จากคำว่าการไม่ลงทุนเสี่ยงที่สุด ก็ทำให้หลายคนอยากเริ่มต้นลงทุนในหุ้น อาจเพราะการ เล่นหุ้น หมายถึง เรากลายเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ระดับประเทศได้
ขณะเดียวกัน หากลงทุนในหุ้นที่ดีก็มีโอกาสทำกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย (ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีรายได้)
แต่หลายคนคงสงสัยว่า การเริ่มต้นเล่นหุ้น จะต้องเริ่มที่ตรงไหน หรือต้องรู้อะไรบ้างวันนี้ Brandinside รวบรวม 5 ขั้นตอนการเล่นหุ้นสำหรับมือใหม่มาให้แล้ว
1. เปิดพอร์ตที่ใช่ เลือกโบรกที่ชอบ
จากบทความที่แล้ว เราอธิบายการเตรียมตัวก่อนจะเล่นหุ้น และรายละเอียด ประเภทการเปิดพอร์ตหุ้น ไปแล้ว (ถ้าไม่ได้อ่านแนะนำให้อ่านก่อน)
ดังนั้นหลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเราต้องเลือกเปิดพอร์ตกับ “ใคร” กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์ที่ดูแลพอร์ตหุ้นเราอย่างไร ก็อาจจะเลือกถามเงื่อนไขดังนี้
1.1) ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น
หลักๆ จะแบ่งเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ ที่จะอยู่ที่ราว 0.075-0.15% (ขึ้นอยู่กับแต่ละโบรกเกอร์)
และการซื้อขายหุ้นผ่านระบบตัวกลาง (เช่น การโทรให้ผู้ดูแลพอร์ตซื้อขายหุ้นให้) จะอยู่ที่ราว 0.18-0.25%
และจุดสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ เช็กว่า มีเงื่อนไขค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไหม?
เช่น ต่อให้เราซื้อขายหุ้นโดยมีค่าธรรมเนียมแค่ 20 บาท แต่ถ้าโบรกเกอร์นั้นมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 50 บาท ลูกค้าอย่างเราก็จะเสีย 50 บาท
1.2) บทวิเคราะห์
แต่ละโบรกเกอร์จะมีบทวิเคราะห์หุ้นออกมาให้นักลงทุนอ่าน เพื่อเป็นตัวช่วยในการลงทุนอยู่แล้ว และบางแห่งอาจจะออก บทวิเคราะห์เชิงลึกส่งให้ลูกค้าของตน
หรือปัจจุบันหลายโบรกเกอร์กันมาทำคลิปวิเคราะห์หุ้นให้ฟังตอนเช้า หรือทำคลิปสรุปเทรนด์การลงทุน เช่น บล. เอเชียพลัส, KKP (เกียรตินาคินภัทร), บล.บัวหลวง, บล.หยวนต้า , บล.กสิกรไทย, ฯลฯ
1.3) เครื่องมือ เช่น โบรกเกอร์มีระบบ Streaming ให้ใช้หรือมีฟีเจอร์ในแอปฯ ที่ทำให้การซื้อขายง่ายขึ้น
นอกจากนี้แต่ละโบรกเกอร์อาจมีจุดแตกต่างกัน เช่น บางโบรกฯ เมื่อเปิดพอร์ตแล้วสามารถซื้อกองทุนรวมได้ด้วย หรือมีสัมมนาการลงทุน ฯลฯ
อย่างไรก็ตามอาจจะต้องเลือกที่ “การบริการ” ของแต่ละโบรก เช่น การดูแลของพนักงาน (Marketing) ดีหรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลา และการถามไถ่คนรอบตัวที่เคยใช้งานโบรกนี้มาก่อน
2. ทดลอง เล่นหุ้น หรือ เริ่มลงทุนทีละน้อย เพื่อหาแนวทางที่ใช่
เปิดพอร์ตแล้ว เริ่มต้นลงทุนกันเลย
หรือถ้ายังไม่มั่นใจ “ทดลองเล่นหุ้น” ผ่านการเปิดพอร์ตในเว็บไซด์ Streaming Click2win ซึ่งเป็นโครงการของ SET จุดเด่นคือ มีวงเงิน 5 ล้านบาทให้ลองเล่นในสภาวะตลาดจริง แต่ข้อด้อยคือ ทุกๆ 3 เดือนระบบจะเคลียร์พอร์ตและเริ่มต้นใหม่
ขณะที่การเริ่มต้นลงทุนทีละน้อย ก็มีหลายรูปแบบ เช่น
2.1) สายเก็งกำไร ที่อาจจะต้องติดตามข่าวสาร และเก็งว่าหุ้นตัวไหนราคาจะขึ้นลง
2.2) สายลงทุนหุ้นพื้นฐาน ซึ่ง หนึ่งในรูปแบบที่คนนิยมกันคือ DCA (Dollar cost Average) ในหุ้นที่พื้นฐานดี มีอนาคต
โดยจะตั้งวงเงินเข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความผันผวนของราคาหุ้นที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น สะสมหุ้น A ทุกสิ้นเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี โดยหวังว่าราคาหุ้นที่เข้าซื้อไว้จะเติบโตในอนาคต
แต่การลงทุนยังมีอีกหลายรูปแบบ และแต่ละบริษัท แต่ละอุตสาหกรรมมีข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการหาแนวทาง และความถนัดของตนก่อนลงทุนก้อนใหญ่ ก็อาจช่วงลดความรุนแรงที่จะขาดทุนได้บ้าง
3. ลงสนาม เล่นหุ้น ต้องรู้อะไรบ้าง?
ในการซื้อขายหุ้นทุกครั้ง อาจมีคำศัพท์ สัญลักษณ์ที่ต้องจำให้ได้เพื่อซื้อขาย “หุ้น” ได้แบบที่เราต้องการ ได้แก่
3.1 รู้ชื่อย่อ “หุ้น”
บางครั้งชื่อของหุ้นที่เราต้องการซื้อ อาจจะไม่ใช่ชื่อเดียวกับบริษัท เช่น
- ค่ายมือถือเบอร์ 1 ของไทยอย่าง AIS ก็มีชื่อหุ้นว่า Advanc
- ร้านสุกี้ที่มีสาขามากมายอย่าง MK ก็ไม่ได้ใช้ชื่อหุ้นว่า MK
ซึ่งหากกดซื้อหุ้น “MK” ในตลาดหุ้น จะกลายเป็นธุรกิจอสังหาฯที่ชื่อ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน)
(ถ้าอยากซื้อหุ้นร้านสุกี้ MK ต้องกดคำว่า “M” หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน))
ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ค้นหาใน Google ว่าชื่อบริษัทที่เราอยากจะซื้อหุ้นตัวย่อคืออะไร
3.2 รู้จักคำว่า Bid-offer
- Bid – คำเสนอซื้อหุ้น (คนที่ยังไม่มีหุ้นนั้นแต่ตั้งราคาอยากซื้อดังนั้นอาจจะตั้งหลอกก็ได้)
- Offer – คำเสนอขายหุ้น
ทั้ง 2 คำนี้เราต้องเข้าใจสักหน่อย เพราะทุกครั้งที่มีการซื้อขายหุ้นได้ ย่อมหมายถึง ราคาที่เราตั้งขาย (offer) ไปตรงกับ คนที่ต้องการตั้งซื้อ (Bid)
ดังนั้นทุกครั้งที่เราจะกดซื้อหรือขายหุ้นก็จะมี ตัวเลขนี้ขึ้นมาช่วยให้เราเห็นข้อมูลในตลาด
3.3 ศัพท์พื้นฐานของนักลงทุน
หากเราเล่นหุ้นใน SET Index (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ย่อมจะมีศัพท์ที่เราควรต้องรู้ก่อน เช่น
- Ceiling / Floor ราคาเสนอขาย/เสนอซื้อ สูงสุดและต่ำสุดของหุ้น
- Circuit Breaker เกณฑ์สั่งหยุดการซื้อขายชั่วคราว
- Ticker แสดงการ Match หุ้น ว่าในตลาดมีการซื้อขายหุ้นไหนบ้างแล้ว
- XD ผู้ซื้อไม่ได้รับสิทธิปันผล (ถ้าอยากได้ปันผลต้องซื้อหุ้นก่อนมีเครื่องหมายนี้)
- XR ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
3.4 ซื้อขายหุ้นอย่างไร
เมื่อการซื้อขายหุ้น ขึ้นอยู่กับเรา “พอใจ” ซื้อขายเท่าไร
เราสามารถตั้งแบบ Limit คือ กำหนดทั้ง “ราคา” และ “จำนวน” ที่ต้องการซื้อได้เลย (ขั้นต่ำการซื้อหุ้นอยู่ที่ 100 หุ้น เช่น หุ้นราคา 100 บาท ต้องใช้เงินซื้อ 10,000 บาทเป็นต้น) และเราก็ใส่ Pin
แต่ที่จริงแล้ว การที่เราตั้งซื้อขายจะมีออปชั่นให้เลือกตั้งราคาขายตามตลาดได้เช่นกัน เช่น
- สามารถเลือก MP ราคาซื้อขายที่ดีที่สุดในขณะนั้น
- เลือก ATO ซื้อขายทันทีที่ตลาดเปิด ณ ราคาเปิด
- เลือก ATC ซื้อขายทันทีก่อนตลาดปิด ณ ราคาปิด
4. Cut loss ให้เป็น
ถ้าหากการตัดใจเรื่องความรักว่ายากแล้ว การตัดใจขายหุ้นตอนที่ราคาขาดทุนสำหรับนักลงทุนมือใหม่นั้นยากเสมอเช่นกัน
ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนในหุ้นสักตัว เราอาจจะต้องศึกษา และตั้งธงในใจว่า มองว่าจะได้กำไรเท่าไร หรือระดับขาดทุนที่เรารับได้อยู่ที่จุดไหน
แบบที่ง่ายที่สุดคือ ตั้ง % เป็นจุดหยุดขาดทุน เช่น ขาดทุนไว้ที่ 5% ของราคาหุ้น หากถึงจุดขาดทุนก็ต้องตัดใจขายออก
นอกจากนี้ยังมีแบบ Price Pattern Stop Loss คือตั้งจุด Stop Loss ตามสิ่งที่กราฟบอก อันนี้เหมาะกับคนที่มีความรู้ด้าน Technical แล้ว
และ Volatility Stop Loss คือ การตั้งจุด Stop Loss จากความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น โดยจะใช้ มาช่วยคำนวณ
ทั้ง 3 แบบคือการหา “จุดหยุด” เพื่อทำให้เราขาดทุนน้อยที่สุด
5. ปรับแผนฯ และ ติดตาม
เมื่อเราเริ่มต้นลงทุนในหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายกินส่วนต่างจากราคาหุ้น (Capital Gain) หรือ สายกินเงินปันผล (Dividend) ล้วนต้องติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับหุ้นที่เราซื้อ
เพราะหากเกิดสถานการณ์ที่กระทบราคาหุ้น นักลงทุนจะสามารถปรับตัวเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรือมีโอกาสสร้างกำไรเพิ่มขึ้นด้วย
เบื้องต้นคือ ช่องทางของ SET ที่ด้านบนจะมี Market alerts คอยแจ้งเตือนข่าวด่วน หรือประเด็นร้อน รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายสำคัญต่างๆ ในเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย
และสามารถติดตามข่าวสารจากสื่อที่กลั่นกรองข้อมูลหลากหลายที่เพื่อ ให้เรามีข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูลชุดต่างๆ ได้มากขึ้น
ทั้ง 5 สเต็ปนี้คือจุดเริ่มต้นการลงทุนในหุ้นได้ทันที แต่ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนหุ้นนี้จะมากน้อยแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เราเลือก และกลยุทธ์ที่เราใช้
อ้างอิง – SETinvestnow ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (1)(2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา