3 ทักษะที่เจ้านายและพนักงานต้องรู้ เพื่อปรับตัวอยู่รอด ในยุคที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงาน

กระแสหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานไม่ใช่เรื่องใหม่ บริษัทที่ปรึกษาอย่าง McKinsey บอกไว้นานแล้วว่า ในปี 2030 หุ่นยนต์จะทำให้คนไทยตกงานประมาณ 6 ล้านคน ส่วนในระดับโลกคาดว่าจะตกงานถึง 800 ล้านคน

แน่นอนว่า ข้อมูลด้านบนนี้ อาจมีข้อถกเถียงได้ว่า แม้หุ่นยนต์เข้ามา คนจะตกงาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่หุ่นยนต์เข้ามา ก็สร้างรูปแบบงานใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

  • อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้จะไม่เข้าไปปะทะกับข้อถกเถียงดังกล่าว แต่จะเสนอว่า ไม่ว่ามุมมองของคุณต่อเรื่องงานในอนาคต (Future of Work) จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราน่าจะเห็นตรงกันแน่คือ “ทักษะงาน” ในอนาคตย่อมเปลี่ยนแปลงไป ส่วนจะมีทักษะอะไรบ้าง เราอ้างอิงงานวิจัยของ Microsoft มาให้ได้อ่านกันแล้วด้านล่างนี้
พนักงานออฟฟิศ งาน พนักงาน Work
พนักงานออฟฟิศ Photo: Shutterstock

จากรายงานการศึกษาล่าสุดของ Microsoft ร่วมกับ International Data Corporation โดยเข้าไปศึกษาบริษัทในเอเชียแปซิฟิก พบว่า มีบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการทางธุรกิจเพียง 41% เท่านั้น (ไม่ถึงครึ่ง) พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

Ralph Haupter ประธานของ Microsoft ในเอเชีย บอกว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทำให้บริษัทในเอเชียแปซิฟิกปรับตัวช้าคือ “การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ”

  • ตรงนี้สำคัญ คำว่าขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ปกติเรามักจะใช้กันในความหมายที่เอาไว้บอกคนในระดับลูกจ้างหรือพนักงานทั่วไป แต่งานศึกษาในครั้งนี้บอกชัดว่า ไม่ใช่แค่ลูกจ้างหรือพนักงานเท่านั้น เพราะคนในระดับหัว หรือเจ้านายก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน

3 ทักษะที่จำเป็นต่องานในอนาคต อ้างอิงโดย Microsoft

ทักษะที่ 1 คือ ทักษะดิจิทัล (Digital skills)

ทักษะดิจิทัลไม่ได้หมายถึงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพราะทักษะดิจิทัลมีมิติที่ลุ่มลึก เช่น การเข้าใจและรู้เท่าทันถึงความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต หรือถ้ามองในภาพของบริษัท ทักษะดิจิทัลก็หมายถึงการใช้ดิจิทัลเพื่อมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรด้วย

ทักษะที่ 2 คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Analytical abilities)

ทักษะในการคิดและวิเคราะห์จะยิ่งทวีคูณความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่หุ่นยนต์สามารถทำงานอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่าง(เกือบ)สมบูรณ์ เหตุผลเพราะความสามารถในการคิดวิเคราะห์เรียกร้องความสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาสูงมาก หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้(อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้) แรงงานมนุษย์ยังทำได้ดีกว่า ดังนั้นจึงต้องปรับตัวและเพิ่มพูนทักษะในส่วนนี้

ทักษะที่ 3 คือ ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous learning capabilities)

หลายคนอาจเรียกทักษะนี้ว่า “ความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพราะในโลกยุคใหม่ความรู้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือในห้องสมุด แต่ความรู้อยู่ทั่วไปหมดทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ และที่สำคัญความรู้ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก การรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างดี ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจสำคัญน้อยลงหรือไม่สำคัญในตลาดแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงสำคัญและจำเป็นมาก

สำคัญ: จงพาตนเองไปรายล้อมกับเพื่อนพนักงานที่อยากเพิ่มพูนทักษะอยู่เสมอ

Kevin Wo กรรมการผู้จัดการของ Microsoft ในสิงคโปร์ บอกว่า ทักษะ 3 ข้อที่เสนอในรายงาน เน้นไปที่เจ้านายมากกว่าลูกน้อง เพราะเจ้านายเป็นส่วนสำคัญในการวางทิศทางขับเคลื่อนองค์กร

ส่วนในระดับพนักงาน เสนอว่า สิ่งที่ควรมีคือความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ควรทำต่อมาคือ จงพาตนเองไปรายล้อมอยู่กับเพื่อนพนักงานที่อยากเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ จงหากลุ่มเพื่อนพนักงานที่มีความคิดอยากพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง (ตนเองและองค์กร) ไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้นจงทำร่วมกัน และผลสุดท้ายจะทำให้ทั้งตนเองและบริษัทเกิดความคิดและวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ข้อมูล – CNBC [1][2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา