บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา อยู่คู่คนไทยมานาน 40 ปี มีผลงานที่เป็นที่จดจำมากมาย ตั้งแต่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ค้าปลีกสุดล้ำเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน และ เซ็นทรัลเวิลด์ ที่พลิกโฉม เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จากหน้ามือเป็นหลังมือ
ปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนา ไม่ได้เป็นแค่ ผู้บริหารจัดการศูนย์การค้า แต่ขยายไปที่ ผู้บริหารอาคารสำนักงาน, โรงแรม และที่พักอาศัย ซึ่งการครบรอบ 40 ปี ทางองค์กรเพิ่มความเข้มข้นในการบุกตลาดใหม่
ผ่านการกางแผน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพื่อเปิดศูนย์การค้าเพิ่มเป็น 50 แห่ง ที่พักอาศัย 68 แห่ง อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรมอีก 37 แห่ง
แผนดังกล่าวจะเดินหน้าไปอย่างไร ระหว่าง 5 ปีนั้น เซ็นทรัลพัฒนา ต้องทำอะไรบ้าง ลองมาฟังคำตอบจาก วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ดังนี้
เซ็นทรัลพัฒนา คือ เซ็นทรัลพัฒนา
เซ็นทรัลพัฒนา คือองค์กรของเครือเซ็นทรัล มีจุดเริ่มต้นคือการพัฒนาโครงการ เซ็นทรัลลาดพร้าวให้ประสบความสำเร็จ โดยช่วงนั้นใช้ชื่อบริษัทว่า เซ็นทรัล พลาซ่า และเปลี่ยนเป็น เซ็นทรัลพัฒนา ในภายหลัง ซึ่งระหว่างนั้นมีการใช้ชื่อ CPN เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์กรระดับสากล และดึงดูดนักลงทุนได้ดีขึ้น
วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา เล่าให้ฟังว่า ถึงเปลี่ยนแค่ไหน แต่องค์กรยังมีความเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และต้องการคงจุดแข็งนี้ไว้ จึงดึงชื่อ เซ็นทรัลพัฒนา กลับมาใช้ และสื่อให้เห็นถึงความเป็นผู้พัฒนาเช่นเดิม
“หลังจากนี้เราจะรุกตลาดที่พักอาศัยอย่างเข้มข้น มีอาคารสำนักงานเพิ่ม พร้อมกับมีโรงแรมแบรนด์ใหม่ ๆ เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงกับลูกค้าของ เซ็นทรัล เพื่อให้การดำรงชีวิตของพวกเขาสะดวกสบาย ผ่านเครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ ของเรา”
5 ปี ลงทุน 1.2 แสนล้านบาท รุก มิกซ์ยูส
ทั้งนี้ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา พึ่งครบรอบ 40 ปี บริษัทจึงวางภาพลักษณ์ตัวเองใหม่เป็น Place Maker หรือ นักพัฒนาพืนที่แห่งอนาคต พร้อมดูแล People หรือผู้คน และชุมชนต่าง ๆ ด้วยอสังหาริมทรัพย์ขงบริษัท พร้อมดูแล Planet หรือสิ่งแวดล้อมด้วยแผน Net Zero
ขณะเดียวกันยังลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี หรือ พ.ศ. 2565-2569 เพื่อพัฒนาธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ โดยมีธุรกิจศูนย์การค้าเป็นแกนหลัก และมีที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน กับโรงแรม เป็นตัวสนับสนุน หรือเรียกว่า Retail-Led Mixed-use Development โดย 50% ของศูนย์การค้าหลังจากนี้ต้องเป็น มิกซ์ยูส
หากเป็นไปตามแผน เซ็นทรัลพัฒนา จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์อยู่มากกว่า 30 จังหวัด แบ่งเป็น ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในไทย และต่างประเทศ, คอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง, โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง โดยมากกว่า 50% จะเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ
ตัดชื่อ แกรนด์ และ พลาซ่า เหลือแค่ เซ็นทรัล
อีกสิ่งที่น่าสนใจในแผนของ เซ็นทรัลพัฒนา คือ การเปลี่ยนชื่อ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลสาขาต่าง ๆ ให้เหลือแค่ เซ็นทรัล พร้อมตามหลังด้วยพื้นที่ของสาขานั้น ๆ เช่น เซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2 เป็น เซ็นทรัล พระราม 2 เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของ เซ็นทรัล แม้การบริหารจะเป็นคนละบริษัทก็ตาม
“แม้จะคนละบริษัท แต่เรามองว่า ลูกค้าสะดวกเรียกแบบไหน มันก็เป็นเซ็นทรัลเหมือนกัน นอกจากนี้เรายังเพิ่มเอกลักษณ์ในแต่ละสาขาของ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แต่ละพื้นที่ ดังนั้นจะมีหรือไม่มี เฟสติวัล และ พลาซ่า ตามหลังชื่อ สุดท้ายมันก็เป็น เซ็นทรัล เหมือนกัน”
ในปี 2565 เซ็นทรัลพัฒนา เริ่มปรับปรุง เซ็นทรัล วิลเลจ เฟส 2 และหลังจากนี้มีแผนเปิด เซ็นทรัล จันทบุรี รวมถึงปรับปรุงโซน อิเซตัน ของ เซ็นทรัลเวิลด์ และ เซ็นทรัล พระราม 2 โดยทั้งหมดนี้มีแผนเพื่อยกระดับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลให้ครอบคลุมความต้องการลูกค้าเหมือนกับที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่มีสำนักงาน, โรงแรม และศูนย์การค้า
เปิดเกม โรงแรม และที่พักอาศัยเต็มรูปแบบ
“หากเจาะไปที่เงินลงทุน ในอดีต 80% อาจไปที่ธุรกิจศูนย์การค้า แต่หลังจากนี้จะลดลงเหลือ 70% ไม่ใช่ว่าลงทุนน้อยลง แต่เป็นธุรกิจอื่น ๆ ที่เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงแรม และที่พักอาศัยที่จะเข้ามายกระดับการทำตลาดของบริษัท”
สำหรับ ธุรกิจที่พักอาศัย เซ็นทรัลพัฒนา ทำตลาดมา 4 ปี โดยเน้นที่ต่างจังหวัด วางตำแหน่งให้อยู่ใกล้ หรือในศูนย์การค้า มีทั้งรูปแบบบ้านแนวราบ และคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้พักอาศัยจะได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของเครือเซ็นทรัล เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิต
ส่วนธุรกิจโรงแรม เซ็นทรัลพัฒนา มี 2 โรงแรม คือ เซ็นทารา ที่อุดรธานี และ ฮิลตัน พัทยา โดยหลังจากนี้จะมีการร่วมมือกับเครือต่าง ๆ และมีแผนเปิดตัวครั้งใหญ่ ทำให้ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ แต่จะเน้นที่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก
สรุป
เซ็นทรัลพัฒนา คือองค์กรในกลุ่มเซ็นทรัลที่ดูแลเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเดินหน้าลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาทครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการบุก มิกซ์ยูส เต็มที่ และนำความสำเร็จของ เซ็นทรัล ลาดพร้าว มาต่อยอด พร้อมทำให้องค์เติบโตได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง // เซ็นทรัลพัฒนา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา