สถาบันป๋วยฯ ชี้ผู้ถือหุ้น 500 คน ครองหุ้น 36% ของภาคธุรกิจไทยทั้งหมด แนะเพิ่มการแข่งขัน

ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้น 500 คน มีสัดส่วนถึง 36% ของภาคธุรกิจไทยทั้งหมด และได้แนะนำให้เพิ่มการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาด

Bangkok Thailand Night
ภาพจาก Unsplash

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยว่า จากการวิจัยข้อมูลผู้ถือหุ้นและโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทในประเทศไทยกว่า 3,300,000 รายการ จากฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ พบว่าภาคธุรกิจไทยมีกลุ่มทุนจำนวน 9,068 กลุ่ม และ 13 กลุ่มทุนที่มีบริษัทในกลุ่มมากกว่า 100 บริษัท

การวิจัยครั้งนี้ได้แสดงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของกลุ่มทุนนั้นมีบทบาทและความสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกัน ฯลฯ ซึ่งในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนกระจุกตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ และการค้าส่งเครื่องดื่ม

ในประเทศไทยนั้น กฤษฎ์เลิศ ได้กล่าวว่า “ในปี 2560 ผู้ถือหุ้น 500 คน มีสัดส่วน 30% ในกำไรรวมของภาคธุรกิจไทย โดยสัดส่วนนี้คิดเป็นกำไรเฉลี่ย 3,098 ล้านบาทต่อคน นอกจากนี้ มูลค่ารวม (ทางบัญชี) ของส่วนผู้ถือหุ้น (Total Equities) สูงสุด 500 คน มีสัดส่วนถึง 36% ของภาคธุรกิจทั้งหมด”

สำหรับเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนเริ่มพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงความพยายามที่จะให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และรวมไปถึงเป็นนโยบายทางการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาในการลดการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยี ฯลฯ

ขณะที่ SCB EIC ได้ยกปัญหาของเศรษฐกิจไทยว่า สาเหตุหนึ่งของอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและการลงทุนในไทยเกิดจากระระบบ Connection มักทำให้เกิดการผูกขาดตลาด เช่น การกีดกันผู้เล่นในธุรกิจ และทำให้ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ จึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และนอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่น ส่งผลต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น

การกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของย่อมมีผลต่อการกระจุกตัวของการผลิต การลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจโดยนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจเกิดผลกระทบทางลบต่อการจ้างงานและธุรกิจรายย่อยที่ต้องพึ่งพิงธุรกิจรายใหญ่ ซึ่ง กฤษฎ์เลิศ มองว่า การลดความเหลื่อมล้ำในด้านนี้ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนหรือแม้แต่เรื่องของนโยบายภาษี

กฤษฎ์เลิศ ได้เสนอนโยบายที่ควรจะเป็นคือ การส่งเสริมการแข่งขันเพื่อลดกำไรจากการผูกขาดไม่กี่ราย และเพิ่มการกระจายกำไรไปสู่ผู้ผลิตจำนวนหลายรายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดียังต้องคำนึงถึงการที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาจริงๆ ไม่ใช่กลุ่มธุรกิจรายเดิมๆ

ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ, การเงินธนาคาร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ