เปิดใจ พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ชายผู้ขาย มาม่า เกินครึ่งชีวิต พร้อมแผนธุรกิจหลังแบรนด์อายุครบ 50 ปี

มาม่า เป็น Generic Name หรือคำที่คนทั่วไปเรียกแทนสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาหลายสิบปี

หากนับถึงปี 2565 มาม่า ก็มีอายุแบรนด์ครบรอบ 50 ปี ถ้าเทียบกับอายุคนก็คงผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก

กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ มาม่า ต้องผ่านอะไรมาบ้าง การมีกลุ่มสหพัฒน์อยู่เบื้องหลังช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างไร

Brand Inside มีโอกาสรับฟังข้อมูลจาก พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ขับเคลื่อนแบรนด์ มาม่า มาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนี้

มาม่า

มาม่า เติบโตได้ เพราะมีพาร์ตเนอร์ที่ดี

พิพัฒ เล่าให้ฟังว่า บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เกิดมาในเครือสหพัฒน์ และทางเครือสหพัฒน์เป็นพี่เลี้ยงที่ดีมาโดยตลอด ไล่ตั้งแต่การเข้ามาช่วยออกแบบสินค้าของ เทียม โชควัฒนา จนถึงความเชี่ยวชาญในการขาย และกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ รวมถึงความช่วยเหลือในแง่มุมอื่น

“กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ มาม่า เผชิญวิกฤตมากมาย แต่เราก็ผ่านมันมาโดยได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะเราเน้นไม่ลงทุนเกินตัว เมื่อผนวกกับการมีเครือสหพัฒน์เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี ก็ไม่ยากที่จะประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตเหล่านั้น ส่วนก้าวต่อไปของเราจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องดูว่าทีมงานรุ่นใหม่ แต่ที่แน่ ๆ พาร์ตเนอร์ที่ดียังสำคัญเสมอ”

ปัจจุบันการบริหารงานของ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ในฝั่ง มาม่า ได้ถูกส่งต่อให้รุ่นลูกของ พิพัฒ ในหลายฝ่าย เช่น กรรมการผู้อำนวยการ, ผู้ดูแลฝ่ายพัฒนาสินค้า รวมถึงผู้รับผิดชอบการทำตลาดใน และต่างประเทศ โดยมีเขาเป็นคุณพ่อ และกุนซือ ในเวลาเดียวกัน กับ สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นที่ปรึกษา

เทคโนโลยีที่ดี ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

นอกจาก พาร์ตเนอร์ มาม่า ยังเติบโตได้จากการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางอาหารมายกระดับสินค้าให้ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุค เช่น การเปลี่ยนจากซองกระดาษแก้วที่ต้นทุนสูง เป็นซองแบบ Metalize ที่ประหยัดต้นทุน แต่ป้องกันความชื้นได้ดี และการใช้ไอน้ำเข้ามามีส่วนในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

“เราปรับปรุงเทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหารมาโดยตลอด และอยากเล่าว่า หลายปีก่อนมีบริษัทฝรั่งมาเสนอวิธีลดต้นทุนให้ แถมไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ถ้า มาม่า ประหยัดไปได้เท่าไร เขาขอค่าบริการ 30% แล้วทำไมผมจะไม่ทำล่ะ ซึ่งระบบนี้ยังคงอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน”

ทั้งนี้ พิพัฒ เสริมว่า ในช่วงเริ่มต้น มาม่า จำหน่ายซองละ 2 บาท ปัจจุบันขายในราคา 6 บาท และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มราคา แม้ต้นทุนวัตถุดิบหลักเช่น น้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี จะมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกความอิ่มให้กับคนไทย และผู้บริโภคในตลาดโลก

เปลี่ยนจาก Volume Base เป็น Value Base

เมื่อ มาม่า ผ่านเส้นทางธุรกิจ 50 ปี การจะใช้กลยุทธ์เดิมต่อไปคงไม่ได้ทั้งหมด ทำให้หลังจากนี้จะเห็น มาม่าเปลี่ยนตัวเองมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์จาก Volume Base เป็น Value Base หรือจากเน้นจำหน่ายปริมาณมาก ๆ เพื่อสร้างรายได้ เป็นพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่ามากขึ้นในสายตาผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้ มาม่า พยายามเพิ่มสินค้าที่ใส่ความแปลกใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น Oriental Kitchen บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองใหญ่ที่ราคาสูงกว่าปกติ หรือในต่างประเทศมีการจำหน่าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสผักชี และเส้นพาสต้าออแกนิค เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นการนำสินค้าที่จำหน่ายในต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

“ค่าเฉลี่ยการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยอยู่ที่ 53.2 ซอง/คน/ปี เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ห่างจาก อันดับ 1 75 ซอง/คน/ปี ของเกาหลีใต้อยู่มาก ถ้าเราพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ก็มีโอกาสจูงใจผู้ซื้อได้” เพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัท และ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บมจ. สหพัฒนพิบูล และที่ปรึกษา TFMAMA กล่าว

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3,700 ล้านซอง ไม่หมู

ส่วนภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยอยู่ที่ 3,700 ล้านซอง/ปี โดย มาม่า ครองตลาดนี้อยู่ 50% ผ่านการจำหน่าย มาม่า แบบซองเป็นหลัก โดยเฉพาะรสชาติ ต้มยำกุ้ง และ หมูสับ แม้จะมีกระแสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาชิงการจับจ่ายของลูกค้า แต่ไม่ได้กระทบกับ มาม่า เท่าไรนัก

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลีซองละ 40-50 บาท พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยยินดีจ่ายเงินมากกว่าเดิมเพื่อซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงเป็นความท้าทายของ มาม่า มากกว่า ว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รูปแบบไหนมาจูงใจลูกค้าด้วยคุณค่าของสินค้าที่มากกว่าเดิม” พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ TFMAMA กล่าว

ล่าสุด มาม่า ทำแคมเปญครบรอบ 50 ปี ด้วยการนำรสชาติที่หายไปจากตลาด แต่ยังมีความต้องการอยู่มาขายใหม่ ในรูปแบบแพ็ค 3 รสชาติ จำกัดเวลา และจำกัดจำนวน พร้อมต่อยอดแนวคิดการออกแบบสินค้าในอนาคตด้วย 5 หลักการประกอบด้วย

  • อร่อย
  • ปลอดภัย
  • สะดวก
  • เก็บได้นาน
  • ประหยัด

ปี 2564 มาม่า ทำยอดขายที่ 14,710 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายในประเทศ 10,386 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,324 ล้านบาท โดยปี 2570 มาม่า ตั้งเป้ายอดขายรวม 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 11,000 ล้านบาท และต่างประเทศ 11,000 ล้านบาท

ข้อมูลเพิ่มเติม // ปัจจุบัน มาม่า มีโรงงานในต่างประเทศที่ ฮังการี เพื่อรุกตลาดยุโรป และเตรียมตั้งโรงงานในภูมิภาคอื่นเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสการขายในต่างประเทศ และ มาม่า มีธุรกิจร้าน ราเมง โคราคุเอ็น ถือเป็นการต่อยอดจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นราเมงปรุงสุกที่รับประทานในร้านอาหาร

อ้างอิง // ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์

อ่านข่าวเกี่ยวกับ มาม่า และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา