เมื่อ Vision 2020 ของไทยเบฟได้เดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว ในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วปีต่อไปจะมีทิศทางอย่างไร เราได้สรุปมาให้ได้รู้กันแล้ว
ยุทธศาสตร์ควบรวมกิจการ ทางลัดสู่แบรนด์ระดับอาเซียน
ในปี 2017 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ไทยเบฟเวอเรจ” อาณาจักรของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ จึงได้เห็นดีลการเข้าซื้อกิจการของไทยเบฟอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ตอนนี้ได้เดินทางมาเกินครึ่งทางของ “วิสัยทัศน์ 2020” ซึ่งเป็นแผนดำเนินการระยะ 6 ปี ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นการพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์หลัก 5 ด้าน ได้แก่ Growth คือการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ Diversity ความหลากหลายของสินค้าและตลาด Brand การมีตราสินค้าที่โดนใจ Reach การกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง Professionalism ความเป็นมืออาชีพด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาไทยเบฟมีรายได้รวม 173,910 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้เป็น สุรา 47.4% เบียร์ 40.1% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 7.2% และอาหาร 5.4%
ความท้าทายบทใหม่ของไทยเบฟในตอนนี้คือการก้าวขึ้นสู่แบรนด์ระดับอาเซียนอย่างเต็มตัว หลังได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจในหลายประเทศเพื่อมาเติมพอร์ต และเสริมอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น
ทั้งนี้ได้สรุป 5 ภาพรวมของไทยเบฟในปีที่ผ่านมา และทิศทางต่อไปในอนาคต โดยแยกตามกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท
-
รุกสู่แบรนด์ระดับอาเซียน
ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึง 2020 ไทยเบฟได้โฟกัสที่ตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง ในการคาดการณ์ว่าในปี 2030 กลุ่มอาเซียนจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนประชากรรวม 620 ล้านคน มีสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ถึง 70% และเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก
โดยเฉพาะประเทศในโซน CLMV อย่างเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีฐานประชากรวัยรุ่นที่สูงด้วย รวมถึงเป็นกลุ่มประเทศที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน ญี่ปุ่นให้ความสนใจในลงทุน
ในปี 2017 ที่ผ่านมา ไทยเบฟได้รวมธุรกิจเบียร์อันดับหนึ่งของประเทศเวียดนาม และสุราอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมา เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัท ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
ทำให้ตอนนี้ไทยเบฟเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และจีน ขึ้นแท่นเป็นบริษัทระดับอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว เพราะมีธุรกิจใหญ่ในเวียดนาม และเมียนมา
-
ควบบิ๊กสุราเมียนมาเข้ามาอยู่ในพอร์ต
ในปีที่แล้วธุรกิจสุรามีการเคลื่อนไหวที่หวือหวามาก ได้ทำการอัพเกรดภาพลักษณ์เหล้าขาว “รวงข้าวซิลเวอร์” ให้เทียบเท่าโชจูในเกาหลี หลังจากที่มีการรีแบรนด์ได้มียอดขายล้านลิตรเข้าไปแล้ว และมีการบุตลาดประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นตลาดใหญ่ของตลาดเหล้าขาว มีการใช้ Influencer อย่าง “ยัง ซู-บิน” ในการทำตลาดในประเทศเกาหลี
อีกหนึ่งดีลใหญ่ก็คือทางไทยเบฟได้มีการเข้าลงทุนในสัดส่วน 75% ในกลุ่ม Grand Royal Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรา Grand Royal Whisky ถือว่าเป็นแบรนด์สุราอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมา และล่าสุดยังได้เข้าร่วมลงทุน 51% ในกลุ่ม Asiaeuro International Beverage ซึ่งเป็นบริษัทจัดจําหน่ายสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะสุราพรีเมียมจากประเทศสก็อตแลนด์ และฝรั่งเศส
และในประทเศไทยยังได้พัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดสุราพร้อมดื่มสําหรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการสุราพร้อมดื่มมากขึ้น ได้ออกสินค้า เช่น สตาร์ คูลเลอร์ และคูลอฟ แมกซ์ เซเว่น
-
ควบบิ๊กเบียร์ในเวียดนาม
ธุรกิจเบียร์ก็มีความตื่นเต้นไม่แพ้กัน เพราะในปีที่ผ่านมาไทยเบฟก็ได้ควักกระเป๋าซื้อกิจการธุรกิจของ “ซาเบโก้” ยักษ์ใหญ่ในตลาดเบียร์ในเวียดนาม เจ้าของแบรนด์ “ไซง่อนเบียร์” ด้วยมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งศักยภาพของซาเบโก้นั้นมีโรงผลิตเบียร์ 26 แห่ง บริษัทเทรดดิ้ง 10 แห่ง และมีพนักงานรวมกว่าหมื่นคน
ซึ่งตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามใหญ่กว่าประเทศไทยมาก มีมูลค่าถึง 3,000 ล้านลิตร และมีจำนวนประชากร 92 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีมูลค่า 2,000 ล้านลิตร
การควบรวมกิจการกับซาเบโก้นั้น ทำให้ไทยเบฟเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ ซึ่งมีผลในเรื่องของการสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ สามารถผนึกกำลังของบริษัทในเครือได้ด้วย ทำให้แบรนด์ช้างเข้าไปมีบทบาททำตลาดในเวียดนามมากขึ้น และทางไทยเบฟเองก็มีแผนที่จะเอาไซง่อนเบียร์เข้ามาทำตลาดในไทยเช่นกัน
สิ่งที่ไทยเบฟคาดหวังก็คือ ต้องการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในอาเซียน ทำให้ตอนนี้ทั้งกลุ่มไทยเบฟมีส่วนแบ่งตลาดของตลาดเบียร์ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ 24% ในอาเซียน ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของแบรนด์ไทยเบฟเอง 8%
ตอนนี้กำลังจะมีโรงงานเบียร์เปิดเพิ่มที่ประเทศเมียนมาด้วยงบลงทุน 56 ล้านเหรียญ มีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตร กำลังสร้างฐานการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลที่ไทยเบฟบุกประเทศเมียนมาอย่างหนักเพราะมีโอกาสทางธุรกิจสูง มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ตลาดเบียร์มีมูลค่า 400 ล้านลิตร และคนเมียนมายังมีอัตราการดื่มเบียร์ที่ต่ำอยู่เฉลี่ย 7.5 ลิตร/คน/ปี เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีจำนวนเฉลี่ย 26 ลิตร/คน/ปี และเวียดนาม 44 ลิตร/คน/ปี ถือว่ายังมีโอกาสในการเติบโตอีกเยอะ
-
นอนแอลยังโฟกัสเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟได้โฟกัสที่เทรนด์สุขภาพมาตลอด โดยทำการออกสินค้าใหม่ๆ ที่เน้นนวัตกรรม และดีต่อสุขภาพมากขึ้น ควบคุมเรื่องน้ำตาล และแตกเซ็กเมนต์ใหม่ๆ
ในเครือไทยเบฟยังมีบริษัทใหญ่อย่าง F&N ที่มีสำนักงานใหญ่ 6 แห่งในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมา และอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมายังได้ไปลงทุนในบริษัทนมยักษ์ใหญ่ในเวียดนามในสัดส่วน 20% จะมีส่วนในการรับรู้รายได้เพิ่มเติมด้วย
สำหรับธุรกิจนอนแอลกอฮอล์จะเน้นใน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. ออกสินค้าใหม่ๆ และเน้นพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน 2. ขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจ และผลักดันสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ
-
ขยายอาณาจักรอาหารให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอาหารของไทยเบฟก็จัดจ้านอยู่ไม่น้อย เพราะได้ปิดดีลใหญ่อย่างการซื้อแฟรนไชส์ KFC มาได้กว่า 252 สาขา ในนามบริษัท The QSR of Asia เป็นการเติมพอร์ตร้านอาหารให้หลากหลายมากขึ้น
ไทยเบฟมีธุรกิจร้านอาหารครั้งแรกเมื่อปี 2008 ได้ทำการเทคโอเวอร์ “โออิชิ” ที่ในตอนนั้นมีสาขาราวๆ 90 กว่าสาขา จนเมื่อปี 2015 เริ่มรุกธุรกิจร้านอาหารที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น ตั้งบริษัท Food of Asia เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งการร่วมลงทุน 76% ในกลุ่มร้านอาหารไทย Spice of Asia
ตลอด 10 ปีในธุรกิจอาหารมีการเติบโตเป็น 3 เท่า ตอนนี้มีสาขารวมทั้งหมด 562 สาขา ครอบคลุม 27 แบรนด์ และครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่สตรีทฟู้ด QSR ไปจนถึงระดับ Fine Dining
กลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตยังคงเน้นการขยายสาขาให้มากขึ้น แต่จะทดลองโมเดลใหม่ๆที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าไม่มากขึ้น ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมลูกค้าให้ทัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา