“ออกอย่างนี้ต้องลาออก จะขอลาออก” เบื่องาน อยากลาออก เป็นปัญหาธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ถึงจุดอิ่มตัวในการทำงาน ขาดความท้าทายใหม่ๆ จนรู้สึกไม่พอใจกับงานที่ทำ
จากสถิติของกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ มีจำนวนผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 410,061 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ลาออกจากงาน 219,811 คน นับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา (อ่านเพิ่มเติม)
อย่างไรก็ตามสาเหตุการลาออกจากงานของแต่ละคนคงต่างกันไป บางคนลาออกเพราะต้องการความก้าวหน้า ได้งานใหม่ ไปเรียนต่อต่างประเทศ หรืออยากเปลี่ยนสายงาน แต่ถ้าเหตุผลในการลาออกจากงาน คือ เบื่อ และรู้สึกไม่พอใจกับงานที่ทำ อาจต้องใช้เวลาในการตัดสินใจให้นานขึ้น และหาสาเหตุก่อนว่าจริงๆ แล้ว อะไรทำให้รู้สึกเบื่องานที่กำลังทำอยู่
หาสาเหตุให้เจอทำไมถึงเบื่องาน
สิ่งแรกที่ควรทำคือ การหาสาเหตุว่าทำไมถึงเบื่องาน หรือไม่พอใจกับงานที่ทำ อยากลาออกจากงานเพราะความรู้สึกเบื่อ รู้สึกไม่ท้าทาย ภาระงานมากเกินไปจนไม่มีเวลา ไม่พอใจกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสาเหตุภายในที่เกิดจากการทำงานโดยตรง แต่ในบางครั้งความรู้สึกเบื่อ กลายเป็นสิ่งที่เกิดจากสาเหตุภายนอกที่กระทบกับความรู้สึกในการทำงาน
หากรู้สึกเบื่องานเพราะสาเหตุภายนอก การเปลี่ยนงานคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงเปลี่ยนงานไป ก็ยังคงมีความรู้สึกแบบเดิมๆ อยู่ดี แน่นอนว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จะส่งผลต่อชีวิตการทำงานในระยะยาว
หาโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยเติมเต็มความต้องการ
โดยปกติแล้ว ก่อนที่เราจะตกลงทำงานกับบริษัทใดๆ เราจำเป็นที่จะต้องดูรายละเอียดของงาน ภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่บริษัทกำหนดขึ้นมาก่อน ในบางครั้งเมื่อเข้าไปทำงานแล้ว เราอาจไม่ได้รู้สึกว่างานที่ทำเป็นอย่างที่เคยคิด เพราะงานยังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของเราได้
การค้นหาโอกาสในการทำงานใหม่ๆ นับว่าเป็นอีกสิ่ง ที่ช่วยแก้ปัญหาความเบื่องานได้ดี หากเราสามารถอาสาในการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ สร้างความท้าทายให้กับตัวเอง ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาการเบื่องานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ สร้างประสบการณ์ดีๆ ให้กับตัวเองได้ด้วย
คุยอย่างเปิดอกกับเจ้านาย
ความรู้สึกที่อยากลาออกจากงานบางครั้งเกิดจาก “ความไม่ชัดเจน” ในตำแหน่งการทำงาน ก่อนเข้ามาทำงานเคยเข้าใจรูปแบบการทำงานในแบบหนึ่ง แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่คิด การทำงานจึงไม่สามารถเติมเต็มความต้องการได้
ทางออกหนึ่งคือ การคุยกับหัวหน้าอย่างเปิดอก ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจนในการทำงาน กำหนดบทบาท หน้าที่ ภาระ และความรับผิดชอบใหม่ สิ่งที่เคยทำแล้วรู้สึกไม่ชอบ หรือสิ่งที่ชอบแต่ไม่ได้ทำ อาจหมดไป และสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ โดยไม่ต้องลาออก
ปรับตัวเข้ากับการทำงานให้เร็ว
บางคนอาจมีปัญหากับการเปลี่ยนงาน โดยเฉพาะปัญหาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน ปรับตารางการทำงานใหม่ ย่อมทำให้เกิดความกดดันในการทำงาน บางครั้งความกดดันนี้เองจะทำให้การทำงานกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสุข
ปัญหานี้มักเกิดกับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในที่ใหม่ อาจจะช่วง 6 เดือนแรก ของการทำงาน หากสามารถปรับตัวได้ ก็จะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้อย่างไม่มีปัญหา แต่หากปรับตัวไม่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยนงานเกิดขึ้นอีกครั้ง
วางแผนเรื่องงานเผื่ออนาคต
สุดท้ายแล้ว ผ่านความพยายามทุกอย่าง ที่คิดว่าทำแล้วจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องงานได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความรู้สึกอยากเปลี่ยนงานได้ ให้ลองมองย้อนดูว่าที่ผ่านมาตัดสินใจเรื่องงานถูก หรือผิดอย่างไร โดยอาจทำเป็น Check List ในเรื่องที่คิดว่าทำถูก และทำผิด รวมถึงพฤติกรรม และความคิดของตัวเองที่ผ่านมา อะไรเป็นสิ่งที่ชอบ หรือไม่ชอบในงานที่กำลังทำอยู่ จะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากขึ้นเมื่อโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ก้าวเข้ามาในชีวิต
หาทักษะ และความเชี่ยวชาญของตัวเอง
การหาทักษะ หรือความเชี่ยวชาญเป็นของตัวเองนับว่ามีความสำคัญ ทั้งทักษะที่เคยมีอยู่แล้ว และทักษะชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่เคยมี แต่จำเป็นกับการทำงานในอนาคต กรณีต้องตัดสินใจเปลี่ยนงาน การพัฒนาทักษะใหม่ๆ จะช่วยทำให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานสูง
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อโลกแห่งการทำงานทั้งของนายจ้าง และลูกจ้าง การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น บางครั้งการทำงานบางอย่างต้องการทักษะทั้ง Soft skill และ Hard skill
ถ้าอยากรู้ว่ามีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นกับการทำงานในยุคนี้ ชวนมาหาคำตอบกันได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce ซึ่งงานจะจัดขึ้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่ 9.00 – 16.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์
โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://forum.brandinside.asia/newworkforce-2020
ที่มา – Fastcompany
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา