สรุป 5 ทิศทาง “ไทยเบฟ” สู่ Vision 2020 กับความท้าทายสู่แบรนด์ระดับอาเซียน

เมื่อ Vision 2020 ของไทยเบฟได้เดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว ในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วปีต่อไปจะมีทิศทางอย่างไร เราได้สรุปมาให้ได้รู้กันแล้ว

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ยุทธศาสตร์ควบรวมกิจการ ทางลัดสู่แบรนด์ระดับอาเซียน

ในปี 2017 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ไทยเบฟเวอเรจ” อาณาจักรของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ จึงได้เห็นดีลการเข้าซื้อกิจการของไทยเบฟอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ตอนนี้ได้เดินทางมาเกินครึ่งทางของ “วิสัยทัศน์ 2020” ซึ่งเป็นแผนดำเนินการระยะ 6 ปี ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นการพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์หลัก 5 ด้าน ได้แก่ Growth คือการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ Diversity ความหลากหลายของสินค้าและตลาด Brand การมีตราสินค้าที่โดนใจ Reach การกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง Professionalism ความเป็นมืออาชีพด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาไทยเบฟมีรายได้รวม 173,910 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้เป็น สุรา 47.4% เบียร์ 40.1% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 7.2% และอาหาร 5.4%

ความท้าทายบทใหม่ของไทยเบฟในตอนนี้คือการก้าวขึ้นสู่แบรนด์ระดับอาเซียนอย่างเต็มตัว หลังได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจในหลายประเทศเพื่อมาเติมพอร์ต และเสริมอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น

ทั้งนี้ได้สรุป 5 ภาพรวมของไทยเบฟในปีที่ผ่านมา และทิศทางต่อไปในอนาคต โดยแยกตามกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท

  1. รุกสู่แบรนด์ระดับอาเซียน

ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึง 2020 ไทยเบฟได้โฟกัสที่ตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง ในการคาดการณ์ว่าในปี 2030 กลุ่มอาเซียนจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนประชากรรวม 620 ล้านคน มีสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ถึง 70% และเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก

โดยเฉพาะประเทศในโซน CLMV อย่างเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีฐานประชากรวัยรุ่นที่สูงด้วย รวมถึงเป็นกลุ่มประเทศที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน ญี่ปุ่นให้ความสนใจในลงทุน

ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย

ในปี 2017 ที่ผ่านมา ไทยเบฟได้รวมธุรกิจเบียร์อันดับหนึ่งของประเทศเวียดนาม และสุราอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมา เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัท ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

ทำให้ตอนนี้ไทยเบฟเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และจีน ขึ้นแท่นเป็นบริษัทระดับอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว เพราะมีธุรกิจใหญ่ในเวียดนาม และเมียนมา

  1. ควบบิ๊กสุราเมียนมาเข้ามาอยู่ในพอร์ต

ในปีที่แล้วธุรกิจสุรามีการเคลื่อนไหวที่หวือหวามาก ได้ทำการอัพเกรดภาพลักษณ์เหล้าขาว “รวงข้าวซิลเวอร์” ให้เทียบเท่าโชจูในเกาหลี หลังจากที่มีการรีแบรนด์ได้มียอดขายล้านลิตรเข้าไปแล้ว และมีการบุตลาดประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นตลาดใหญ่ของตลาดเหล้าขาว มีการใช้ Influencer อย่าง “ยัง ซู-บิน” ในการทำตลาดในประเทศเกาหลี

อีกหนึ่งดีลใหญ่ก็คือทางไทยเบฟได้มีการเข้าลงทุนในสัดส่วน 75% ในกลุ่ม Grand Royal Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรา Grand Royal Whisky ถือว่าเป็นแบรนด์สุราอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมา และล่าสุดยังได้เข้าร่วมลงทุน 51% ในกลุ่ม Asiaeuro International Beverage ซึ่งเป็นบริษัทจัดจําหน่ายสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะสุราพรีเมียมจากประเทศสก็อตแลนด์ และฝรั่งเศส

และในประทเศไทยยังได้พัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดสุราพร้อมดื่มสําหรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการสุราพร้อมดื่มมากขึ้น ได้ออกสินค้า เช่น สตาร์ คูลเลอร์ และคูลอฟ แมกซ์ เซเว่น

  1. ควบบิ๊กเบียร์ในเวียดนาม

ธุรกิจเบียร์ก็มีความตื่นเต้นไม่แพ้กัน เพราะในปีที่ผ่านมาไทยเบฟก็ได้ควักกระเป๋าซื้อกิจการธุรกิจของ “ซาเบโก้” ยักษ์ใหญ่ในตลาดเบียร์ในเวียดนาม เจ้าของแบรนด์ “ไซง่อนเบียร์” ด้วยมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งศักยภาพของซาเบโก้นั้นมีโรงผลิตเบียร์ 26 แห่ง บริษัทเทรดดิ้ง 10 แห่ง และมีพนักงานรวมกว่าหมื่นคน

ซึ่งตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามใหญ่กว่าประเทศไทยมาก มีมูลค่าถึง 3,000 ล้านลิตร และมีจำนวนประชากร 92 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีมูลค่า 2,000 ล้านลิตร

Photo : Shutterstock

การควบรวมกิจการกับซาเบโก้นั้น ทำให้ไทยเบฟเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ ซึ่งมีผลในเรื่องของการสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ สามารถผนึกกำลังของบริษัทในเครือได้ด้วย ทำให้แบรนด์ช้างเข้าไปมีบทบาททำตลาดในเวียดนามมากขึ้น และทางไทยเบฟเองก็มีแผนที่จะเอาไซง่อนเบียร์เข้ามาทำตลาดในไทยเช่นกัน

สิ่งที่ไทยเบฟคาดหวังก็คือ ต้องการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในอาเซียน ทำให้ตอนนี้ทั้งกลุ่มไทยเบฟมีส่วนแบ่งตลาดของตลาดเบียร์ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ 24% ในอาเซียน ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของแบรนด์ไทยเบฟเอง 8%

ตอนนี้กำลังจะมีโรงงานเบียร์เปิดเพิ่มที่ประเทศเมียนมาด้วยงบลงทุน 56 ล้านเหรียญ  มีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตร กำลังสร้างฐานการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เหตุผลที่ไทยเบฟบุกประเทศเมียนมาอย่างหนักเพราะมีโอกาสทางธุรกิจสูง มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ตลาดเบียร์มีมูลค่า 400 ล้านลิตร และคนเมียนมายังมีอัตราการดื่มเบียร์ที่ต่ำอยู่เฉลี่ย 7.5 ลิตร/คน/ปี เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีจำนวนเฉลี่ย 26 ลิตร/คน/ปี และเวียดนาม 44 ลิตร/คน/ปี ถือว่ายังมีโอกาสในการเติบโตอีกเยอะ

  1. นอนแอลยังโฟกัสเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟได้โฟกัสที่เทรนด์สุขภาพมาตลอด โดยทำการออกสินค้าใหม่ๆ ที่เน้นนวัตกรรม และดีต่อสุขภาพมากขึ้น ควบคุมเรื่องน้ำตาล และแตกเซ็กเมนต์ใหม่ๆ

ลี เม็ง ตัท ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกรรมการผู้อำนวยการธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ F&N

ในเครือไทยเบฟยังมีบริษัทใหญ่อย่าง F&N ที่มีสำนักงานใหญ่ 6 แห่งในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมา และอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมายังได้ไปลงทุนในบริษัทนมยักษ์ใหญ่ในเวียดนามในสัดส่วน 20% จะมีส่วนในการรับรู้รายได้เพิ่มเติมด้วย

สำหรับธุรกิจนอนแอลกอฮอล์จะเน้นใน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. ออกสินค้าใหม่ๆ และเน้นพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน 2. ขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจ และผลักดันสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ

  1. ขยายอาณาจักรอาหารให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอาหารของไทยเบฟก็จัดจ้านอยู่ไม่น้อย เพราะได้ปิดดีลใหญ่อย่างการซื้อแฟรนไชส์ KFC มาได้กว่า 252 สาขา ในนามบริษัท The QSR of Asia เป็นการเติมพอร์ตร้านอาหารให้หลากหลายมากขึ้น

Photo : Shutterstock

ไทยเบฟมีธุรกิจร้านอาหารครั้งแรกเมื่อปี 2008 ได้ทำการเทคโอเวอร์ “โออิชิ” ที่ในตอนนั้นมีสาขาราวๆ 90 กว่าสาขา จนเมื่อปี 2015 เริ่มรุกธุรกิจร้านอาหารที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น ตั้งบริษัท Food of Asia เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งการร่วมลงทุน 76% ในกลุ่มร้านอาหารไทย Spice of Asia

ตลอด 10 ปีในธุรกิจอาหารมีการเติบโตเป็น 3 เท่า ตอนนี้มีสาขารวมทั้งหมด 562 สาขา ครอบคลุม 27 แบรนด์ และครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่สตรีทฟู้ด QSR ไปจนถึงระดับ Fine Dining

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย

กลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตยังคงเน้นการขยายสาขาให้มากขึ้น แต่จะทดลองโมเดลใหม่ๆที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าไม่มากขึ้น ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมลูกค้าให้ทัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา