ประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่นักลงทุนไทยหลายท่านจับตามอง โดยเฉพาะหลังจากที่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศเวียดนามเมื่อประมาณเดือน พฤษภาคม 2558 ชื่อ The Next Thailand (and beyond) ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร http://www.settrade.com/blog/nivate/2015/05/11/1565 ซึ่งในบทความแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงโครงสร้าง และประเด็นสำคัญที่จะรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
หากย้อนไปอ่านบทความแรกที่เกี่ยวกับประเทศเวียดนามของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2556 ชื่อบทความ ตลาดหุ้นเวียดนาม จะเห็นถึงการพัฒนาของประเทศเวียดนามโดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลขเงินเฟ้อ และทิศทางของค่าเงินด่องที่เริ่มควบคุมได้อย่างมีเสถียรภาพทำให้การลงทุนในเวียดนามในปัจจุบันน่าดึงดูดใจมากขึ้น แล้วช่องทางการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมีอะไรบ้างไปสำรวจกัน
4 ช่องทางการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม
ในปัจจุบันยังไม่มีกองทุนรวมในประเทศไทยที่ไปลงทุนในหุ้นเวียดนามโดยตรง ดังนั้น หากนักลงทุนท่านใดที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามมีทางเลือกดังนี้
-
เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยที่ให้บริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศ
เช่น บล.KTZMICO, บล ฟินันเซีย ไซรัส, บล เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละบริษัทจะมีวิธีคิดค่าธรรมเนียม วิธีการส่งคำสั่งซื้อขาย วิธีการจัดการกับวงเงินซื้อขาย และบริการข้อมูลข่าวสารที่ต่างกัน แนะนำให้นักลงทุนสอบถามข้อมูลรายละเอียดโดยตรงก่อนตัดสินใจใช้บริการ
-
เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเวียดนาม
เช่น SSI (Saigon Securities Inc.): https://www.ssi.com.vn/
HSC (Ho Chi Minh City Securities Corporation): https://www.hsc.com.vn/en
VCSC (Viet Capital Securities): https://www.vcsc.com.vn/home-page
ทั้ง 3 บริษัท เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มี market cap ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของเวียดนาม ในปัจจุบันนักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายโดยตรงโดยเดินทางไปเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้องการด้วยตนเองที่ประเทศเวียดนาม และจำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารเพื่อผูกกับบัญชีซื้อขายหุ้นโดยอาจเลือกเปิดบัญชีกับธนาคาร BIDV(Bank for Investment and Development of Vietnam): http://www.bidv.com.vn/ หรือ จะเลือกธนาคารเอกชนอื่นก็ลองตรวจสอบเงื่อนไขกับธนาคารอีกครั้ง เมื่อทำการเปิดบัญชีเรียบร้อย นักลงทุนที่จะนำเงินเข้าบัญชี ต้องทำการนำเงินสดไปฝากที่ธนาคารด้วยตนเอง เนื่องจากในปัจจุบันทางแบงค์ชาติยังไม่อนุญาตให้คนไทยสามารถโอนเงินไปโดยตรงได้ จะเห็นได้ว่าการเปิดบัญชีซื้อขายโดยตรงด้วยตนเองอาจไม่สะดวกมากนักเนื่องจากต้องเดินทาง และต้องถือเงินสดไปซึ่งอาจเกิดอันตรายในระหว่างการเดินทางได้
-
เปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลลงทุนในเวียดนาม
ด้วยความที่ประเทศเวียดนามกำลังเริ่มพัฒนาในทุก ๆ ด้านรวมถึงตลาดทุน ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ยังถูกจัดทำเป็นภาษาเวียดนาม การที่นักลงทุนจะเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลส่วนใหญ่ต้องใช้บริการ Google Translate ช่วยในการแปลจากภาษาเวียดนามเป็นภาษอังกฤษ หรือ ภาษาไทย (โดยส่วนตัวใช้แปลจาก เวียดนามเป็นอังกฤษ เนื่องจากการแปลเป็นภาษาไทยอ่านเข้าใจยากกว่า) สำหรับในส่วนของงบการเงินบริษัทในเวียดนามเองก็ยังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น และมักจะพบกับปัญหาเดิมคือ มีเฉพาะภาษาเวียดนาม สิ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตรวจสอบงบการเงินของบริษัทสามารถใช้บริการของ www.Jitta.com ที่มีการรวบรวมข้อมูลงบการเงินของทุกบริษัทเอาไว้ในที่เดียว รวมทั้งมีข้อมูลสรุปสั้น ๆ ให้นักลงทุนทราบว่าบริษัททำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง นอกจากข้อมูลในเชิงประมาณแล้ว ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับตัวกิจการก็มีความสำคัญ เนื่องจากบริษัทในเวียดนามส่วนใหญ่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย นอกจากนี้ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริหาร ความสัมพันธ์กับทางภาครัฐก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะเห็นได้ว่า การลงทุนด้วยตนเองในเวียดนาม มีอุปสรรคค่อนข้างมากที่นักลงทุนต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมี กองทุนส่วนบุคคลนโยบายลงทุนต่างประเทศ ของบล.ฟิลลิป ให้บริการกับนักลงทุนในประเทศไทย บริหารจัดการเลือกหุ้นตามหลัก Value Investor และจัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม โดยทีมงานผู้จัดการกองทุนชาวไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตามการลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลนโยบายลงทุนต่างประเทศ เปิดรับนักลงทุนที่สนใจด้วยมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น 3 ล้านบาท ผู้ลงทุนควรมีความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศและมีระยะเวลาในการลงทุนยาวกว่า 5 ปีขึ้นไป เพื่อรับมือกับความผันผวนระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้
-
เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวมในประเทศเวียดนาม
สำหรับนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในหุ้นด้วยตนเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลในประเทศเวียดนาม จะพบอุปสรรคเดียวกันกับบรรดานักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปซื้อขายหุ้นในประเทศเวียดนาม คือ ปริมาณหุ้นที่อนุญาตให้ต่างชาติถือครอง FOL (Foreign Ownership Limits) ซึ่งบริษัทที่น่าลงทุนส่วนมากจะถูกซื้อจนเต็มเพดาน FOL ทำให้บรรดานักลงทุนไม่สามารถลงทุนในหุ้นเวียดนามได้ตามปริมาณและราคาที่ต้องการ นอกจากการลงทุนในหุ้นด้วยตนเองและการลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนส่วนบุคคลแล้ว ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้นักลงทุนต่างชาติไม่ติดข้อกำหนดเรื่อง FOL คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมในประเทศเวียดนาม
ขั้นตอนการเปิดบัญชีกองทุนรวมในเวียดนาม
หลังจากที่นักลงทุนมีบัญชีซื้อขายหุ้นในเวียดนาม และมีบัญชีเงินฝากสำหรับลงทุนเป็นที่เรียบร้อย ก็จะต้องเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ บลจ.ในเวียดนาม ซึ่งในครั้งนี้ผมจะขอแนะนำกองทุน SSI-SCA (SSI Sustainable Competitive Advantage Fund) ที่บริหารจัดการโดย SSIAM (SSI Asset Management) : http://www.ssi.com.vn/en-US/AssetManagement.aspx ก่อนจะไปศึกษาว่ากองทุนลงทุนในกลุ่มธุรกิจใดบ้าง และผลงานเป็นอย่างไร เราควรทำความเข้าใจกับเงื่อนไขสำหรับการลงทุนเบื้องต้นดังนี้
การซื้อขายกองทุนในเวียดนาม
ที่มา: SSI: Investment Guide for Foreign Investor Sep 2016
ในปัจจุบันทำการซื้อขายได้สัปดาห์ละครั้ง โดยนักลงทุนต้องทำการส่งคำสั่งซื้อขายก่อนวันพุธเวลา 3 โมงเย็น และระบบจะทำการซื้อขายจริงในวันพฤหัส สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง หรือ ในประเทศไทย เรียก DCA (Dollar Cost Average) แต่ในเวียดนามเรียก SIP (Systematic Investment Plan) นักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษเช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียม 30% แต่เงื่อนไขของการลงทุนเป็นประจำและต่อเนื่องคือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 1 ล้านด่องต่อเดือน หรือ 3 ล้านด่องต่อไตรมาส (ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน หรือ 4,500 บาทต่อเดือน) และต้องลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในกรณีที่ผู้ลงทุนทำผิดเงื่อนไข จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมขายเพิ่มอีก 0.4% จากค่าธรรมเนียมปกติ
การลงทุนขั้นต่ำและค่าธรรมเนียม
สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการลงทุนตามแผน SIP มีเงื่อนไขการซื้อไม่ต่ำกว่าครั้งละ 2 ล้านด่อง (ประมาณ 3 พันบาท) ขายคืนครั้งละไม่ต่ำกว่า 100 หน่วย โดยมีจำนวนหน่วยลงทุนคงเหลือไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยลงทุน และนักลงทุนจะได้รับเงินลงทุนหลังจากส่งคำสั่งขายประมาณ 8 วันทำการ
ที่มา: SSI: Investment Guide for Foreign Investor Sep 2016
ค่าธรรมเนียมการซื้อ อยู่ในช่วง 0.5%-1.5% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุน ในส่วนของค่าธรรมเนียมการขายอยู่ในช่วง 0-1% ขึ้นกับระยะเวลาการถือครอง
กองทุน SSI-SCA (SSI Sustainable Competitive Advantage Fund)
เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว มีนโยบายเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีสินค้าและบริการที่ครองแบ่งการตลาดสูง สถานะทางการเงินดี และผู้บริหารมีธรรมาภิบาล โดยกองทุนจัดตั้งขึ้นเมื่อ 26 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนหลักอยู่ในหุ้นกลุ่ม Industrial Goods & Services, Food & Beverage, Construction & Materials และถือครองเงินสดในสัดส่วน 27.3%, 18.5% , 14.2% และ 8.7% ตามลำดับ ในส่วนของหุ้นที่กองทุนถือครองมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ HPG, DBC, VNM, BMP
จากวันที่ 26 กันยายน 2557 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 กองทุนสร้างผลตอบแทนได้ถึง 48.9% หากพิจารณาผลตอบแทนใน 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 41.0% เมื่อมาดูความถูกแพงของกองทุนโดยพิจารณาจากค่า P/E อยู่ที่ประมาณ 10.1 เท่า, P/B 1.98 เท่า, ROE 21.5% และ ปันผลประมาณ 4.1% ถือว่าสถานะกองทุนในปัจจุบันยังไม่แพงหากคิดจะลงทุน
ภาษีกับการลงทุนในเวียดนาม
สำหรับนักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ ภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน จากตารางที่แสดงอยู่ด้านล่าง พอสรุป ได้ว่าสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนด้วยตนเองด้วยการเปิดบัญชีโดยตรงกับทางบล.ในเวียดนาม หรือลงทุนในกองทุนรวมตรงกับบลจ.ในเวียดนาม ถือว่าเป็นนักลงทุนประเภท Non-residential individuals จะมีภาษีจากเงินปันผล 5% หัก ณ ที่จ่าย ส่วนนักลงทุนไทยที่ลงทุนผ่านบล.ในไทย หรือลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล จะถูกมองว่าเป็น Foreign Institutions ไม่มีภาระทางภาษีจากเงินปันผลแต่เงินปันผลจะถูกคิดเป็นรายได้ของสถาบันในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อไป สำหรับภาษีฝั่งขายจะเหมือนกัน คือ 0.1% ของมูลค่าขาย
นอกจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักแล้ว กำไรจากการลงทุนในต่างประเทศถือเป็นเงินได้ประเภทที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศไทย ซึ่งต้องทำการคำนวณเพื่อภาษีเงินได้ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อ
- ผู้มีเงินได้ อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น
- ผู้มีเงินได้ นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย
ดังนั้น หากนักลงทุนนำเงินได้จากการขายทำกำไร เข้ามาในประเทศไทยข้ามปีภาษีก็จะไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า ช่องทางการลงทุนในเวียดนามเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนไทย เชื่อว่าในอนาคตจะมีกองทุนรวมของประเทศไทยเข้าไปลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ในตลาดชายขอบ (Frontier Market) ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องค่าเงิน สภาพคล่องของหุ้นที่ทำการซื้อขาย มาตรฐานทางบัญชี และความเป็นมืออาชีพของบริษัท นักลงทุนที่สนใจลงทุนในประเทศเวียดนาม ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ และเงินที่นำไปลงทุนควรเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่สามารถทนต่อการขาดทุนในระยะสั้นได้
อ้างอิง: Fund Report Sep 2016: http://www.ssi.com.vn/~/media/PDFs/SSIAM/Reports/SSI-SCA/SSI-SCA%20Fund%20report%20sep%202016.ashx
Investment Guide for Foreign Investor: http://www.ssi.com.vn/AssetManagement/ProductServices/Fund/SSI-SCA/InvestmentGuide.aspx
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา