5 เหตุการณ์สำคัญ / 5 สิ่งที่เรียนรู้ จากการทำ Robinhood ของ ธนา เธียรอัจฉริยะ

26 ต.ค. 64 Robinhood บริการ Food Delivery ในเครือของ SCB เดินทางมาครบ 1 ปี ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ปลุกปั้นบริการนี้มาตั้งแต่วันแรก พร้อมกับทีมงาน Robinhood มองย้อนกลับไป สรุปได้เป็น 5 เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้ Robinhood เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา และ 5 บทเรียนที่ได้เรียนรู้ พร้อมก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค

robinhood

5 เหตุการณ์ที่ทำให้ Robinhood เป็นตัวเป็นตน

1. จุดเริ่มต้นของ Robinhood มาจาก อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB ที่สั่งอาหาร Delivery อยู่บ้านแล้วเกิดรู้สึกว่า อยากสร้างบริการ Food Delivery ขึ้นมาเพื่อช่วยผู้บริโภคเป็น CSR และได้สั่งการให้ทีมงานลงมือทันที ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 150 ล้านบาท แม้หลายคนจะพยายามคัดค้าน เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง ให้เงินทุนสูง แต่ก็ไม่เป็นผล และ Robinhood ก็เกิดขึ้น

2. หลังจากพัฒนาบริการมาสักระยะ ตั้งใจจะปิดตัว Robinhood วันที่ 1 ก.ย. 63 แต่ CEO คนเดิมก็มีคำถามว่าบริการนี้พร้อมแล้วจริงหรือไม่ จึงให้สาขา SCB ทดลองใช้งานพร้อมกัน 10,000 รายการในช่วงพีค ปรากฎว่าระบบล่มทันที นี่คือการ Fail Fast ที่เกิดขึ้น แต่ก็พยายามแก้ไข ทดสอบทดลองจนวันที่ 26 ต.ค. 63 ระบบก็สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกัน 10,000 รายการได้จริง กลายเป็นวันเริ่มต้น Robinhood อย่างเป็นทางการ

3. Robinhood ยังเป็นแอปฯ เล็กๆ มียอดการใช้งาน 2-3 หมื่นรายการต่อวัน จนถึงเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดหนักมาก และ CEO ของ SCB ก็เกิดไอเดียทันทีว่าต้องช่วยเหลือผู้บริโภค ช่วยเหลือร้านอาหารด้วยการ “ส่งฟรี” (แปลว่า Robinhood ต้องจ่ายค่าส่งให้ไรเดอร์แทนผู้บริโภค) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แอปฯ ล่มทันที ด้วยจำนวนการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็แก้ไขสถานการณ์ไปเรื่อยๆ

และนั่นก็เป็นโอกาสแจ้งเกิดให้กับ Robinhood เช่นเดียวกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจดจำในเวลานั้นคือ “ไข่ดาวโมเมนต์” มีการสั่งไข่ดาว 5 บาทระยะทาง 40 ก.ม. (ส่งฟรี) ทำให้ Robinhood รู้ว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และรู้สึกขอบคุณ เพราะทำให้ Robinhood รวมพลังกันแก้ไขปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น ท้ายที่สุดระบบสามารถรองรับงานได้ 2 แสนรายการต่อวัน ภายในเวลา 14 วันเพิ่มขึ้น 10 เท่า แสดงให้เห็นว่าทีมไอทีสู้กันสุดๆ จริงๆ

4. จากแอปฯ เล็กๆ กลายเป็นแอปฯ กลางๆ โดยในเดือน ส.ค. หลังการส่งฟรีจบลง ทุกคนรอดูว่ายอดการใช้งานจะกลับไปเหลือ 2 หมื่นหรือไม่ (คนมาสั่งเยอะเพราะส่งฟรี) ปรากฎว่าตอนนี้ยอดใช้งานเฉลี่ย 1.3-1.5 แสนรายการต่อวัน และมี Register User กว่า 2 ล้านราย ถือว่าน่าพอใจมาก

5. เมื่อ Robinhood สามารถผ่านร้อนผ่านหนาว เป็นบริการ Food Delivery ที่มีตัวตน เป็นแอปฯ ระดับกลางๆ ในตลาดได้แล้ว ก็ถึงเวลา Spring Board โดย CEO ได้ตัดสินใจว่าถึงเวลาบุกต่อ ขยายขอบเขตการให้บริการ เปิดบริการใหม่ ด้วยงบประมาณระดับพันล้านบาท ก้าวไปสู่ Super App และมีแผนจะระดมทุน (Raise Fund) ในปี 65

robinhood

5 บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำ Robinhood

1. ฐานลูกค้าคือ ขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ จากข้อมูลพบว่า ลูกค้าของ Robinhood เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มั่นใจว่าสูงกว่าคู่แข่งในตลาด เนื่องจาก Robinhood ทำตลาดเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตเป็นหลักมาก่อน เชื่อว่าจะสามารถชวนไปใช้บริการอื่นๆ ได้ เช่น ชวนส่งของ ขวนช้อปปิ้ง และชวนไปเที่ยว

เมื่อดูว่า SME ที่ใหญ่ที่สุดในไทยคือ ร้านอาหารและท่องเที่ยว นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของ Robinhood ในการเปิดตลาดใหม่

2. Platform of Kindness จากปัญหาในช่วง “ส่งฟรี” เดือน ก.ค. 64 มีปัญหาแอปฯ ล่ม ใช้งานยาก แต่มีร้านอาหารหลายแห่ง มีผู้บริโภคหลายรายมาช่วยกันปกป้อง Robinhood เพราะทุกคนรู้ว่า Robinhood เริ่มต้นจากความคิดต้องการช่วยเหลือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็พยายามเร่งแก้ไขทันที ดังนั้นทุกคนจึงช่วยเหลือกัน

3. สนุกกับการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) จากเดิมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อลงมือทำ แก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถทำได้ และเชื่อว่าจะก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคได้

4. มาตรฐานโอลิมปิก ในตลาดมีคู่แข่งจากทั่วโลกมารวมอยู่ที่ไทย เช่น Shopee, Lazada, Agoda, Grab, LINE Man, Facebook, LINE, Google นี่คือผู้เล่นระดับโลก จะใช้มาตรฐานซีเกมส์ไม่ได้ ดังนั้น RBH ต้องเป็นมาตรฐานโอลิมปิก บริการในอนาคตต้องไประดับนั้น

5. วิถีมวยรอง ยังใช้ได้เสมอ การทำงานและบริการต้องเป็นมาตรฐานระดับโลก แต่ “วิธีการ” ต้องแตกต่าง เพราะเงินทุนน้อยกว่า จำนวนคนน้อยกว่า ถ้าใช้ท่าเดียวกันจะแข่งขันด้วยยากมาก เช่น เขาทำ GP เราไม่ทำ GP เป็นต้น

สำหรับอนาคตปี 65 เริ่มเห็นภาพกันไปแล้วว่า Robinhood ไม่หยุดแค่ Food Delivery แต่จะเป็น Super App ที่มีบริการ ส่งของ ซื้อของ และท่องเที่ยว พร้อมบุกตลาดต่างจังหวัด ขยายไประดับภูมิภาค ระดมทุน โดยเป็น Platform ไทยแท้อันเดียวที่ยังอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา