4 สายการบินใหม่สัญชาติไทยเตรียมให้บริการสิ้นปีนี้ เข้าตลาดแข่งขันสู้กับสายการบินยักษ์ใหญ่ 

เมื่อท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก ธุรกิจการบินก็เติบโตตาม ไทยเตรียมรับอย่างน้อย 4 สายการบินใหม่สัญชาติไทย เพราะโควิดไป นักท่องเที่ยวเข้ามา คาดทำให้ตลาดการบินเติบโตแต่ก็แข่งขันสูงขึ้นท่ามกลางต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น

Really Cool Airlines

สายการบิน Really Cool Airlines จดทะเบียนภายใต้บริษัท เรียลลี คูล แอร์ไลนส์ จำกัด มีพาที สารสิน ซีอีโอคนก่อนหน้าของสายการบินนกแอร์เป็นเจ้าของ 51% หลังจากที่พาทีได้ลงจากตำแหน่งซีอีโอของนกแอร์ในปี 2017 หลังจากทำงานมาราว 14 ปี และเผชิญกับความกดดันมากขึ้นเพราะเรื่องต้นทุนของสายการบิน

ขณะนี้สายการบิน Really Cool Airlines กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตให้บริการเที่ยวบิน (AOL) และจะเข้าสู่ตลาดการบินเป็นสายการบินแรก โดยมีเครื่องบิน Airbus A330 และ A350 ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้

Landarch Airlines

สายการบิน Landarch Airlines จดทะเบียนภายใต้บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด โดยมีจักรา ทองฉิม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการธุรกิจการบิน

Landarch Airlines คาดว่าจะให้บริการในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าด้วยเครื่องบิน 12 ที่นั่งที่มีฐานการบินที่หาดใหญ่และมีเที่ยวบินไปยังเมืองหลักทางภาคใต้อย่างเบตง (ยะลา) นราธิวาส สุราษฎร์ธานี

P80 Air

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประยุทธ มหากิจศิริ และเฉลิมชัย มหากิจศิริ ตระกูลเจ้าของ Thoresen Thai Agencies เอเจนซี่ผู้จัดการเดินเรือ ปรากฎในรายชื่อกรรมการของบริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ที่เป็นผู้ดำเนินการสายการบิน P80 Air 

สายการบินวางแผนว่าจะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบิน Boeing 737-800s โดยให้บริการเที่ยวบินไปยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีนอย่างมาเก๊าและฮ่องกง รวมทั้งยังมีเมืองในเวียดนามอย่างฮานอย โฮจิมินห์และดานังปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ของสายการบินด้วย 

Siam Seaplane

สุดท้ายคือสายการบิน Siam Seaplane ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า สายการบินให้บริการผ่านการจัดตั้งบริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด โดยมีวรกัญญา สิริพิเดช เป็นซีอีโอและคณะกรรมการของบริษัท

สายการบินวางแผนให้บริการเครื่องบินน้ำเป็นที่แรกของประเทศไทยและจะให้บริการเที่ยวบินไปยังเมืองท่องเที่ยวที่มีทะเลอย่างหัวหิน พัทยา ระยอง เกาะสมุยและเกาะอื่น ๆ ในภาคใต้ จากเว็บไซต์ของสายการบินเผยว่า แต่ละเที่ยวบินจะบินในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง

ทิศทางของธุรกิจการบิน

ในปี 2019 ก่อนที่จะเกิดโควิดระบาด ประเทศไทยมีผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและธุรกิจกว่า 80 ล้านคน ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียงแค่ 20 ล้านคนในปี 2021 หลังหลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการปิดประเทศป้องกันโควิด-19

สถานการณ์ในปีนี้ นักวิเคราะห์จาก Krungsri Research เผยว่า เป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจการบินที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากที่ซบเซาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการใช้บริการสายการบิน 93% จะมาจากภาคการท่องเที่ยว

สำหรับตลาดการบินทั่วโลก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATA วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจการบินทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า ภาคการบินจะทำรายได้สูงสุดถึง 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1.6 แสนล้านบาททั่วโลกและมีผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางกว่า 4 พันล้านคน รวมทั้งตัวเลขจะมากขึ้นอีกในปี 2024

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Kasikorn Research Center มองว่า ธุรกิจการบินจะเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะต้นทุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในตลาดก็จะเข้มข้นขึ้นจากการที่มีผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสูงขึ้นทดแทนกับต้นทุนที่มากขึ้น

ทางฝั่งนักวิเคราะห์จาก Asia Plus Securities มองว่า หากมองความเป็นไปได้ที่ดีที่สุด นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 2023 ก็น่าจะมากกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 อยู่เล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูสถานการณ์อื่น ๆ อย่างอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นหรือสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาลงที่อาจจะทำให้การเดินทางมีราคาแพงขึ้นและทำให้ความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินลดลงแม้จะคาดการณ์ว่าการเดินทางจากสูงขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 ก็ตาม

ที่มา – Nikkei Asia, P80 Air, Siam Seaplane, Really Cool Airlines

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา