ชวนอ่านเหตุผล ทำไมอังกฤษต้องตั้ง รัฐมนตรีขึ้นมาดูแลปัญหา “ความเหงา” ของประชาชน

ข่าวการตั้ง รัฐมนตรีกำกับดูแลปัญหาความเหงาของประชาชน (Minister for loneliness) ของรัฐบาลอังกฤษน่าจะสร้างความรู้สึกหลายอย่างให้กับคนฟังและคนอ่าน มีทั้งที่รู้สึกขบขันและมีทั้งที่รู้สึกจริงจัง แต่เหตุผลจริงๆ คืออะไร Brand Inside รวบรวมมาให้อ่านกันแล้ว

Photo: Shutterstock

เหตุผลที่ 1 : คนเหงา/ความเหงา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

หนึ่งในเนื้อร้องของเพลงหนุ่มบาว-สาวปาน ที่ว่า “คนเหงาย่อมเข้าใจคนเหงา” อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะเหตุผลแรกของการตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลปัญหาความเหงาของประชาชนชาวอังกฤษคือ คนที่ไม่เหงาก็ต้องเข้าใจคนเหงา

นี่คือเรื่องใหญ่ จากงานวิจัยระบุว่า

  • ในอังกฤษมีคนที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวกว่า 9 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน)
  • ในจำนวนนี้ประมาณ 200,000 คน เป็นผู้สูงอายุที่ไม่ได้คุยกับเพื่อนและญาติมานานกว่า 1 เดือน
  • คาดการณ์ว่าคนที่อายุมากกว่า 75 ปี ประมาณ 2 ล้านคนในอังกฤษใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้พบผู้คน
  • 85% ของผู้พิการวัยหนุ่มสาว (อายุ 18 – 34 ปี) รู้สึกเดียวดาย

Theresa May นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ กล่าวไว้ในแถลงการณ์ถึงความสำคัญของการตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลปัญหาความเหงาว่า “ความเหงาเปล่าเปลี่ยวเป็นความจริงอันน่าเศร้าของชีวิตยุคใหม่ ฉันต้องการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้เพื่อแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่ดูแลคนอื่น ผู้ที่สูญเสียคนรัก หรือผู้ที่ไม่มีใครให้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์”

Photo: Shutterstock

เหตุผลที่ 2 : ความเหงาส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เนื้อร้องจากเพลงเหตุเกิดจากความเหงา ดูจะเหมาะสมกับเหตุผลข้อนี้ เพราะมีงานวิจัยด้านสังคมวิทยาหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ความเหงาเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

งานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Julianne Holt-Lunstad แห่งมหาวิทยาลัย Brigham Young University ใน Utah เผยว่า งานวิจัยกว่า 148 ชิ้น จากการศึกษาคนกว่า 300,000 คน เห็นตรงกันว่า การมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 50%

ส่วนงานวิจัยขนาดใหญ่อีก 70 ชิ้น ที่ศึกษาจากคนกว่า 3.4 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ชี้ชัดว่า ความโดดเดี่ยว ความเปล่าเปลี่ยว และความรู้สึกเหงามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เทียบเท่าได้กับโรคอ้วนเลยทีเดียว

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ งานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคนนี้ยังระบุด้วยว่า ความเหงาระบาดได้ และที่สำคัญในโลกยุคปัจจุบัน เรากำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของความเหงา (loneliness epidemic) กันทั้งโลก

ส่วนหนทางในการแก้ไข มีตั้งแต่ร่วมสร้างบรรยากาศของสังคมที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน ให้กำลังใจกันและกัน ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการสร้างพื้นที่สาธารณะดีๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยลดอัตราความเหงาและการระบาดของความเหงาได้ทั้งนั้น

Photo: Shutterstock

เหตุผลที่ 3 : ความเหงาฆ่าคนได้ ง่ายกว่าบุหรี่เสียอีก

ไม่รู้ว่าเพลงถ้าความคิดถึงฆ่าคนได้ของหมอโอ๊คนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความคิดถึงฆ่าคนได้จริงๆ หรือไม่ แต่ไม่เป็นไร เพราะลูกน้ำ อาร์ สยามได้ตอบเอาไว้ในเพลงเหงา…ฆ่าคนได้แล้วว่า “ถ้าคำว่าเหงามันฆ่าคนได้ ฉันคงตายนานแล้ว กรีดดวงใจของฉันเป็นริ้วเป็นแนว ไม่มีใครมาช่วยเยียวยา ก็คงมีแค่น้ำตาชโลมแผลใจ”

ความเหงาฆ่าคนได้จริงๆ Mark Robinson ผู้บริหารของ Age UK Barnet ซึ่งเป็นองกรค์การกุศลในอังกฤษ กล่าวว่า “ความเหงาฆ่าคนได้ เพราะมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า ความเหงาอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวนเสียอีก แต่เราสามารถเอาชนะมันได้ และมันต้องไม่เป็นปัจจัยในชีวิตของผู้สูงอายุ” พร้อมทั้งบอกด้วยว่า “องค์กรของเราพร้อมสนับสนุนสิ่งที่รัฐบาลทำ เพื่อสนับสนุนคนเหงา ทั้งในชุมชนและในระดับประเทศอย่างถึงที่สุด”

อย่างไรก็ตาม Tracey Crouch รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาและสังคมพลเรือนคนปัจจุบันจะเป็นผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงความเหงา โดยจะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการ ภาคธุรกิจ และองค์กรการกุศลในอังกฤษเพื่อกำกับดูแลความเหงาของประชาชนชาวอังกฤษ ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติเรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง – QUARTZ,QUARTZ 1GOV.UK,BBCTHAI

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา