เปิดรายงานกนง. รอบส.ค. 66 หลังขึ้นดอกเบี้ยฯ ย้ำ 3 ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

หลังจากวันที่ 2 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี ขึ้นสู่ระดับ 2.25% ต่อปีนั้น ล่าสุดทางกนง. ได้ออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2566 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ 0.25% ต่อปีนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินจากบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบาย การเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง

โดยความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ระบุถึงปัจจัยดังนี้ 

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค ซึ่งจีนและอาเซียนมีสัดส่วนในตลาดส่งออกของไทยรวมกันใกล้เคียง 40% 
  • ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยจะส่งผลในหลายมิติ หากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ อาจส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงกว่าที่ประเมินไว้ 
  • กรณีปรากฏการณ์เอลนีโญอาจส่งผลรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้ราคาอาหารสดรวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ผู้ประกอบการอาจกลับมาส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาเพิ่มขึ้นได้ในบริบทที่ต้นทุนสูงขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก แม้ภาคการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป โดยปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ 

1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มี

แนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับประมาณการเดิมที่ 29 และ 35.5 ล้านคนในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้แต่ได้รับการชดเชยจากจำนวนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นที่ฟื้นตัวสูงกว่าคาด 

2) การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีจากผู้บริโภคในกลุ่มรายได้ปานกลางและสูงเป็นหลัก นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการจ้างงานและรายได้ที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะลูกจ้างในภาคบริการและอาชีพอิสระ สอดคล้องกับข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างนอกภาคเกษตรในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ขยายตัว 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าในปี 2566 คาดว่าจะหดตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้าและสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็น

ค่อยไปในครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่ได้อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐฯ และ ยุโรป สินค้าเกษตรแปรรูปตามอุปสงค์ของอาเซียน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อุปสงค์โลกจะฟื้นตัวในปลายปี โดยตลาดอาเซียนจะฟื้นเร็วกว่าประเทศอื่นจากอุปสงค์ชิปรถยนต์

ด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐโดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามกระบวนการงบประมาณที่คาดว่าจะล่าช้า 2 ไตรมาสโดยจะกลับมาขยายตัวในปี 2567 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงในระยะสั้น แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานที่สูงในปีก่อนและมาตรการลดค่าครองชีพซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวและแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะปรับสูงขึ้นหลังปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง ขณะเดียวกันราคาในหมวดอาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ (แต่ยังน้อยกว่าภัยแล้งช่วงปี 2557) 

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากหมวดอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร (food in core) และบริการที่ไม่รวมค่าเช่าบ้าน รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ลดลง 

อย่างไรก็ดี เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยโดยรวมยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารของโลกซึ่งยังอยู่ในระดับสูง มีอิทธิพลต่อความผันผวนของเงินเฟ้อหมวดอาหารของไทยอย่างมีนัย มองไปข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงที่สำคัญจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวเป็นลำดับ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเงินในระยะยาว 

การประชุมกนง. วันที่ 27 ก.ค. และ 2 ส.ค. 2566 มีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่

  • นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) 
  • นายเมธี สุภาพงษ์(รองประธาน)
  • นางรุ่ง มัลลิกะมาส
  • นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน 
  • นายรพี สุจริตกุล 
  • นายสมชัย จิตสุชน 
  • นายสุภัค ศิวะรักษ์

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา