เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในขณะนี้หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่า 5G มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในประเทศไทยเทคโนโลยี 5G ยังคงมีพื้นที่ให้บริการจำกัด รวมถึงโทรศัพท์ที่รองรับก็น้อย
แต่การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี 6G กันแล้ว เพื่อชิงความได้เปรียบและสร้างมาตรฐานให้กับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคต่อไป แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี 6G อย่างชัดเจนจนกว่าจะถึงปี 2023 และคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 6G จะมีการใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริงในช่วงปี 2027 หรืออีก 7 ปีข้างหน้านับจากนี้
หลายชาติเร่งพัฒนา 6G หวังสร้างความได้เปรียบในอนาคต
ในขณะนี้หลายประเทศกำลังเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยี 6G เพื่อหวังชิงความได้เปรียบในอนาคต โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้คาดหวังว่าจะเป็นประเทศแรกที่เริ่มให้บริการ 6G ได้ ซึ่งทั้ง Samsung และ LG สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศ ได้เริ่มตั้งศูนย์วิจัย 6G ในกรุงโซลแล้ว โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการวิจัยกว่า 976 พันล้านวอน หรือประมาณ 2.52 หมื่นล้านบาท
ด้านประเทศจีน นำโดย Huawei ก็ได้ประกาศว่าจะเริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และได้เริ่มตั้งทีมวิจัยขึ้นมาแล้ว
ส่วนประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความหวังว่าจะสามารถกลับมาชิงส่วนแบ่งในเทคโนโลยี 6G ได้อีกครั้ง โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาดของอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6G ประมาณ 30% จากที่ปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดอุปกรณ์ได้เพียง 2% เท่านั้น
ไม่ใช่แค่ส่วนแบ่งการตลาดของอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6G เท่านั้นที่ญี่ปุ่นคาดหวัง แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นต้องการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรให้ได้ 10% จากที่ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นเจ้าของสิทธิบัตรในเทคโนโลยี 5G เพียง 5.5% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า Samsung จากเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร 5G 8.9% Huawei จากจีน 8.3% และ Qualcomm จากสหรัฐฯ 7.4%
ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่ายตั้งคำถามว่าญี่ปุ่นจะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากอุปกรณ์ 6G ได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นมักสนใจแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเน้นไปที่ความต้องการในประเทศมากกว่า
โลกต้องการอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G แสนล้านชิ้น
สาเหตุที่หลายๆ ประเทศต้องการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 6G เพื่อสร้างความได้เปรียบในอนาคต เป็นเพราะมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6G จะใช้คลื่นที่สามารถกระจายสัญญาณไปได้เพียง 200 เมตรเท่านั้น เพื่อรองรับการส่งข้อมูลที่มีความรวดเร็วกว่า 5G 10 เท่า ทำให้ทั่วโลกอาจมีความต้องการอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6G กว่า 1 แสนล้านชิ้น เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้
ที่มา – Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา