ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และยังอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่
- ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ยังไม่หยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
- ปัจจัยเฉพาะอย่างราคาน้ำมันที่ทยอยพุ่งแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากต้นปีที่อยู่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ต้นเดือน ก.ย. นี้พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมาใช้งานในสัดส่วนสูงกว่า 80%)
- ไทยยังอยู่ในช่วง Low season ด้านการท่องเที่ยวซึ่งมองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เห็นนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาจะช่วยให้เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน
- ไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านการเมือง โดยนักลงทุนต่างชาติอาจรอดูท่าที และความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ให้มากขึ้น
ในด้าน Fund flow หรือเงินทุนเคลื่อนย้ายจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งไทยเจอการขายสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มกลับมาได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การเมืองมีความชัดเจน, การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครับที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น, และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2566 นี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยหลังจากเดือน ก.ย. นี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3 ล้านคน ส่งผลให้ทั้งปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 30 ล้านคน (ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่เกือบ 40 ล้านคน)
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักเกิดจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดีดตัวแข็งค่าขึ้นหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ออกมาในทาง Hawkish (ยังคงนโยบายการเงินที่เข้มงวด)
ทั้งนี้คืนที่ผ่านมา (20 ก.ย.) Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดพร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยฯ อีกครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน Fed ยังส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในปีหน้าเพียง 2 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาด และลดลงจาก Dot plot ของการประชุมครั้งก่อนที่ 4 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวย่อลงอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา