เคยเห็นแต่ Airbus กับ Boeing บนน่านฟ้า ลองมาทำความรู้จักกับอีก 5 แบรนด์ที่จะมาเขย่าตลาดเครื่องบินกัน

15 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงผู้ผลิตเครื่องบินก็คงรู้จักกันแค่แบรนด์ Airbus และ Boeing โดยเฉพาะกับเครื่องบินแบบ Single-Aisle (ทางเดินเดียว) ก็ยิ่งมีแค่ 2 แบรนด์ที่ผูกขาด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะมีผู้เล่นอีก 5 รายที่พร้อมท้าทายตลาด และหวังกินเค้กชิ้นนี้ที่ไม่ได้ถูกแบ่งมานานบ้าง ดังนั้นอย่ารอช้า มาทำความรู้จักกับแบรนด์เหล่านี้กันเลย

ภาพ // Eric Salard

1.Bombardier

Bombardier เป็นเครื่องบินที่มีต้นกำเนิดจากประเทศแคนาดา และเป็นอีกแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องบินที่เก่าแก่ของโลก แต่ที่ไม่ค่อยได้ยินกันเพราะแบรนด์นี้จะถูกใช้กับสายการบินท้องถิ่นที่นั่น ซึ่งตอนนี้ทางแบรนด์ตัดสินใจออกมาทำตลาดนอกประเทศ ผ่านเครื่องบินตระกูล C (C-Series) พร้อมกับเคลมประสิทธิภาพทั้งเรื่องเครื่องยนต์, อัตราสิ้นเปลือง และดีไซน์ที่ดีกว่า Boeing 737 กับ Airbus A320

สำหรับเครื่องบิน C-Series จะมี 2 รุ่นคือ CS100 ขนาด 133 ที่นั่ง และ CS300 ขนาด 160 ที่นั่ง ใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบ PW1500G ข้างละหนึ่งเครื่อง และสายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นรุ่นนี้เป็นรายแรกคือ SWISS เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 และตอนนี้ก็มีถึง 300 สายการบินที่เตรียมสั่งซื้อเครื่องบิน C-Series แล้ว

ภาพ // Antônio Milena/ABr

2.Embraer

Embraer เป็นผู้ผลิตเครื่องบินจากบราซิล ก่อนหน้านี้เน้นขายเครื่องบินให้กับสายการบินท้องถิ่นเช่นเดียวกัน Bombardier แต่ตอนนี้ก็เริ่มออกมาทำตลาดกับสายการบินประเทศอื่นๆ แล้ว ผ่านการใช้เครื่องบินตระกูล E-Jet ซึ่งตอนนี้มาถึงรุ่นที่ 2 หรือ E2 แล้ว โดยเครื่องบินรุ่นนี้มีขนาดเล็กกว่า A319Neo ของ Airbus และ 737Max7 ของ Boeing เล็กน้อย

ส่วนเครื่องบินรุ่น E2 นั้นประกอบด้วย 3 รุ่นย่อยคือ E175-E2 ที่มี 88 ที่นั่ง, E190-E2 ที่มี 106 ที่นั่ง และ E195-E2 ที่มี 132 ที่นั่ง และใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบของ Pratt & Whitney’s แต่เครื่องบินรุ่น E2 นั้นจะทำตลาดในปี 2561 และตอนนี้ก็มีสายการบินให้ความสนใจกว่า 270 ลำแล้ว

ภาพ // CHIYODA

3.Mitsubishi Regional Jet (MRJ)

อีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าจับตามองคือ Mitsubishi Regional Jet (MRJ) ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบินจากประเทศญี่ปุ่นอายุกว่า 50 ปี และตอนนี้ก็ทำตลาดรุ่น MRJ70 ที่มี 80 ที่นั่ง กับ MRJ90 ที่มี 92 ที่นั่ง ดังนั้นด้วยขนาดที่เล็ก จึงเหมาะสมกับการใช้บินภายในประเทศเท่านั้น และเครื่องบินขนาดเล็กแบบนี้ Boeing กับ Airbus ยังไม่เน้นทำตลาดมากนัก

โดยตัว MRJ ทั้งสองรุ่นจะใช้เครื่องยนต์เทอร์โบของ Pratt & Whitney’s และจะเข้ามาทำตลาดในปี 2561 ที่สำคัญตอนนี้มีออร์เดอร์สั่งเครื่องบินทั้งสองรุ่นนี้กว่า 220 ลำจากทั่วโลก

ภาพ // Peng Chen

4.Comac

ไปรู้จักผู้ผลิตจากญี่ปุ่นแล้ว ลองมาดูฝั่งจีนกันบ้างกับแบรนด์ COMAC หรือ Commercial Aircraft Corporation of China ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2551 โดยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับสายการบินที่จีน ก่อนที่จะขยับสู่ผู้ผลิตเครื่องบินเพื่อแข่งกับยักษ์ใหญ่ของโลก 2 เจ้า

ทั้งนี้ COMAC ส่งเครื่องบินแบบ Single-Aisle ออกมาหนึ่งรุ่นเมื่อปลายปีก่อนคือ ARJ21 ขนาด 90 ที่นั่ง เพื่อตอบโจทย์สายการบินในประเทศที่บินระยะสั้นถึงกลาง ใช้เครื่องยนต์ General Electric รุ่น CF34-10A และ Boeing คาดการณ์ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า สายการบินในจีนจะสั่งซื้อเครื่องบินกว่า 6,300 ลำ คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ภาพ // Government.ru

5.Irkut

สุดท้ายก็ข้ามมาที่รัสเสียกับแบรนด์ Irkut ที่พลิกโฉมจากผู้ผลิตเครื่องบินทางการทหาร สู่เครื่องบินพาณิชย์ ผ่านการส่งเครื่องบินแบบ Single-Aisle รุ่น MC-21 ประกอบด้วย 2 รุ่นย่อยคือ MC-21-200 ความจุ 165 ที่นั่ง และ MC-21-300 ความจุ 211 ที่นั่ง โดยมีเครื่องยนต์ของรัสเซีย กับสหรัฐอเมริกาให้เลือก

ซึ่งปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น MC-21 แล้ว 175 ออร์เดอร์ และคู่แข่งของรุ่นนี้คือ Airbus รุ่น A320 เพราะมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน

สรุป

ถึงจะมีรายใหม่เข้ามาในธุรกิจผู้ผลิตเครื่องบิน แต่ก็คงยากที่จะแทรกตัวเข้าไปในตลาด เพราะ Airbus และ Boeing ต่างมีความแข็งแกร่งในพื้นที่นี้ และถ้าเข้าไปในตลาดได้ ก็คงทำได้แค่สายการบินท้องถิ่น เนื่องจากเจรจาง่ายกว่า และง่ายต่อการขนส่ง ดังนั้นกว่าจะเห็น 5 แบรนด์เหล่านี้แบ่งเค้กชิ้นโตได้อย่างเป็นรูปธรรมคงต้องรออีกซักพัก

อ้างอิง // These 6 planes want to end Airbus and Boeing’s dominance in the skies

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา