เปิด 4 กลยุทธ์ “Pandora” สร้างเครื่องประดับให้สาวๆ ทุกคนจับต้องได้ (ไม่ต้องยืมเพื่อน)

มาดู 4 กลยุทธ์ของแบรนด์จิวเวลรี่อันดับหนึ่งของโลกที่ครองใจสาวๆ ทั่วโลก ในปี 2560 ที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตถึง 15% ในปีนี้ยังเดินหน้าเน้นสร้างประสบการณ์ให้สาวๆ พร้อมลุยออนไลน์เต็มตัว

Pandora เป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นเป็นแบรนด์สัญชาติเดนมาร์ก แต่มีฐานการผลิตในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ถึงแม้ยังมีการเติบโตอย่างตอ่เนื่องทุกปี แต่ในปีนี้ Pandora ต้องมีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตมากขึ้นไปอีก

ในปีนี้ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยเน้นการส่งมอบ “ประสบการณ์” พิเศษให้แก่ผู้หญิงทุกคน ให้เครื่องประดับเป็นเหมือนของพิเศษเพื่อสร้างความรู้สึกพิเศษ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทุกคนรู้สึกสร้างสรรค์ในการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมขยายตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

Mr.-Nils Helander

นีลส์ เฮแลนเดอร์ รองประธานอาวุโสสายงานการผลิตและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด เปิดเผยว่า

“แพนดอร่ามีการเติบโตตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2560 แพนดอร่าเติบโต 15% โดยมีรายได้รวมคิดเป็นมูลค่า 22.8 พันล้านโครนเดนมาร์ก หรือกว่า 1.14 แสนล้านบาท สำหรับปี 2561-2565  แพนดอร่าตั้งเป้าเติบโต 7-10% ต่อปี โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 กลยุทธ์ใหม่”

  1. เครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ ในราคาจับต้องได้ (ไม่ต้องยืมเพื่อน)

ยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นำสินค้าหลักประเภทจี้ประดับ (Charms) และสร้อยข้อมือ รวมทั้งขยายกลุ่มสินค้าประเภทแหวน ตุ้มหู สร้อยคอและจี้ห้อยคอ ให้เติบโตขึ้นจากสัดส่วนรายได้ในปัจจุบัน 25% เพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังชูนวัตกรรม และการพัฒนาสินค้าให้มีดีไซน์ทันสมัย เป็นเครื่องประดับรูปแบบใหม่ปีละ 1 แนวคิด รวมทั้งเพิ่มการออกคอลเลคชั่นปกติจาก 7 เป็น 10 คอลเลคชั่น/ปี เพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย พร้อมทั้งรักษาคุณภาพสินค้า และราคาให้โดนใจสาวๆ ทุกคน

  1. สร้างประสบการณ์ของแบรนด์ในโลกดิจิตอล

ปรับเปลี่ยนสู่ “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง” ในทุกช่องทาง โดยจัดสรรงบทางการตลาดในสื่อออนไลน์เพิ่มจากสัดส่วน 30% เป็น 60% ตอบรับพฤติกรรมของลูกค้า ตั้งเป้าทุ่มงบการตลาดทั่วโลก 8% ของรายได้ในปี 2565

  1. ผนึกทุกช่องทางการขาย

มีการวางแผนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าแบบบูรณาการทั่วโลก เชื่อมโยงช่องทางร้านขายปลีก และ e-commerce อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าเปิดร้านเพิ่มจำนวน 200 ร้าน/ปี โดย 2 ใน 3 ของร้านขายปลีกทั่วโลกจะเป็นร้านค้าที่แพนดอร่าเป็นเจ้าของ และบริหารเอง รวมทั้งบุกช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้สัดส่วนรายได้จากร้านค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 10-15% ของรายได้รวม

  1. ระบบการผลิตอันคล่องตัว

ขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบเครื่องประดับแนวคิดใหม่พร้อมๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิต โดยแพนดอร่าได้วางแผนลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาทในประเทศไทย ระหว่างปี 2558-2562 เริ่มจากการสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดลำพูน ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2560 ที่ผ่านมา

และสร้างอาคารใหม่ TRIPLE A ที่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี กรุงเทพฯ ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนมีนาคมปีนี้ รวมทั้งการปรับปรุงอาคารฝ่ายผลิตอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งเป้าสร้างกำลังการผลิตเครื่องประดับอัญมณีให้ได้ 200 ล้านชิ้น/ปี ภายใน 5 ปี

นอกจากนี้ในปี 2560 แพนดอร่ายังได้เปิดศูนย์นวัตกรรม (The Innovation Centre) ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมเครื่องประดับอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในกรุงเทพฯ ที่จะคิดค้นนวัตกรรมรวมไปถึงสินค้าที่สวยงาม หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบรับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ผลประกอบการปี 2560

สำหรับในปี 2560 แพนดอร่ามีรายได้รวมคิดเป็นมูลค่ากว่า 114,000 ล้านบาท มีการเติบโตขึ้น 15% จากปี 2559 โดยผลิตเครื่องประดับอัญมณีทั้งหมด 117 ล้านชิ้นจากฝีมือของช่างเครื่องประดับชาวไทย

ปัจจุบันมีวางจำหน่ายในมากกว่า 100 ประเทศ ใน 6 ทวีปทั่วโลก มีจุดจำหน่ายมากกว่า 7,700 จุด รวมถึงคอนเซ็ปต์สโตร์ 2,300 ร้าน

สัดส่วนยอดขายแบ่งออกเป็นจี้ประดับ และสร้อยข้อมือ 75% แหวน 14% ตุ้มหู 6% สร้อยคอและจี้ห้อยคอ 5%

สรุป

  • ถึงแม้จะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดโลก แต่แพนดอร่าก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ยังคงปรับกลยุทธ์ ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้เสมอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา