ไม่รักโลกก็ตกยุค สตาร์ทอัพคิดค้นวิธีพิมพ์ไม้ จากเครื่องปริ้นท์ 3 มิติ

3d pringting wood

สั่งพิมพ์ไม้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้แล้ว

มีต้นไม้จำนวนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านต้น ถูกตัดไปในแต่ละปีเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่างๆ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ แม้บริษัทต่างๆ โฆษณาว่าจะรีไซเคิลวัสดุต่างๆ แต่ความเป็นจริงก็คือมีต้นไม้แค่บางส่วนเท่านั้นที่เข้าสู่การผลิตที่ยั่งยืนจริงๆ และไม้ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้แบบทิ้งขว้าง

ล่าสุด Forust สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถพิมพ์ไม้ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติได้ โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นเป็นเศษไม้ซึ่งก่อนหน้านี้การผลิตสินค้าจากไม้ยังมีของเสียในการผลิตจำนวนมาก

จากเศษไม้ไร้ค่า สู่สินค้าจากไม้หลายรูปแบบ

วงการการพิมพ์ 3 มิติเริ่มแสวงวัตถุดิบใหม่ๆ มาใช้ตั้งแต่เมื่อสองปีที่ผ่านมา จนผู้ก่อตั้งของ Forust อย่าง Verginia San Fratello ได้ค้นพบว่า ‘เศษไม้’ สามารถนำมาใช้พิมพ์ไม้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ และยังลอกเลียนแบบต้นไม้ได้แทบทุกแบบ ตั้งแต่ไม้มะฮอกกานีไปจนถึงไม้แอชวูด

3d print wood 2
image from forust.com

Ric Fulop ซีอีโอของ Desktop Metal บริษัทแม่ของ Forust อธิบายถึงหลักการการพิมพ์ไม้สามมิติไว้ว่า ผลิตภัณฑ์จากไม้ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ ขี้เลื่อย หรือเศษไม้ ในทางวิทยาศาสตร์แล้วทั้งหมดก็คือลิกนินและเซลลูโลส และสิ่งที่เครื่องพิมพ์สามมิติทำก็คือการนำเซลลูโลสจากทุกแหล่งมาประกอบร่างเป็นไม้อีกครั้ง

ผลลัพธ์ที่ได้จากการพิมพ์ 3 มิติ คือผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ปราณีตและมีรูปทรงซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นถ้วย เก้าอี้ไม้ หรือไม้สำหรับทำกีตาร์ โดยข้อดีก็คือสามารถผลิตได้รวดเร็วกว่าการทำมือ แถมยังเป็นการนำของเหลือจากการผลิตมาใช้โดยที่ไม่สร้างของเสียซ้ำอีก 

เครื่องจักสานและเฟอร์นิเจอร์ไม้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม้ เป็นหนึ่งในวัสดุที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมาช้านาน ตั้งแต่เล็กจนโตเราอาจได้เห็นทั้งตะกร้าสาน กระเป๋าสาน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องเรือนจากไม้ เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย

คงเป็นการดีหากเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาปฏิวัติวิธีการผลิตสินค้าจากไม้เหล่านี้ให้มีความคงที่ในการผลิตมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ไม่แน่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ผู้ผลิต และช่วยส่งออกสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ได้ไม่น้อยหากภาครัฐพร้อมสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ 

ที่มา – Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน