เปิด 6 เหตุผลทำไม “ธนจิรา” เข้าซื้อกิจการ “HARNN” เสริมพอร์ตสุขภาพ ความงาม

ธนจิรา ประกาศปิดดีลเข้าซื้อกิจการแบรนด์ HARNN 100% ขยายพอร์ตสินค้าสู่กลุ่มสุขภาพและความงามอย่างเต็มตัว ตั้งเป้าสู่การเป็น Regional Lifestyle Company

ต้องโตอย่างแข็งแกร่งด้วยแบรนด์ของตนเอง

ธนจิรา เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่าย และทำการตลาดให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากต่างประเทศหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ จิวเวอรี่ ได้แก่ PANDORA เครื่องประดับแบรนด์ดังจากประเทศเดนมาร์ก, MARIMEKKO แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากประเทศฟินแลนด์ และ CATH KIDSTON แบรนด์ไลฟ์สไตล์โมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรี่เพชรแท้ TILDA อีกด้วย

แต่ถ้าดูในพอร์ต หรือโครงสร้างธุรกิจแล้ว ทุกแบรนด์เป็นการนำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้กลยุทธ์ของธนจิราต่อจากนี้คือการเน้นสร้างแบรนด์ของตัวเอง ประเดิมด้วยการเข้าซื้อกิจการแบรนด์ HARNN แบรนด์สปาสัญชาติไทยเป็นการลงทุนด้วยการเข้าถือหุ้น 100%

เมื่อมาดูการลงทุนครั้งนี้ มีเหตุผลสำคัญ 6 ข้อด้วยกัน

  1. เพื่อต้องการสร้างความชัดเจนให้กับแนวทางการเจริญเติบโตของบริษัทฯ ด้วยการมีแบรนด์เป็นของตนเองที่เข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้มีข้อจำกัดในการทำตลาดอยู่บ้าง

2. เป้าหมายของธนจิราต้องการก้าวสู่ความเป็น “Regional Lifestyle Company” แบบเต็มตัว ด้วยกลุ่มสินค้าที่บริษัททำการตลาดอยู่แล้วคลอบคลุมตั้งแต่สินค้าประเภทแฟชั่น, ไลฟ์สไตล์, จิวเวลี่, แอคเซสเซอรี่, โฮมแวร์ การที่ซื้อ HARNN เป็นการขยายสู่พอร์ตสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) อาทิ เครื่องหอม, สปาโปรดักส์, บอดี้แคร์ และสกินแคร์เพิ่มเติม

3. การเข้าซื้อกิจการแบรนด์ HARNN ในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าซื้อที่คลอบคลุมถึงการได้มาซึ่งรวมสินทรัพย์ทางปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Branding and IP Assets) และเครือข่ายเชิงธุรกิจทั้งหมดของกิจการ รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ HARNN ได้แก่ HARNN, Vuudh, Tichaa by HARNN, HARNN Heritage Spa และ Asian Holistic Academy

4. อีกทั้งยังได้พื้นที่ค้าปลีกของ HARNN โดยจำนวนสาขาของแบรนด์ในเครือ HARNN และสปามีจุดขาย และบริการประมาณ 30 สาขาในประเทศไทย พร้อมทั้งยังมีการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในอีก 16 ประเทศ โดยส่วนมากเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

5. คาดหวังว่าแบรนด์ HARNN จะช่วยให้ผลประกอบการรวมของบริษัทฯ เติบโตแบบก้าวกระโดด ลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงรายได้จากแบรนด์นำเข้าเพียงอย่างเดียวโดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 แบรนด์ HARNN จะทำรายได้ให้กับบริษัทฯเป็นสัดส่วน 25% จากรายได้รวมที่ 2,250 ล้านบาท 

6. มีแผนที่จะนำธนจิราก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

ทั้งนี้ ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้พูดถึงแผนธุรกิจในการบริหาร HARNN หลังจากเข้ามาอยู่ในครอบครัวอย่างเป็นทางการ แบ่งเป็น 2 เฟสด้วยกัน โจทย์หลักคือการต่อยอดเพิ่มมูลค่าแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ในประเทศไทยมากขึ้นรวมทั้งการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ

  • Phase 1 : ภายในระยะเวลา 9  – 12 เดือนแรก เน้นสร้าง Brand Awareness อย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย โดยเน้นนโยบายเชิงรุกด้านการตลาด 360 องศา ด้วย Digital Marketing และการบริการหน้าร้าน พร้อมขยายสาขาเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายและปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ด้วยการตกแต่งร้านให้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

  • Phase 2 : ภายในระยะเวลา 12  – 24 เดือน ตั้งเป้าหมายสร้างพันธมิตรใหม่ที่มีศักยภาพสูงในตลาดต่างประเทศทั้งที่มีตัวแทนจำหน่ายเดิม และในประเทศที่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่าย โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชีย อาศัยประสบการณ์จากการเป็นผู้นำเข้าที่ร่วมทำงานกับเจ้าของแบรนด์ดังระดับโลก สะท้อนแนวทางการทำงานในรูปแบบมาตราฐานเดียวทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การวางจำหน่ายสินค้าใหม่ การกำหนดกรอบราคาขาย การตกแต่งร้าน การวางกลยุทธ์ visual merchandizing และการกำหนดนโยบายการตลาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ในระยะยาว และเพิ่มมูลค่าการส่งออก ลดทอนการพึ่งพิงรายได้จากการขายในประเทศ โดยบริษัทมีความหวังจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกจากเดิม 20% ในปัจจุบันเป็น 40% ภายใน 2 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา