เอ็นไวโรเซล (ไทยแลนด์) เผย ‘3 อินไซต์ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมา ปี 2018’ ใน 3 เมืองเศรษฐกิจหลัก ย่างกุ้ง มัณฑเลย์ และเนปิดอว์ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคจับจ่าย เพื่อภาพลักษณ์ทางสังคม และไลฟ์สไตล์ (from necessity to need) ตลาดโมเดิร์นรีเทลเติบโตสูง ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ตัวเองมากกว่าแค่ปัจจัยสี่ และใช้สินค้าอิมพอร์ตมากขึ้น
สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า
เมียนมายังเป็นประเทศเนื้อหอมด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายในอนาคตที่จะทำให้เมียนมาสามารถเชื่อมต่อกับนานาประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บังคลาเทศ หรือไทย ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงประชากรอีก 40% ของโลก (เกือบ 3 พันล้านคน) และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาฟื้นตัวจากปี 2016 โดยมี GDP ที่ 7.7% และคาดการณ์ 8%ในปี 2018
ทำให้คาดการณ์สัดส่วนของผู้มีกำลังซื้อตั้งแต่รายได้ A และ B จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 5 ล้าน เป็น 10 ล้านคน ภายในปี 2020 ข้อมูลวิจัยจากหลายแหล่งตอกย้ำการเติบโตแบบไม่หยุดยั้งนี้ บริษัทเอ็นไวโรเซล ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระดับโลกได้วิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเมียนมาในปี 2018 ดังนี้
-
ตลาดโมเดิร์นรีเทล (Modern Retail) เติบโตสูง
เมียนมาเป็นตลาดที่ดึงดูด Retailer จากหลายประเทศให้เข้ามาลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการขยายธุรกิจรีเทลมาที่เมียนมา อาทิ Aeon, Miniso หรือ Daiso รวมถึงมีแผนการขยาย Fashion Retail แบรนด์ต่างๆ ทำให้พื้นที่รีเทลในเมียนมาเติบโตสูงถึง 28% โดยเฉลี่ยในแต่ละปี มีการขยายตัวของพื้นที่ให้เช่าจาก 150,000 ตารางเมตร ในปี 2013 เป็น 250,000 ตารางเมตรในปี 2018
ส่วนตลาดค้าปลีกในเมียนมาเองก็มีการขยับขยายกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการเปิดสาขาเพิ่มในเมืองรอง เช่น Grab and Go ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตัวในปี 2013 ด้วยจำนวน 10 สาขา ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 200 สาขาในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนย์ปิดอว์ จากงานวิจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่า 54% ของคนเมียนมาไม่มีความกังวล และมีความตั้งใจจะใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ตลาดค้าปลีกเติบโตอย่างคึกคักในปี 2018
-
มองหาสินค้าที่สนองไลฟ์สไตล์มากกว่าแค่ปัจจัยสี่
ข้อมูลวิจัยผู้บริโภคเมียนมาพบว่า คนเมียนมาซื้อสิ่งของที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่ได้ซื้อแค่สินค้าที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น มีการใช้น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ครีมนวดผม สบู่เหลว มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนจัดเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น และสิ้นเปลือง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี
ในขณะที่อัตราการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบาย เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ก็เติบโตสูงเช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนเกาหลีเป็นสินค้าเครื่องสำอาง ขณะที่ญี่ปุ่น และจีน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า
แม้กระทั่งคอนเทนต์ของโฆษณาก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนในเมียนมา จากโฆษณาที่เน้น Hard Sale ขาย Functional Product ความยาว 3 นาที ก็เปลี่ยนมาเน้น Soft Sale คือ ขาย Emotional เป็นไลฟ์สไตล์คอนเทนต์มากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพคุ้นชินที่เห็นคนเมียนมานั่งยองตามตั่งเก้าอี้ จิบชากาแฟริมถนนกำลังจะกลายเป็นภาพในอดีต จากผลวิจัยที่ระบุอัตราติดลบ 10%ต่อปี เมื่อคนเมียนมาหันมานิยมเข้าร้านกาแฟที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยร้านกาแฟแบรนด์ต่างๆ ก็ทยอยเข้ามาเปิดตัวในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็น Gloria Jean’s, True Coffee, Black Canyon, Coffee Bean & Tea Leaf เป็นต้น
ผลวิจัยระบุอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของร้านกาแฟจาก 6%ใน ปี 2013 เป็น 45% ในปี 2016 เช่นเดียวกับธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกายบาร์ โยคะ หรือฟิตเนส ที่จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในเมียนมา
ขณะที่ผู้ร่วมงานแฟร์อย่างงาน Myanmar Build & Décor งานแต่งบ้าน ไลฟ์สไตล์ดีไซน์ก็มีผู้ร่วมงานมากขึ้น โดยมีจำนวน 5,119 คนในปี 2017 จาก 2,879 คนในปี 2014 เติบโต 80% (ข้อมูลจากบริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการจัดงานแฟร์ และเอ็กซิบิชั่นทุกครบวงจร บริษัทในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน))
-
โกอินเตอร์
จากงานวิจัยของเอ็นไวโรเซลในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าคนเมียนมาเริ่มหันมาใส่ใจภาพลักษณ์ และ Status Symbol มากขึ้น มีการใช้สินค้าอิมพอร์ตมากขึ้น เช่น บิสกิต ชาอังกฤษ สปาเกตตี้ ซุปฝรั่ง ซีเรียล สอดคล้องกับ ข้อมูลของไอซีเว็กซ์ ที่ระบุว่า คนเมียนมาชอบไปอีเว้นท์ที่เกี่ยวกับ International Food & Beverage มากขึ้น
โดยในปี 2017 มีผู้เข้าร่วมงาน 4,100 คน เติบโตถึง 52 % จากปี 2014 ที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 2,696 คน ในขณะเดียวกัน 47 %ของคนเมียนมาที่ใช้ ‘อินเทอร์เน็ต’ มีโอกาสเปิดรับสื่ออินเตอร์มากยิ่งขึ้น โดย VDO Streaming เป็นที่นิยมมากในปี 2017 ซึ่ง 80% ดูผ่านมือถือ ทำให้ Netflix กำลังขยายธุรกิจไปยังเมียนมา รวมถึงพันธมิตรอย่าง Ooredoo และ Iflix ด้วยเช่นกัน
ทำให้คนเมียนมาได้เปิดรับโลกภายนอกมากขึ้น และโกอินเตอร์มากขึ้น รวมถึงเริ่มนิยมเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น โดยปี 2017 ที่ผ่านมา มีคนเมียนมาเดินทางออกนอกประเทศถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉลี่ย 10.6% จนถึงปี 2021
โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ A และ B ในย่างกุ้ง และมัณฑเลย์ นับว่ายังมีโอกาสอีกมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และอัตราการเติบโตของผู้มีรายได้สูง และเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมที่สุดของชาวพม่า
“พฤติกรรมการบริโภคของคนเมียนมาที่มีการเปิดรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และใช้สินค้าตอบสนอง emotional มากขึ้นก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ จึงควรมีการศึกษาตลาดและผู้บริโภคให้ดี เพื่อเข้าไปขายสินค้าอย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกกลุ่ม และวางกลยุทธ์ได้ถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาและการลงทุนไปอย่างสูญเปล่า”
**ข้อมูลวิจัยจากบริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย ทำการรวบรวมจากข้อมูลทุติยภูมิ ในช่วงปี 2012-2017 และการสัมภาษณ์ชาวพม่าจำนวนกว่า 2,000 คน ในกลุ่มชายหญิง อายุ 18-45 ปี รายได้ A B C และ D ณ เมืองย่างกุ้ง มัณฑเลย์ และเนปิดอว์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา