงินเราเอง และจะทำให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ด้วยการกำหนดงบประมาณ (Budget) สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ในหนึ่งปีเราจะจัดสรรเงินสำหรับการพัฒนาตนเองเท่าไร, เงินสำหรับท่องเที่ยวเท่าไร, เงินสำหรับเครื่องแต่งกายเท่าไร ฯลฯ โดย Budget ตัวนี้หละครับที่จะมาเป็นกรอบคอยบอกว่าเราควรใช้จ่ายอย่างไร นอกจากนั้นพอถึงช่วงครึ่งปี-ปลายปี เราก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เป็นงบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet) และงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล (Personal statement of cash flow) ของตัวเองได้อีกด้วย
ภาพจาก Shutterstock
  1. มีเงินสำรองฉุกเฉิน3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ก่อนที่เราจะคิดต่อยอดความมั่งคั่งให้ไกลออกไป เราควรที่จะมีรากฐานการเงินที่มั่นคงก่อนด้วยการมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะหากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ เช่นเกิดไม่สบาย เกิดอุบัติเหตุ ไม่มีรายได้หรือไม่สามารถทำงานได้เราก็ยังมีแหล่งเงินนำมาใช้จ่าย โดยที่ไม่ต้องถอนเงินลงทุนออกมาจนทำให้แผนการลงทุนสะดุด และเสียโอกาสการลงทุน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับต้นๆ ดังนั้นเราควรที่จะสอดส่องอยู่เสมอว่าเรามีเงินก้อนนี้เพียงพอหรือไม่ ถ้าหากยังไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินแนะนำให้รีบสะสมเงินก้อนนี้เป็นเป้าหมายแรกของปี 2563 เลยนะครับ โดยปริมาณเงินสำรองฉุกเฉินที่แนะนำคือ 3 – 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

  1. มีประกันในวงเงินที่เหมาะสมข้อนี้ก็ยังเน้นเรื่องรากฐานของความมั่งคั่งเช่นกัน สิ่งที่สำคัญคือการวางแผนการเงินที่ดีเราควรที่จะวิเคราะห์ความเสี่ยงของตนเองและเลือกวิธีจัดการความเสี่ยงต่างๆให้เหมาะสม เช่น ที่บ้าน คนในครอบครัว ญาติๆ มีประวัติเป็นโรคร้ายกันบ้างหรือไม่?หากมีแล้วคิดว่าจะมีโอกาสเกิดกับเราบ้างไหม? ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินอย่างไร? แล้วเราจะเลือกบริหารจัดการความเสี่ยงนี้อย่างไร (รับความเสี่ยงไว้เอง, ลดโอกาสเกิดความเสี่ยง, หลีกเลี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยง หรือโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน (ทำประกัน))? โดยถ้าเราบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมแล้ว เวลาเกิดเหตุไม่คาดฝันต่างๆ จะได้ไม่กระทบกับแผนการเงินของเรา เวลาเลือกซื้อประกันเราก็ควรพิจารณาเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับตนเอง เช่น วงเงินประกันสุขภาพควรจะสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เราจะเข้าไปใช้บริการ หรือประกันชีวิตก็ควรซื้อให้คุ้มครองตามมูลค่าความสามารถ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเบี้ยประกันทั้งหมดก็ไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ทั้งปี

  1. ทยอยเก็บค่าใช้จ่ายรายปีบางครั้งเรารู้อยู่แล้วว่าค่าใช้จ่ายรายปีจะต้องจ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้เตรียมตัวไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายรายปีก้อนโตอาจทำให้ฐานะการเงินสะดุดไปพักนึงได้เลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางคนอาจต้องใช้บริการเงินกู้หรือกดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตซึ่งจะทำให้สุขภาพการเงินแย่ลงไปและทำให้เป็นหนี้พอกพูนสูงขึ้นไป สิ่งที่แนะนำคือลองรวบรวมค่าใช้จ่ายรายปีต่างๆ แล้วนำมาหาร 12 เดือน และค่อยๆ ทยอยเก็บเรื่อยๆ พอถึงเวลาจะต้องใช้จ่ายจริงก็ทยอยถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้
ภาพจาก Unsplash
  1. มีเป้าหมายการเงิน แน่นอนว่าคงไม่มีใครขับรถออกมาจากบ้านวนไปวนมาแล้วไม่รู้จะไปไหน การเก็บเงินก็เช่นกัน เราควรที่จะมีเป้าหมายในการเก็บเงินให้ชัดว่า จะเก็บเงินเพื่ออะไรบ้าง เช่น เก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ, เพื่อบ้านหลังใหม่, เพื่อการท่องเที่ยว ฯลฯ เมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราก็ต้องมีแผนการออม (Action plan) ที่ชัดเจนว่าจะทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้อย่างไร เช่น ฉันจะเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ได้เงิน 200,000 บาทเป็นเงินดาวน์บ้านหลังใหม่  สิ่งที่สำคัญก็คือพยายามอย่าหลุดจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ หลังจากเริ่มแล้วควรมีวินัยมุ่งมั่นเพื่อทำให้เป้าหมายเป็นจริงให้ได้ ซึ่งถ้าหากจะให้ดีเราควรจะเก็บเงินออมอย่างน้อยๆ 10% ของรายได้ทุกๆ เดือน
เด็กนักเรียน // ภาพ pixabay.com
  1. เรียนรู้วันละ1 เรื่อง แน่นอนว่าโลกการเงินนั้นมีเรื่องราวมากมายจนเราหนึ่งคนไม่สามารถจะรู้ได้หมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะศัพท์แปลกๆ, สูตรการเงินที่ยากจะเข้าใจ, หรือตัวอักษรกรีกสุดจะงง แต่ไม่เป็นไรสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราค่อยๆเรียนรู้กันได้ โดยเราอาจจะหาหนังสือการเงินสักหนึ่งเล่ม หรือเว็บไซต์การเงินที่ชื่นชอบ หลังจากนั้นค่อยๆ ทยอยอ่านทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ แล้วเรียนรู้วันละหนึ่งเรื่องก่อนนอน ผ่านไปหนึ่งเดือนเราจะรู้เพิ่มขึ้น 30 เรื่อง ผ่านไปหนึ่งปีก็ 365 เรื่อง เพียงไม่นานเราก็จะมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินมากขึ้น ส่งผลให้เราสามารถบริหารเงินได้ดีขึ้น, มีมุมมองทางด้านการเงินที่ต่างกันออกไป และยังสามารถช่วยแนะนำคนรอบข้างได้อีกด้วย
ภาพจาก Shutterstock
  1. อย่ายอมแพ้จากการลงทุนการลงทุนในตลาดนั้นก็ต้องมีความผันผวนอยู่คู่กัน ถึงแม้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2561 และ 2562 จะได้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดจะเป็นอย่างงั้นตลอดไป บางครั้งการยอมแพ้และถอดใจออกจากตลาดไปอาจจะทำให้เราพลาดโอกาสการลงทุนที่ดีได้ในอนาคต และอีกประการหนึ่งในยุคที่ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ เช่นเงินฝากให้ผลตอบแทนที่น้อย การออกจากตลาดไปรับผลตอบแทนน้อยๆ ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เช่นกัน ดังนั้นในช่วงที่ตลาดไม่เป็นใจเราก็ควรที่จะเรียนรู้-ฝึกฝนไปกับตลาดและมองหาโอกาสในการลงทุนในปี 2563 โดยที่มีการลงทุนและเก็บออมอย่างต่อเนื่อง อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมและยึดไว้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางด้วยกันคือหลักการลงทุนที่ถูกต้อง เช่น การจัดพอร์ตโฟลิโอการลงทุนที่ดีรวมถึงมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม

หากเราได้ทำทุกข้อด้านบนเรียบร้อยแล้ว ก็เหมือนกับว่าเราได้เริ่มออมและเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว ในบางครั้งหากเราเก็บเงินเพื่อตัวเองแล้ว-ใช้จ่ายกับตัวเองแล้ว แต่เรายังมีเงินพอเหลืออยู่ ก็อย่าลืมมองเรื่องของการแบ่งปันความสุขให้กับคนรอบตัวหรือการบริจาคให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ก็จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นนะครับ อุปนิสัยการเงินข้างต้นดังที่กล่าวมานั้น เป็นหลักการง่ายๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเตรียมตัวเพื่อความสำเร็จด้านการเงิน เราลองมาเริ่มสร้างอุปนิสัยทางการเงินที่ดีในทุกๆ วันของปีหน้าเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีตลอดปี 2563 และในปีต่อๆ ไปกันครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา