ไคลี่ อึ้ง กับฟองสบู่ Startup ไทย และความจำเป็นของตลาดหลักทรัพย์

เมื่อ ไคลี่ อึ้ง (Khailee Ng) ผู้ร่วมก่อตั้ง 500 Startups หนึ่งใน VC ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาประเทศไทย ยิ่งช่วง Startup ไทยฝุ่นตลบแบบนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่ายักษ์ใหญ่มองไทยอย่างไร วันนี้ Brand Inside ได้รวบรวมความเห็นต่างๆ ไว้แล้ว ลองมาติดตามกัน

1477823268861
ไคลี่ อึ้ง ผู้ร่วมก่อตั้ง 500 Startups ภายในงาน Creativities Unfold 2016 : EXIT สู่ความจริงรูปแบบใหม่ ที่ TCDC

ฟองสบู่คงอีกไกล แต่ลงทุนมั่วๆ คงไม่ใช่

ไคลี่ บอกว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะเกิดฟองสบู่ Startup เพราะหลายประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมา Disrupt (ทำลาย) ธุรกิจเก่าๆ ต่างกับภูมิภาคอื่นที่เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และมีนักลงทุนหอบเงินเข้าไปเสี่ยงกับ Startup เหล่านั้นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนก็สำเร็จ แต่บางส่วนก็ล้มเหลว ผ่านการปั่นมูลค่าของ Startup เหล่านั้นมากเกินไป

“เข้าใจว่า VC หรือ Angel ที่เพิ่งเข้ามาระดมทุนในกลุ่ม Startup จะลงทุนตามบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใส่เงินกับสตาร์ทอัพเหล่านั้นมากๆ เพราะเชื่อใจในประสบการณ์ของบริษัทเหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วก็มีบางเจ้าพลาด และทำให้ VC กับ Angel ย่อยๆ ล้มหายตายจากผ่านพิษฟองสบู่ ที่มีปัจจัยสำคัญคือการปั่น Valuation จนเกินไป ดังนั้นการลงทุนใน Startup คงมั่วไปลงตามรายใหญ่ไม่ได้ ต้องประเมิณทั้งตัวเอง และบริษัทที่ลงทุน”

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ตลาดทุน Startup ก็ดี แต่ถ้าล่มก็แค่ตัวอย่างที่แย่

ขณะเดียวกันหากประเทศไทยตั้งตลาดหลักทรัพย์เฉพาะธุรกิจ Startup เข้ามาระดมทุนได้สำเร็จ ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะ Startup ไทยก็จะระดมทุนได้ง่ายขึ้น และเติบโตได้เร็วกว่าเดิม แต่หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้ตลาดทุนนี้ไปได้สวย คือต้องคัดเลือก Startup ที่เข้ามาในตลาดทุนนี้อย่างเข้มข้น เพื่อการันตีนักลงทุน และทำให้ตลาดทุนนี้มีคุณภาพ ที่สำคัญหากประเทศไทยประสบความสำเร็จเรื่องนี้ ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในระดับโลกด้วย

“โอกาสที่ตลาดทุนนี้สำเร็จก็มี แต่โอกาสพลาดก็เยอะ และถ้าตลาดนี้ล่ม ก็คงเป็นตัวอย่างที่แย่ในระดับโลกเช่นกัน เพราะ หลายๆ ประเทศก็ยังไม่ตั้งตลาดหลักทรัพย์เพื่อ Startup โดยเฉพาะ นอกจากนี้การที่รัฐบาลไทยประกาศสนับสนุนเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรม Startup ก็ไม่ควรมองแค่ในประเทศ แต่ต้องลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน เพราะช่วยให้ระบบนิเวศของ Startup ไทยดีขึ้น”

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ไคลี่ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในแพลตฟอร์มเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะประเทศไทยมีการใช้บริการนี้จำนวนมาก ดังนั้นถ้าโซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านั้นเติบโต ก็ช่วยหนุนให้ Startup ไทยสร้างบริการที่เกี่ยวเนื้องกับเรื่องนี้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคได้

business-man-1176006_1280
ภาพจาก pixabay.com

Success ไม่เท่ากับ Exit มองถึง Unicorn น่าจะดีกว่า

ไคลี่ มองว่า ความสำเร็จในวงการสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่ Exit หรือการขายกิจการ ไม่ก็เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะการ Exit แบบ Startup ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และสามารถเติบโตได้เป็นเท่าตัว เพราะหาก Exit แล้วได้เงินกลับมาเพียงเล็กน้อย การเร่งต่อยอดธุรกิจ และระดมทุนต่อไปจนถึงระดับ Unicorn น่าจะเป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า สำเร็จ ในวงการ Startup มากกว่า

“ผมลงทุนมาเยอะ เห็นการเปลี่ยนแปลงมาก็มาก บางบริษัทไม่มีทุนต่อ ก็ล้มหายตายจากกันไป และความท้าทายที่สุดในตอนนี้คือ การรักษา Talent หรือบุคคลที่มีความสามารถไว้กับบริษัทให้ได้นานที่สุด เพราะหนึ่งในการไป Unicorn ได้ ทีมต้องแน่น ดังนั้นการเรียนรู้ประสบการณ์เรื่องบริหารจัดการคนของ Entrepreneur ก็จำเป็น และเรื่อง Leader ที่ดี ก็ต้องเรียนรู้เอาไว้ เพื่อสร้างบริษัทให้แข็งแกร่ง”

khailee-ng-1

สรุป

เมื่ออ่านความคิดของ ไคลี่ อึ้ง จะรู้ว่า Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่จะโตอย่างไรนั้น ฝั่ง Startup เองก็ต้องเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการ และฝันให้ไกล ส่วนฝั่งนักลงทุนเอง ก็ไม่ควรลงทุนตามน้ำไปกับบริษัทใหญ่ เพื่อหวังผลกำไรที่ได้กลับมา

ที่สำคัญถ้าเจาะแค่ประเทศไทย ช่องว่างที่ Startup จะส่งบริการใหม่มาตอบโจทย์ก็ยังมี เพียงแต่ต้องจับจุดพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ และต้องอาศัยทีมงานที่แข็งแกร่งในการสร้างธุรกิจให้เติบโต และก้าวสู่ Unicorn ได้เหมือนรุ่นพี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา