ANZ วิเคราะห์ 5 เรื่องสำคัญของเศรษฐกิจจีนปี 2021 ชี้เงินหยวนอาจลดบทบาทลงในยุค โจ ไบเดน

ANZ สถาบันการเงินจากออสเตรเลีย วิเคราะห์ถึง 5 เรื่องสำคัญที่จะมีบทบาทและอาจสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนได้ในปี 2021 ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน และถือเป็นความท้าทายของ สี จิ้นผิง ไม่น้อย

Shanghai China เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ภาพจาก Shutterstock

ANZ ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรวมถึงเศรษฐกิจของจีนในปี 2021 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนก็กำลังฟื้นตัวหลังจาก COVID-19 แพร่ระบาดในประเทศ ทำให้มีมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาจากทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของจีน ส่งผลทำให้ GDP ของจีนในปี 2020 ที่ผ่านมาเติบโตได้ถึง 2.3%

แต่สำหรับปี 2021 นี้ความท้าทายของจีนยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่ง Brand Inside สรุปจากบทวิเคราะห์ของ ANZ เกี่ยวกับความท้าทายดังกล่าว

เงินเฟ้อในจีน

ราคาอาหารในประเทศจีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินแร่ หรือราคาน้ำมันดิบ ก็มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในจีน ANZ คาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าในจีน PPI จะอยู่ที่ 2.5% นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าดัชนี PPI ของจีนมีความสัมพันธ์กันกับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ

ขณะเดียวกันบทวิเคราะห์ของ ANZ ยังชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในจีน ทำให้ราคาสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น และอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติมในเรื่องของช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้น้อย ทำให้ธนาคารกลางจีนอาจต้องมีนโยบายออกมาเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวลง

วัคซีน

หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความหวังให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้คือวัคซีน หลังจากที่บริษัทหลายๆ แห่งได้ประกาศผลการทดลองในระยะที่ 3 กับมนุษย์ และหลายวัคซีนมีการรายงานผลต่อต้าน COVID-19 เกิน 80% ทำให้ความคาดหวังที่ว่าการกระจายวัคซีนเองจะช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ ที่เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดสูงอย่างในยุโรป จนถึงสหรัฐอเมริกา

ANZ มองว่าการที่ประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐที่มีความขัดแย้งกันอยู่สามารถฟื้นตัวจากการกระจายวัคซีนได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนได้มากถึง 2 จุดของ GDP แต่ปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดว่าประเทศ อื่นๆ จะฟื้นตัวได้มากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ความสัมพันธ์กับสหรัฐ

หลายๆ ฝ่ายคาดกันว่าการที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนจะดีมากขึ้นกว่าในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ และมองว่า โจ ไบเดน จะเป็นใช้นโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าของสหรัฐ และกดดันจีนมากขึ้นขณะเดียวกันจีนเองมองว่านโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐรายนี้ค่อนข้างคาดเดาได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ANZ มองว่าเรื่องนโยบายจีนของ โจ ไบเดน ไม่สำคัญเท่ากับนโยบายการพึ่งพาสินค้าในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มองว่าความต้องการสินค้าจีนจะเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ANZ ยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจากสถาบันการเงินในสหรัฐได้เข้าไปเปิดบริการในจีนมากขึ้น และบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางจีนจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของ 2 มหาอำนาจรายนี้

นอกจากนี้ ANZ มองว่านโยบายต่างประเทศของ โจ ไบเดน จะลดบทบาทของเงินหยวนที่จะต้องการขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกหลังจากนี้ แต่จะเพิ่มความมั่นใจให้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอีกครั้งในฐานะเงินสกุลหลัก

Joe Biden COVID-19 Vaccine โจ ไบเดน
โจ ไบเดน กำลังรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 – ภาพจาก Shutterstock

ฟองสบู่ (หุ้นจีน)

ดัชนีหุ้นจีนในปี 2020 อย่างเช่น ดัชนี CSI 300 ฯลฯ ได้ให้ผลตอบแทนในปี 2020 มากถึง 27% จากความมั่นใจในเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวหลังจาก COVID-19 ได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินไหลเข้าหุ้นจีนจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่เพียงแค่หุ้นจีนเท่านั้นในปีที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ในจีนก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนด้วยไม่น้อย ซึ่งปี 2020 ที่ผ่านมา นักลงทุนชาวต่างชาติถือตราสารหนี้จีนมากถึง 1 ล้านล้านหยวน ส่งผลทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าไปถึง 6%

อย่างไรก็ดี ANZ คาดว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินอย่างธนาคารจีนจะจับตามองตลาดทุนในจีน และจะดูแลไม่ให้เกิดปัญหาที่จะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจตามมาในภายหลัง นอกจากนี้ ANZ ยังมองว่านโยบายทางการเงินจีนปี 2021 นี้จะไม่มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป หรือแข็งกร้าวเกินไป เพราะกลัวว่าสภาพตลาดทุนจะช็อกกับนโยบายที่ออกมา เราจึงจะเห็นนโยบายธนาคารกลางจีนไปในแนวกลางๆ มากกว่า

พลังงานสะอาด

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ ANZ มองว่าจะเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับจีนคือเรื่องของพลังงานสะอาด ที่จีนตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับ 0 ในปี 2060 เพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้นั้นจีนได้เริ่มลงทุนด้านพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากการออก Green Bond หรือตราสารหนี้ที่ลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันพลังงานสะอาดของโลก 1 ใน 3 ของพลังงานที่ผลิตได้ในปัจจุบันมาจากประเทศจีน

ไม่เพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่จีนเองก็เริ่มจับมือกับประเทศต่างๆ ในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เช่น กรีซที่ลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ โดย ANZ เปรียบได้กับการปูพรมเพื่อลงทุนด้านโทรคมนาคมในอดีตที่ผ่านมา และการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของจีนยังทำให้ภาคการผลิตและการบริโภคของจีนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ANZ ได้มองว่าการใช้พลังงานของจีนเริ่มมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต นอกจากนี้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะสร้าง GDP ให้กับจีนได้มากถึง 1.8 จุดในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ