ภายในงาน SingularityU Thailand Summit 2018 ได้รวบรวมกูรูจากหลายด้าน พร้อมกับแชร์ประสบการณ์ ความคิดเห็น และนี่คือบทสรุป 6 บทเรียนเพื่อมาประยุกต์ใช้ในการอยู่รอดในยุคปัจจุบัน
งาน SingularityU Thailand Summit 2018 จัดขึ้นโดย บริษัท เอกซ์โพเนนเชียล วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมส่วนรวม
โดยเน้นให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์ จัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อให้เกิดการพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก Exponential Technology ซึ่งจะมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม และชุมชน
“เราจะตัดสินอนาคตจากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” เจฟฟรีย์ โรเจอร์ส ผู้อำนวยการ Faculty Development จาก Singularity University ประกาศในวันแรกของงาน SingularityU Thailand Summit ถือได้ว่าเป็นประโยคที่ค้านกับทุกสิ่งที่เรารู้มา ไม่ว่าจะเป็นหลักเหตุและผล ที่มาและผลที่ได้ หรือแม้แต่ความเป็นไปของโลก
การบอกว่าโลกหมุนเร็วนั้นดูจะเป็นคำกล่าวที่น้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก “สมองของเราไม่ได้ถูกสร้างให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงแบบความเร็วสูงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้” ปีเตอร์ ไดมอนดิส หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธาน Singularity University กล่าว “ซึ่งนั่นนำไปสู่ความไม่เข้าใจ เพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่การเติบโตแบบทีละก้าวอีกต่อไปแล้ว”
เพื่อนำทุกคนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ไปด้วยกัน นี่คือ 6 สิ่งที่เหล่าผู้นำอุตสาหกรรม นักประดิษฐ์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ได้บอกไว้ในงาน SingularityU Thailand Summit 2018
- Moore’s law: ทุนถูก ทั่วถึง เท่าเทียม
จากการกำเนิดของอินเทอร์เน็ต สู่ DNA Sequencing ในราคาที่คุณเอื้อมถึงได้ เทคโนโลยีได้เข้าสู่ชีวิตของเราด้วยราคาที่ถูกลงและรวดเร็วมากขึ้น โดยมีกฎของมัวร์ส (Moore’s Law) ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายปรากฎการณ์นี้ นั่นคือ ยิ่งคนใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาของเทคโนโลยียิ่งถูกลงเท่านั้น (Demonetization)
“อนาคตของ AI คือ อนาคตของการที่คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกัน (Democratization) คือ อนาคตที่ทุกคนจะมี AI อันทรงพลังอยู่ในกระเป๋า” ราเมซ นาม แห่ง Energy and Environmental Systems Faculty ของ Singularity University กล่าว
- Innovation ≠ Disruption: สองคำฮิตที่ใช้ผิดมาตลอด
ถ้าช่วงนี้คุณได้อ่านบทความหรือติดตามข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม จะหนีไม่พ้นสองคำฮิตของชั่วโมงนี้ “Innovation และ Disruption” ที่หลายๆ คนมักใช้เกี่ยวเนื่อง หรือสลับกันไปมา และก็ดูจะเป็นเหตุเป็นผลกันดี เพราะเมื่อสร้างนวัตกรรม (Innovation) ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง (Disruption) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามสองคำนี้กลับมีความหมายต่างกันอย่างสุดขั้ว
“Innovation คือ การทำสิ่งเดิมให้ดีขึ้นมานิดหน่อย” โดยมีตัวอย่างงานของศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับแวน โก๊ะห์ “แต่ Disruption หมายถึง การลบสิ่งเดิมออกจากหน้าประวัติศาสตร์”
ความหมายนี้ดูจะเป็นจริงในตัวอย่างอื่นๆ เช่น เรือขนส่งอัดขี้เลื่อยของเฟรดริก ทิวดอร์ ว่าเป็น “นวัตกรรม” ที่ให้สามารถขนส่งน้ำแข็งในระยะไกลได้ ในขณะที่การล่มสลายของเส้นทางการค้าเครื่องเทศ (Spice trade) จากการเข้ามาของเส้นทางการค้าน้ำแข็ง (Ice trade) ถือได้ว่าเป็น Disruption เนื่องจากน้ำแข็งได้กลายเป็นวิธีการถนอมอาหารที่ดีกว่าการใช้เครื่องเทศ
- คุณคาดเดาอะไรไม่ได้เลย
“บริษัทที่ Disruptive ที่สุดไม่เคยเปลี่ยนแปลงสนามของตัวเอง พวกเขาไปเปลี่ยนแปลงสนามของคนอื่นทั้งนั้น”
หนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดคือ กรณีของ Apple บริษัทคอมพิวเตอร์ที่พลิกโฉมวงการดนตรี ด้วยการนำ iPod และ iTunes เข้าตลาด Apple ได้พลิกโฉมการฟังเพลงของผู้คน จากโซนี่ วอล์คแมนที่ทำให้คนฟังเทปหรือซีดีได้ทุกที่ สู่ iPod ที่สามารถเก็บไฟล์เพลงได้หลายร้อยเพลงในเครื่องเล่นที่เล็กกว่า
นอกจากนี้ บริการซื้อดนตรีเป็นรายเพลงยังเป็นส่วนหนึ่งในการนำอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค Music streaming อีกด้วย โดยปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งที่สตีเวน จอห์นสัน นักทฤษฎีสื่อ ได้เรียกว่า “โอกาสจากจุดร่วม” (The adjacent possible) โดยกล่าวถึง “เงาของความเป็นไปได้ในอนาคตที่ซ้อนทับกับขอบเขตของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นแผนที่ของความเป็นไปได้ทั้งหมดที่สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถพลิกโฉมตนเองได้”
- AI ไม่ได้ฆ่าใคร ระบบที่ไม่เปลี่ยนไปต่างหาก คือ ผู้ร้ายตัวจริง
ในวงสนทนาเรื่องเทคโนโลยีและความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด หนึ่งในคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “AI จะมาแย่งงานเราหรือไม่” ในขณะที่คำตอบของกลุ่มนักคิดก้าวหน้าอาจพอเดาได้ แต่เหตุผลของพวกเขาจะทำให้คุณแปลกใจ เพราะ “งานของคุณต่างหากที่กำลังฆ่าตัวเอง” หรือถ้าพูดให้ชัด คือ ระบบขั้นตอนต่างๆ คือสิ่งที่ทำให้งานกำลังตายจากไป
“หากคุณต้องการหยุดนวัตกรรม จงตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับมันขึ้นมา” และนี่ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยได้เทียบระหว่างจีนและยุโรปในยุคโบราณ เมื่อครั้งที่จีนเป็นสังคมที่ยึดกฎเกณฑ์และระเบียบราชการเคร่งครัด ในขณะที่ยุโรปยังเป็นการรวมกลุ่มแบบกระจัดกระจายของชาติและวัฒนธรรมต่างๆ โดยจากกลุ่มความคิดที่กระจัดกระจายนี้เอง ที่ทำให้ยุโรปก้าวขึ้นนำ ด้วยการผสมผสานระหว่างแนวคิดที่ต่างกัน ทำให้สามารถเกิดวงจรของการทดลองอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา
ในสภาวะเศรษฐกิจใหม่ อำนาจในการดำเนินการและตัดสินใจด้วยตนเอง (Autonomy) ได้กลายเป็นแนวคิดใหม่ของวัฒนธรรมการทำงาน โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์สูง การมอบอำนาจและพื้นที่สำหรับการทดลองที่ปลอดภัยได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับหลายบริษัทในการปรับโมเดลธุรกิจไปสู่การส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในปัจจุบัน
- ไม่มีเทคโนโลยีใดที่โดดเดี่ยว: การผสมผสานเทคโนโลยีและ Network Effects
ในขณะที่อำนาจการตัดสินใจ (Autonomy) เป็นสิ่งจำเป็นในการฟูมฟักนวัตกรรม การผสมผสานข้ามสายพันธุ์ระหว่างเทคโนโลยีต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ให้ตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้ “สมัยก่อน เราเคยนำไฟฟ้าไปรวมกับสิ่งต่างๆ แล้วเรียกมันว่านวัตกรรม” โดยอ้างถึงสิ่งต่างๆ จากที่โกนหนวดไฟฟ้า ถึงรถพลังงานไฟฟ้า “ตอนนี้ มันคือ AI”
แม้ว่านั่นอาจเป็นจริง จากการที่ AI ได้มาสู่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างๆ ตั้งแต่รถเทสลาที่มีเทคโนโลยี Machine learning ไปจนถึงเหล่าผู้ช่วย AI กระนั้น AI ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง หรือตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจเทียม ที่สามารถเลียนแบบจังหวะการสูบฉีดเลือดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ ผู้ผลิตวัสดุภัณฑ์ และเทคโนโลยี 3D Printing อันเป็นตัวอย่างของการรวมตัวระหว่างความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสังคมของมนุษย์ได้
ในขณะเดียวกัน สำหรับเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ Network Effects ก็ได้กลายเป็นปัจจัยชี้วัดชะตากรรมของธุรกิจ โดยได้ยกตัวอย่างธุรกิจ เช่น Uber และ AirBnB ในฐานะตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ “คุณจะลอกแอพมาก็ได้ แต่คุณลอกเครือข่ายคนใช้งานไม่ได้”
- เทคโนโลยีตอนนี้ห่วยสุดแล้ว
เราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด และแย่ที่สุดในตอนนี้ ดังที่เหล่านักประดิษฐ์เห็นตรงกัน แม้กระทั่งเทคโนโลยีที่ดีและก้าวหน้าที่สุดในตอนนี้ จะกลายเป็นเวอร์ชั่นที่ห่วยที่สุดของมันในเร็วๆ นี้
“Disruption ในช่วงแรกมักมาในรูปแบบที่แย่กว่าสิ่งที่มีอยู่เสมอ แต่ตอนที่ไม่มีใครมองนี่แหละ ที่มันจะเริ่มเติบโตขึ้น”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา