ภายใต้พัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3มิติที่ล้ำสมัย บวกกับต้นทุนการผลิตมีราคาถูกลง และยังเป็นหนึ่งใน 10 เทคโนโลยีมาแรงในปี 2016นี้ตามที่บริษัทวิจัยตลาด การ์ทเนอร์ ได้พยากรณ์ไว้ ทำให้หลายธุรกิจได้นำไปประยุกต์ใช้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รถยนต์ พลังงาน รวมถึงทั้งทางการแพทย์ โดยเฉพาะในการพิมพ์เพื่อสร้างอวัยวะทดแทน ทำให้ผู้พิการมีความหวังมากขึ้นที่จะได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนบุคคลทั่วไป
เหมือนกับ คอรีย์ ไซมอน หนุ่มน้อย ผู้พิการแขนขวาตั้งแต่กำเนิดวัย 14 ปี จากโรงเรียนมัธยมคิงส์ เมืองดะนีดิน (Dunedin) ประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับของขวัญชิ้นใหม่ เป็นแขนกลแบบไบโอนิค (Bionic Arm) ที่สามารถสั่งการได้จากสมองไปยังกล้ามเนื้อแขนเพื่อสั่งการให้มือสามารถกางและกำมือได้ หยิบจับสิ่งของได้เหมือนใช้มือปกติทั่วไป โดยแขนกลแบบไบโอนิค (Bionic Arm) นี้ได้ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D ของกลุ่มอาสาสมัครจากองค์กรไม่แสวงหารายได้ Limbitless Solutions ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยโพลีเทคนิคโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ และสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำนิวซีแลนด์
แอนดรูว์ วอลเลซ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบและพัฒนาแขนกล และแมทธิว คิงส์ รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยโพลีเทคนิคโอทาโก หัวหน้าผู้ควบคุมการออกแบบ ได้ร่วมกันพัฒนาแขนกลนี้ให้เข้ากับสรีระและการใช้งานในชีวิตประจำของคอรีย์ โดยหลังการออกแบบ รายละเอียดต่าง ๆ ทางวิทยาลัยได้ส่งต้นแบบไปยังทีม Limbitless ในฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เพื่อขึ้นรูปและสร้างแขนกลโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D นอกจากนี้ทีมผู้ออกแบบและพัฒนาจากวิทยาลัยโพลีเทคนิคโอทาโก ยังช่วยทำการปรับแขนกลให้กับคอรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งอยู่ภายในแขนกลที่ผลิตขึ้นมานี้ มีความสามารถในการสั่งการด้วยระบบส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อแขนแต่ละมัดของคอรีย์ เพื่อสั่งการให้กางและกำมือได้ คอรีย์ กล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่เขาสามารถควบคุมการทำงานของแขนกลนี้ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อแขนขวาที่เดิมไม่ค่อยได้ใช้งาน สามารถขยับและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น คอรีย์กล่าวว่า “แขนกลนี้มีน้ำหนักเบา แถมยังใช้งานได้ซับซ้อนมากกว่าแขนเทียมแบบอื่นที่ผมเคยใช้มา ถ้าเป็นแบบเดิม ผมจะไม่สามารถกำหรือกางมือได้เลยครับ”
แม้หนุ่มน้อยผู้นี้จะมีข้อจำกัดทางกาย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเขา เพราะนอกจากจะเป็นเด็กเรียนเก่งแล้ว คอรีย์ยังเป็นนักฟันดาบ นักดนตรี (ทรอมโบน) นักร้องประสานเสียง การได้รับแขนกลไฮเทคใหม่ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้เขาได้เทียบเท่ากับคนอื่น ๆทั่วไป
สำหรับวิทยาลัยโพลีเทคนิคโอทาโก เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรและบริษัทต่างๆ และมีความโดดเด่นในเชิงวิชาการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อการทำงาน ด้วยหลักสูตรภาคปฏิบัติที่เข้มข้น โดยปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ กว่า 100 หลักสูตร ตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาโท และปริญญาเอก และประกอบด้วย 3 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตดะนีดีน วิทยาเขตเซ็นทรัลโอทาโก และวิทยาเขตโอ๊กแลนด์ โดยมีนักศึกษาราว 7,000 คน และบุคคลากร 500 คน
ด้านกลุ่มอาสาสมัคร Limbitless Solutions ก่อตั้งขึ้นโดย อัลเบิร์ต มาเนโร นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา และอดีตนักศึกษาทุนฟุลไบร์ท ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการผลิตแขนกลไบโอนิค 3D ให้มีต้นทุนและราคาที่ต่ำลง เพื่อแก้ปัญหาแขนขาเทียมที่มีราคาสูง โดยแขนกลมีราคาเพียง 350 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับแขนขาเทียมรูปแบบเดิมที่มีราคาสูงถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ Limbitless Solutions ยังได้บริจาคแขนกลแก่ผู้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดสองปีที่ผ่านมา และ คอรีย์ ไซมอนด์ เป็นผู้โชคดีคนล่าสุดที่ได้รับของขวัญเป็นแขนกลไบโอนิคชิ้นที่ 16
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา