5 สายงานเด่นสำหรับกูรูด้าน Social Media “การตลาด-ไอที-นักเขียน”

เปิดโผแนะนำ 5 สายงานเด่นสำหรับคนชื่นชอบ หรือถนัดด้าน Social Media สายการตลาด ไอที นักเขียน บริการลูกค้า และมัลติมีเดีย รับรองว่าได้ใช้สกิลอย่างเต็มที่

Photo : Shutterstock

กล่าวได้ว่าทุกวันนี้เป็นยุคที่ Social Media เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล ติดตามข่าวสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายผ่านหน้าจอ

Social Media จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างโอกาสให้กับธุรกิจ เพราะสามารถเข้าถึงบุคคลทั่วไปหรือกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง บริษัทต่างๆ จึงหันมาใช้ Social Media ในการสื่อสาร สร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภค ตลอดจนนำเสนอสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้บุคลากรในบางสาขาอาชีพต้องมีทักษะความรู้ ตลอดจนสามารถนำ Social Media มาปรับใช้กับการทำงานได้

JobThai ได้แนะนำ 5 สายงานที่ใช้ทักษะและความรู้เกี่ยวกับ Social Media ใครสนใจงานเหล่านี้ ต้องจดไว้!

  1. งานการตลาด

แม้สินค้าหรือบริการของบริษัทจะมีคุณภาพมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการทำการตลาดออกไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็คงยากที่สินค้าจะเป็นที่รู้จักและขายได้ดี โดยเฉพาะในยุคที่สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลอย่างทุกวันนี้ การทำการตลาดแบบออฟไลน์อย่างเดียวคงไม่พอ คนทำงานในสายการตลาดไม่ว่าจะเป็นนักโฆษณา ครีเอทีฟ นักพัฒนาธุรกิจ หรือ นักสื่อสารการตลาด ก็ต้องปรับตัวและสามารถนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพได้

Photo : Shutterstock

โดยทักษะที่คนทำงานสายนี้ควรมีเพื่อทำการตลาดทางโซเชียลมีเดียให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคิด วิเคราะห์ และเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะโซเชียลมีเดียมีเครื่องมือที่สามารถแสดงประสิทธิภาพของโพสต์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเนื้อหาประเภทไหน โพสต์ในช่วงเวลาใด มีผลตอบรับที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร จากนั้นก็นำข้อมูลมาคิด วิเคราะห์ เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการทำการตลาด หรือสร้างเนื้อหา และแคมเปญต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเลข และการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของแบรนด์

  1. งานคอมพิวเตอร์ / ไอที / โปรแกรมเมอร์

ถึงแม้ว่าคนทำงานในสายนี้จะเป็นผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่ก็ต้องให้ความสนใจกับโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน เพราะในยุคนี้เครื่องมือของโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ฝั่งแบรนด์เองก็ควรมีการอัปเดตเพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าและบริการตลอดจนความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยความสามารถด้านเทคนิคจากผู้ที่ทำงานในสายคอมพิวเตอร์ / ไอที / โปรแกรมเมอร์ ในการประยุกต์เอาเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้

Photo : Shutterstock

โดยคนทำงานสายนี้จะต้องอัปเดตเทรนด์และศึกษาเกี่ยวกับระบบหรือการทำงานใหม่ๆ ของโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาให้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสามารถทำงานร่วมกับโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้อย่างดีที่สุด มีความเข้าใจในอัลกอริทึ่มหรือเครื่องมือใหม่ๆ ของโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมากในโซเชียลมีเดียได้

  1. งานบริการลูกค้า

เมื่อลูกค้าต้องการสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ทั้งก่อนตัดสินใจซื้อและหลังซื้อสินค้าไปแล้ว คนกลุ่มแรกๆ ที่ต้องพูดคุยกับลูกค้าก็คืองานบริการลูกค้า ซึ่งต้องคอยดูแล ให้คำแนะนำ รวมถึงประสานงานหาทางแก้ไข เพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกประทับใจตั้งแต่ก่อนซื้อ ระหว่างซื้อ จนไปถึงขั้นตอนบริการหลังการขาย แต่นอกจากการสอบถามทางคอลเซ็นเตอร์แล้ว โซเชียลมีเดียของแบรนด์ก็เป็นอีกช่องทางที่เป็นที่นิยม

Photo : Shutterstock

เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าเป็นอย่างดี และมีใจรักการบริการแล้ว คนทำงานสายนี้ควรมีความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดีเพื่อให้บริการลูกค้าได้หลากหลายขึ้น และที่สำคัญก็คือมีทักษะการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารกับลูกค้าทางโซเชียลมีเดียนอกจากจะต้องตอบคำถามในสิ่งที่ลูกค้าสงสัย หรือหาวิธีแก้ปัญหาให้พวกเขาแล้ว การรับฟังและสังเกตฟีดแบ็กจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงการให้บริการหรือพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นอีกด้วย

  1. งานเขียน

ทุกวันนี้คนเราใช้ชีวิตกับสื่อออนไลน์มากขึ้น งานของคนที่รักการเขียนก็เลยไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังอยู่บนพื้นที่ออนไลน์อย่างเว็บไซต์ บล็อก หรือโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่จะสื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่ายและมีจำนวนมากขึ้น

Photo : Shutterstock

แน่นอนว่าทักษะของคนที่จะทำงานเขียนจึงไม่ใช่แค่ใช้ภาษาที่ถูกต้องเท่านั้น แต่การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องใช้ภาษาที่ดึงดูดให้คนสนใจ และกระตุ้นให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับโพสต์นั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารได้ชัดเจน ตรงประเด็น ที่สำคัญก็คือภาษาที่ใช้ต้องเป็นไปตามลักษณะของแบรนด์ที่นำเสนอ หรือตามคาแรคเตอร์ของแบรนด์ ตลอดจนต้องออกแบบให้เหมาะสมกับโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันไปด้วย

  1. Multimedia Designer

การนำเสนอเนื้อหาผ่านภาพและวิดีโอหรือที่เรียกรวม ๆ ว่า “มัลติมีเดีย (Multimedia)” คือสิ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ นิยมใช้ทั้งสื่อออฟไลน์ และโซเชียลมีเดีย เพราะนอกจากจะช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องการสื่อออกไปได้อย่างชัดเจน และเข้าใจง่ายมากขึ้นอีกด้วย ซึ่ง Multimedia Designer คือคนที่ทำหน้าที่ออกแบบ สร้างสรรค์ และลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือวิดีโอที่ใช้บนโซเชียลมีเดียนั่นเอง

Photo : Shutterstock

คนทำงานในสายนี้นอกจากจะมีทักษะในการออกแบบได้สวยงาม น่าสนใจ และสื่อความหมายได้ตามที่ต้องการแล้ว ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอมัลติมีเดียให้เหมาะสมกับโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น ความยาวของวิดีโอ ขนาดของภาพ ประเภทไฟล์ที่รองรับ เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา