เด็กจบใหม่ควรอ่าน 6 ทักษะพื้นฐานในชีวิตไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน แต่ถ้าอยากได้งานต้องมี

แม้ว่าในช่วงนี้บริษัทต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน จนมีข่าวปลดพนักงานอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังมีบางบริษัทเหมือนกันที่เปิดรับพนักงานใหม่อยู่เรื่อยๆ

ภาพจาก Shutterstock

แต่ด้วยบริษัทที่เปิดรับพนักงานใหม่มีจำนวนน้อยลง แต่คนที่ต้องการได้งานมีมากขึ้นทั้งนักศึกษาจบใหม่ และคนที่กำลังตกงานอยากได้งานใหม่ ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะได้งานลดลง จากอัตราการแข็งขันที่เพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วบริษัทหลายๆ แห่งที่จ้างตัวแทนในการจัดหาพนักงาน รวมถึงเว็บไซต์สมัครงานต่างๆ จะใช้การคัดเลือกใบสมัครจากคีเวิร์ดต่างๆ จากคำถามหรือในเรซูเม่

6 ลักษณะนิสัยจำเป็นต้องมีถ้าอยากได้งาน

Harqen บริษัทที่เป็นตัวแทนจัดหางานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมฐานข้อมูลจากการสัมภาษณ์งานกว่า 5 ล้านครั้ง โดยสามารถรวบรวมคุณสมบัติที่บริษัทต่างๆ ต้องการจากผู้สมัครแต่ละคน จำนวน 6 ข้อดังนี้

ภาพจาก Shutterstock

ความมั่นใจเป็นสิ่งแรกที่ต้องมี

ความมั่นใจเป็นคุณสมบัติประการแรกที่บริษัทต้องการจากผู้สมัครแต่ละคน ดังนั้นหากคุณเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองคงเป็นเรื่องยากที่จะได้งาน ซึ่ง Harqen เปิดเผยว่าในฐานะตัวแทนจัดหางานมีการใช้เทคโนโลยี Machine Learning ในการตรวจจับคีเวิร์ดที่อยู่ในเรซูเม่ หรือแบบทดสอบที่ผู้สมัครแต่ละคนส่งมา

โดยการวัดว่าผู้สมัครมีความมั่นใจหรือไม่ ทำได้ตรวจจับคีเวิร์ดที่แสดงถึงการบรรลุ หรือทำอะไรบางอย่างได้ประสบความสำเร็จ และแสดงให้เห็นถึงความกล้าในการลงมือทำ เช่น คำว่า สร้างสรรค์ ทำให้เกิด ได้รับผล ทำให้ และนำไปใช้เป็นต้น

ความกระตือรือร้น

นอกจากความมั่นใจแล้ว ผู้สมัครต้องมีความกระตือรือร้นในการทำงาน โดยภาษาในเรซูเม่ หรือแบบทดสอบก็สามารถวัดระดับความกระตือรือร้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเลือกใช้คำที่มีความหมายในแง่บวก ไม่ส่งความรู้สึกในแง่ลบถึงผู้อ่าน โดยอาจเลือกใช้คำที่แสดงออกถึงการทำงานเป็นทีม และความสัมพันธ์ในการทำงานด้วยก็ได้

ความสามารถในการโน้มน้าวคน

ความสามารถในการโน้มน้าวคน หรือในอีกทางหนึ่งก็คือความสามารถในการสร้างอิทธิพลทางความคิดเหนือผู้อื่น ซึ่งจะมีความสำคัญกับคนที่ต้องใช้การสื่อสารมากๆ เพราะจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้คนอื่นๆ คิดตามได้ โดย Harqen แนะนำว่าควรเลือกใช้คำสรรพนามที่กล่าวถึงคนอื่นๆ มีความเป็นกลุ่มคน มากกว่าจะเลือกใช้คำที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ผม ดิฉัน ข้าพเจ้า

ความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ไม่ได้หมายถึงการลงลึกทุกๆ รายละเอียดในงานหรือโปรเจคที่ทำอยู่ แต่หมายถึงความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเจออยู่ในขณะนั้นได้ และหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการคิดนานๆ

แต่บางครั้งความสามารถในการคิดวิเคราะห์อาจไม่สามารถใช้ Machine Learning ในการตรวจจับคำที่เป็นคีเวิร์ดต่างๆ ได้ แต่ต้องใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยเราควรแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยการตอบคำถามเน้นการเชื่อมโยงเข้าสู่สถานการณ์ที่ผู้สัมภาษณ์อาจยกตัวอย่างขึ้นมา และต้องยกเหตุผลประกอบให้เห็นภาพชัดเจน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการตอบในเชิงแสดงข้อมูลเฉยๆ แต่ขาดการเชื่อมโยงสู่สถานการณ์

ภาพจาก Unsplash โดย William Iven

การแก้ไขปัญหา

อีกความสามารถหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่ผู้ประกอบการใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกพนักงาน คือความสามารถในการแก้ไขปัญหา เพราะผู้ประกอบการต้องการจ้างพนักงานมาช่วยแก้ไขปัญหาของบริษัท และทำให้บริษัทเกิดความก้าวหน้าต่อไป

คำถามที่จะพบบ่อยๆ คือ “ในชีวิตของคุณเคยต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขปัญหาที่ไม่คาดคิดหรือไม่ ถ้าเคย คุณแก้ปัญหาเรื่องนั้นอย่างไร และผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร” ซึ่งคำตอบที่ดีของคำถามนี้ควรเป็นการแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด และเห็นภาพมากที่สุด โดยการวัดความสามารถในการแก้ปัญหาอาจคิดเป็น 10% ของคะแนนทั้งหมดในการสัมภาษณ์งานเลยก็ได้

ความตั้งใจที่อยากจะทำงานนี้จริงๆ

นอกเหนือจากความสามารถทั้ง 5 ข้อข้างต้นแล้ว ปัจจัยสุดท้ายที่จะเป็นตัวตัดสินสำคัญว่าคุณจะได้งานหรือไม่ คือการพยายามแสดงให้เห็นว่าคุณอยากทำงานนี้จริงๆ โดยผู้สัมภาษณ์จะถามคำถามง่ายๆ แต่มีความสำคัญคือ “ทำไมคุณถึงอยากทำงานกับที่นี่” ซึ่งคำถามนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่เป็นคำถามที่ช่วยพิสูจน์ว่าคุณเตรียมตัวหาข้อมูลเกี่ยวกับงานและบริษัทที่มาสัมภาษณ์งานด้วยหรือไม่

ที่มา – Fastcompany

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา