ปี 2020 (2563) หลายประเทศปักหมุดเปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ มี 4 ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและหัวหอกอย่างชัดเจน ได้แก่ จีน, อเมริกา, ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งตามข้อมูลที่เปิดเผย ทั้ง 4 ประเทศนี้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ทดสอบทดลอง และให้บริการ 5G อยู่ ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 3500 MHz
ส่วนประเทศไทยที่กำลังจะประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ประมาณเดือน ก.พ. 63 แบบ Multiband ประกอบด้วยคลื่นความถี่ 700, 1800 และ 2600 MHz (ส่วนคลื่น 26 GHz ยังไม่สรุปออกมาชัดเจน) แต่แน่นอนว่า คลื่นหลักคือ 2600 MHz
ทำไมไม่มีคลื่นความถี่ 3500 MHz ออกมาด้วย ทางดีแทค โดย มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำการศึกษาและสรุปเรื่องนี้เพื่อเสนอต่อ กสทช. ดังนี้
- ตามหลักการ 5G จะให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต้องมีขนาดคลื่นความถี่อย่างน้อย 100 MHz ซึ่งคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่นำมาประมูลครั้งนี้ มีขนาด 190 MHz ซึ่งอาจจะทำให้บริการ 5G ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ดังนั้น การผนวกเอาคลื่นความถี่ 3500 MHz ซึ่งมีขนาดคลื่น 300 MHz จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หลายสิบประเทศทั่วโลกทดสอบทดลอง รวมถึงให้บริการ 5G ด้วยคลื่นความถี่ 3500 MHz กล่าวได้ว่า มีความแพร่หลายในการใช้งาน
- ด้วยเหตุนี้ทำให้คลื่นความถี่ 3500 MHz ได้เปรียบในแง่ต้นทุนต่ำกว่า เพราะมีผู้ใช้ทั่วโลก ทั้งในด้านอุปกรณ์โครงข่าย (Network) และอุปกรณ์ผู้ใช้ (Device) ขณะที่คลื่นความถี่ 2600 MHz มีการใช้งาน 2 แห่งเท่านั้น คือ China Mobile ที่ประเทศจีน และ Sprint ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
- อุปสรรคของการนำคลื่นความถี่ 3500 MHz มาใช้คือ ปัจจุบัน คลื่นถูกใช้โดย ไทยคม ตามสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียว ซึ่งสัญญาสัมปทานจะหมดอายุกลางปี 2564 ทางดีแทค จึงเสนอว่า ควรนำคลื่นความถี่มาประมูลล่วงหน้าได้เลย หรือ อย่างน้อยควรมีการหารือและกำหนดว่าจะประมูลเมื่อไร และมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ผู้ลงทุนจะได้วางแผนล่วงหน้าได้ทันที
ประเด็นต่อมาคือ เรื่องราคาเริ่มต้น หรือ Reserve Price เป็นราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ ทั้ง 700, 1800, 2600 MHz และอาจรวมถึง 26 GHz ด้วย
- จากข้อมูลที่ดีแทครวบรวมมาทั่วโลก พบว่า ราคาเริ่มต้นคลื่นความถี่ 700 MHz อยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ของไทยสูงติดอันดับ 4 ของโลก ส่วนราคาเริ่มต้นคลื่นความถี่ 1800 MHz อยู่ที่ 12,486 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกนำที่สองห่างๆ เลย
- ขณะที่ คลื่นความถี่ 2600 MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,862 ล้านบาทเป็นอันดับ 3 (ราคาจบอาจสูงกว่านี้) ปิดท้ายด้วย 26 GHz ราคาเริ่มต้นที่ 423 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
- เรื่องราคาเร่ิมต้นสูง ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงข่ายให้บริการ รวมถึงรัฐบาลอาจต้องย้อนกลับมาถามว่า จุดประสงค์ของ 5G ในประเทศไทยคืออะไร เพื่อจัดให้มีบริการ 5G เกิดขึ้น ให้เกิดประโยชน์ เกิดการใช้งาน หรือเพื่อหารายได้เข้าประเทศ
- กรณีในต่างประเทศ จีน และ ญี่ปุ่น ให้คลื่นความถี่กับผู้ให้บริการไปทดสอบทดลองใช้งานได้เลย แต่สำหรับประเทศไทยไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ กสทช. อาจทบทวนราคาเริ่มต้นใหม่
ดีแทค เสนอเพิ่มเติมว่า ควรวางหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ให้รอบคอบและรัดกุมมากขึ้น เช่น การวางเงินประกันการประมูลควรมีมูลค่าที่สูงมากพอ (ปัจจุบันกำหนดไว้ 10% ถือว่าต่ำมาก) เพื่อป้องกันปัญหาผู้ชนะทิ้งใบอนุญาต ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ประเทศเสียโอกาสและเสียประโยชน์ไปมหาศาล
นอกจากนี้ ควรออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz ใหม่ จากปัจจุบันกำหนดให้ประมูล 2 รอบ คือ ประมูลสิทธิ์การได้ Slot (คลื่น 2600 MHz มีขนาด 190 MHz แบ่งเป็น 19 Slot Slot ละ 10 MHz) จากนั้นต้องไปเลือกอีกว่าจะได้ Slot ตรงไหน
ปัญหาคือ แต่ละ Slot ของคลื่นความถี่ 2600 MHz มีประสิทธิภาพและคุณภาพไม่เท่ากัน มีบางส่วนถูกใช้งานด้านความมั่นคงอยู่ มีบางช่วงมีการรบกวนจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ทางออกที่น่าจะดีกว่า คือ กำหนดให้ตอนประมูลเลือก Slot และตำแหน่งคลื่นความถี่เพื่อประมูลได้เลย (เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา) ผู้ประมูลจะได้ประเมินได้ว่า ควรเลือก Slot ไหน ต้องเตรียมแก้ไขปัญหาในอนาคตอย่างไร
สรุป
ดีแทค เชื่อว่า กสทช. จะรับฟังข้อเสนอแนะและปรับปรุง เพราะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ดีแทค ซึ่งหลายองค์กรเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คลื่น 3500 MHz ควรถูกนำมาประมูลล่วงหน้าได้ ถ้าทำหลักเกณฑ์ไม่ทัน อาจเลื่นอการประมูลออกไปก่อนสัก 2-3 เดือน ถือว่าไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใด
คำถามแรกที่ต้องทบทวนให้ดีคือ ไทย ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี ในขณะที่มาตรฐานระดับโลกยังไม่ฟันธง ว่าจะใช้คลื่นความถี่ใดเป็นหลัก (แต่แนวโน้มดูแล้วจะเป็น 3500 MHz) เราจำเป็นหรือไม่ต้องรีบร้อนประมูลก่อนประเทศอื่น ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศจะเปิดบริการ 5G ล้ำโลกในช่วงงาน Olympic 2020 ปลายเดือน ก.ค. 63
ความล้มเหลวของการประมูล 5G จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีคนเข้าร่วมการประมูล หรือแม้ประมูลสำเร็จ แต่ต้นทุนของ 5G ประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ลดความสามารถทางการแข่งขัน หรือ คุณภาพของบริการ 5G ไม่ดีพอ คำถามคือ เราต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้นหรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา