หลังจากโควิด-19 ค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องปกติ บริษัทเรียกร้องให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเพื่อจะได้อยู่ในสายตาและทำงานเป็นทีมกันได้ง่ายขึ้น แต่ฝั่งพนักงานกลับอยากอยู่ติดบ้านเพราะเรียนรู้แล้วว่าถึงจะทำงานที่บ้าน ประสิทธิภาพในการทำงานก็ยังเท่าเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ แล้วความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายจะไปจบลงที่ตรงไหน
สำนักข่าว Wall Street Journal ได้คลายความสงสัยด้วยการสัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้กลายเป็นคนติดบ้านไปเสียแล้ว หากบริษัทรับฟังก็อาจจะหาทางประนีประนอมกันได้
ค่าใช้จ่ายมหาศาลเมื่อต้องออกจากบ้านทุกวัน
เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ พนักงานหลายคนกล่าวว่า ตั้งแต่ที่ต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นมหาศาลหลายร้อย หลายพันบาทต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ากาแฟ ค่าเดินทาง ค่าจ้างเลี้ยงดูลูก ค่าเสื้อผ้าหน้าผมใหม่หลังจากแทบไม่ได้ออกไปไหนมานาน
Rachel Cottam หัวหน้าฝ่ายคอนเทนต์ในบริษัทด้านเทคโนโลยีกล่าวว่า ก่อนที่เธอจะเปลี่ยนมาทำงานในบริษัทปัจจุบัน เธอทำงานเป็นคุณครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ต้องขับรถไปทำงานที่โรงเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ทำให้เสียค่าจ้างเลี้ยงดูลูกราว 14,000 บาทและยังไม่รวมกับค่าเดินทางอีก
Cottam เผยว่ามีเพื่อนของเธอจำนวนมากที่ต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้วรู้สึกบั่นทอนที่สูญเสียการทำงานที่ยืดหยุ่นไป และรู้สึกว่าถูกพรากอนาคตของการทำงานที่ดีอยู่แล้วอย่างการทำงานจากที่ไหนก็ได้ไป
เป็นพ่อแม่มันแสนจะลำบาก
พนักงานหลายคนกล่าวว่า หากบริษัทบังคับให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือนที่ควบตำแหน่งพ่อแม่หลายคนคงจะต้องลาออก
Meghan Skornia นักวางผังเมืองวัย 36 ปีและคุณแม่ลูกหนึ่งเปิดเผยว่า เธอได้ลาออกจากงานมาเป็นที่ปรึกษาอิสระเมื่อปีที่แล้ว หลังจากบริษัทเดินหน้าใช้นโยบายกลับเข้าสู่ออฟฟิศเต็มขึ้น ในที่ทำงานปัจจุบัน เธอต้องเข้าออฟฟิศเพียงวันเดียวต่อสัปดาห์เท่านั้นและเลือกเข้าวันไหนก็ได้ เธอบอกว่าถ้าต้องไปทำงานทุกวัน นอกจากจะเสียค่าจ้างเลี้ยงดูลูกแล้วยังได้ใช้เวลากับลูกแค่ในช่วงวันหยุดด้วย
เหนื่อยต้องสร้างภาพลักษณ์ดูดีต่อหน้าคนทั้งออฟฟิศ
สำหรับบางคน การเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเปรียบเสมือนการสวมหน้ากากเข้าสังคม นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่จริงใจต่อกันตลอดเวลาแต่หมายถึงต้องคอยระมัดระวังเรื่องการวางตัวเพื่อรักษาภาพลักษณ์และเข้ากับคนอื่นให้ได้
Kenneth Thomas พนักงานบริษัทด้านการลงทุนวัย 42 ปี เผยว่า เขาได้ลาออกจากงานเดิมในช่วงกลางปี 2021 หลังจากบริษัทยืนยันจะให้พนักงานกลับเข้าสู่ออฟฟิศ 100% เพราะเขารู้สึกเหนื่อยหน่ายกับที่ต้องคอยสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีอยู่ตลอดเวลา ต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดคำแสลงและไม่แสดงกิริยาอาการที่ทำให้คนอื่นรู้สึกขุ่นเคืองใจ ขณะที่การทำงานที่บ้านทำให้รู้สึกเป็นอิสระมากกว่า
Productivity หล่นหายไประหว่างทางมาทำงาน
ยิ่งบ้านอยู่ไกลที่ทำงานเท่าไร ก็ยิ่งไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ ยกตัวอย่าง Ryan Koch พนักงานขายที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียและต้องเดินทางไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก (ใช้เวลาขับรถราว 5 ชั่วโมง หรือนั่งเครื่องบิน 1 ชั่วโมง) 2 ครั้งต่อสัปดาห์ที่ปฏิเสธการเข้าออฟฟิศในที่สุด
Koch เผยว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเข้าออฟฟิศเมื่อสามารถประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และการที่เขาไม่ยอมเข้าออฟฟิศก็ไม่ได้มีผลอะไรถ้าหากเขายังทำยอดขายได้ดีอยู่ แต่เมื่อเขาและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนไม่สามารถขายให้ถึงยอดที่ตั้งเป้ากลับถูกปลดออกจากงาน ทำให้เขามองหาตำแหน่งที่สามารถทำงานแบบ Hybrid ได้แทน
ส่วน Jess Goodwin พนักงานด้านสื่อการตลาดเลือกที่จะปฏิเสธงานประจำแทนที่การทำงานฟรีแลนซ์ที่ทำอยู่เนื่องจากบริษัทบังคับให้เข้าออฟฟิศทุกวันและเธอคำนวณแล้วว่าจะเสียเวลาไปกับการเดินทางถึง 150 ชั่วโมงแทนที่จะเอาเวลาไปเตรียมตัวทำงาน
การที่พนักงานไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลาก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ โดยเฉพาะพนักงานในกรุงเทพที่ระยะเวลาการเดินทางจากที่พักไปที่ทำงานอาจใช้เวลาพอ ๆ กับการบินจากกรุงเทพไปถึงเชียงใหม่ แถมค่าครองชีพก็ยังพุ่งสูงโดยเฉพาะถ้าออฟฟิศอยู่ในย่านที่ข้าวของมีราคาแพง
ที่มา – Wall Street Journal
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา