เศรษฐาชี้แจง 5 ข้อสงสัย-ความเป็นไปได้ Digital Wallet ย้ำคุยหลายฝ่ายกรณีไม่ให้ ‘คนรวย’

เศรษฐา ชี้แจง 5 ข้อสงสัยและความเป็นไปได้ของโครงการ Digital Wallet เชื่อ พรบ.เงินกู้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ! ย้ำกรณีไม่ให้คนรวย ปรึกษาสภาพัฒน์-แบงก์ชาติแล้ว เผยเริ่มตรวจสอบเงินในบัญชีเพื่อรับเงินตั้งแต่ ก.ย. 66 และ หากเงินเกษียณอยู่ในบัญชีเงินฝากถือว่าไม่ได้รับสิทธิเงิน 10,000 บาทด้วย

ล่าสุดข้อมูลจากรัฐบาลไทยเปิดเผยว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ให้สิทธิในวงเงิน 10,000 บาท เพิ่มเติมใน 5 ข้อที่ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข้อสงสัย ความเป็นไปได้ และเหตุผลของเงื่อนไขในโครงการ ได้แก่ 

1) กรณีความเป็นไปได้ที่โครงการ Digital Wallet จะไม่เกิดขึ้นจริง 

จากกรณีที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า โครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ผ่านสภา (ระบุเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขัดต่อ ม. 140 ของรัฐธรรมนูญ และ ม. 53 ของพ.ร.ย. วินัยการเงินการคลัง, รวมถึงอาจไม่สามารถใช้ช่องทางธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินกู้ให้รัฐบาลได้)

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่า มั่นใจว่าจำนวนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ถือว่ามั่นคงและเชื่อว่าผ่านได้ ขณะที่ระบุเหตุผลที่โครงการล่าช้าจากที่ประกาศไว้ เนื่องจากเพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด 

2) โครงการ Digital Wallet จะมีโอกาสสะดุดหรือไม่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวกและเราสามารถทำโครงการนี้ได้ ทั้งนี้ ยังย้ำถึงประเด็นที่รัฐบาลเชื่อว่าไทยอยู่ในวิกฤต (เศรษฐกิจโตต่ำ) ที่ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ

3) กรณีประชาชนบางส่วนผิดหวังกับเกณฑ์เพื่อรับเงิน Digital Wallet (กรณีเงื่อนไขการรับเงินคือ ต้องมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท และมีรายรับไม่เกิน 70,000 บาท) 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจ แต่ต้องรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นชัดเจนไม่ให้แจกคนรวย และมีการสอบถามถึงกำหนดเกณฑ์คนรวย โดยจะต้องกำหนดตัวเลขให้ชัดเมื่อถึงจุดหนึ่ง 

ทั้งนี้ คนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท และเงินเก็บเกิน 500,000 บาท รัฐบาลจะออกโครงการคืนภาษี เงื่อนไขว่า หากใช้จ่ายตามเกณฑ์จะได้เงินคืนประมาณ 10,000 บาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการ Digital Wallet 

นอกจากนี้โครงการระยะยาวในกองทุนส่งเสริมการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมใหม่เป้าหมาย เช่น รถ EV ไมโครชิพ จำนวน 100,000 ล้านบาทที่จะเริ่มใช้ในเดือน มิ.ย. 2567 ที่ต้องทำเร่งด่วน

4) กรณีประชาชนมีข้อสงสัยว่าเงินฝาก 5 แสนบาท รวมไปถึงสลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณด้วยหรือไม่ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวมเพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณถ้าไปอยู่ในบัญชีก็นับรวมด้วย ส่วนเงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ โดยจะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าเมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เติมเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีราว 15% ไม่มีการใช้จ่ายเนื่องจากคนไม่ได้ใช้งาน

5) กรณีประชาชนไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการ Digital Wallet 

นายกฯ กล่าวว่า “ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็นส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้บอกเองว่า นายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการฯบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่มแต่ถ้าจีดีพีมากกว่า หนี้จะลดลง”

ภาพและเนื้อหาจาก Thaigov

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง