ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประกาศแผนการดำเนินงานของปีนี้ แต่ยังมีความกังวลถึงผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อภาคเศรษฐกิจของไทย โดยยกตัวอย่างจากญี่ปุ่น
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 2563 ว่า สำหรับในปีนี้ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีจะยังคงเดินหน้าสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมธนาคารในประเทศไทยนั้นมีความท้าทายหลายเรื่อง แต่กรุงศรียังคงส่งมอบผลงานที่โดดเด่นทั้งในด้านการเงิน รวมไปถึงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
แต่ในปีนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังเน้นย้ำว่าแผนการดำเนินงานต่างๆ อาจปรับเปลี่ยนไปได้ เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบในเรื่องไวรัสโคโรนา
ขณะที่แผนเชิงยุทธศาสตร์ในปีนี้จะมี 3 ด้านที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ประกอบไปด้วย
ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
ในปีนี้นั้นตัวธนาคารจะเน้นเรื่อง Digital Transformation ซึ่งอยู่ในด้านผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น Digital Lending ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสกุลเงินต่างประเทศ ฯลฯ การปรับปรุงระบบการทำงานของธนาคารให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบติดตามขั้นตอนการทำงานของพนักงานในการให้บริการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเองได้รับความสะดวกมากขึ้น ขณะที่พนักงานเองก็สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น
แม้ว่าธนาคารเองจะใช้ระบบดิจิทัลในขั้นตอนการทำงาน แต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องของพนักงาน โดยจะเน้นเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เช่น ลูกค้าสินเชื่อ การให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน Wealth Management ฯลฯ รวมไปถึงธนาคารจะใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย
ใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร
ขณะที่การใช้ข้อมูลต่างๆ นั้นจะใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Machine Learning มาวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อที่จะเข้าใจในตัวลูกค้ามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารเองก็จะปรับปรุงในเรื่องของเทคโนโลยีข้างต้น รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบ Automation ต่างๆ เพื่อทำให้ระบบการทำงานรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารเองยังจะบริหารความเสี่ยงโดยใช้ Machine Learning อีกด้วย
เน้นกลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร
ขณะที่ในปีนี้อีก 1 กลยุทธ์ของธนาคารคือเรื่องของการเริ่มต้นโครงการที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาEcosystem เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ใช้รถ ก็จะเน้นไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม “พร้อมสตาร์ท” ให้เป็นแพลตฟอร์มด้านไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้รถ โดยจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้
ขณะที่แพลตฟอร์มของผู้ซื้อบ้าน ก็จะเน้นเรื่องการบริการหลังผู้ซื้อบ้านได้ซื้อไป รวมไปถึงเรื่องของสินเชื่อ ขณะที่ผู้ประกอบการ SME โดยจะจับมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการเพิ่มยอดขาย หรือแม้แต่การให้คำปรึกษาเรื่องการเงินในด้านต่างๆ
เรื่องอื่นๆ ในช่วงถามตอบ
- ธนาคารยังย้ำผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอาจส่งผลต่อเป้าของธนาคารที่วางไว้ทั้งหมด
- เงินให้สินเชื่อจะเติบโตในระดับ 5-7% NPL ต่ำกว่า 2.5%
- อย่างไรก็ดีธนาคารมองว่า NPL อาจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งมองแบบ Conservative สุดๆ
- ธนาคารเน้นพอร์ตสินเชื่อแบบสมดุล โดยมีสัดส่วน 50% ลูกค้าบริษัท 50% สินเชื่อรายย่อย ธนาคารมองว่าการจัดพอร์ตเช่นนี้ทำให้ความผันผวนลดลง
- ถ้าหากผลกระทบจากไวรัสโคโรนาถือว่าสูง ธนาคารต้องปรับตัวหารายได้ใหม่ๆ มาชดเชย
- ปีนี้จะพยายามรักษาเรื่องความเสี่ยงของธนาคารให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น การสำรองหนี้ ฯลฯ
- เรื่องของมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ทำให้คาดการณ์ตัวเลขของธนาคารยากขึ้นมาก
- การขยายไปต่างประเทศ ดูไว้ทุกแนวทาง ไม่ได้เน้นว่าจะต้องซื้อกิจการแต่อย่างเดียว
- ประเด็นของสาขาธนาคาร เซอิจิโระ กล่าวว่าปีนี้ไม่เพิ่มและไม่ลด รวมไปถึงพนักงานด้วย
- อุปสรรคใหญ่ของธนาคารนั้นคือเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ของไทย แต่มองไปข้างนอกมีผลกระทบกว่า
- ธนาคารจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7.5 ล้านกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- เซอิจิโระ ชี้เรื่องของผลกระทบจากสึนามิในญี่ปุ่นว่าท้ายที่สุดห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีไวรัสโคโรนาเขาเองก็มีความกังวลในเรื่องนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา