ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ถูก ‘สินค้าจีน’ บุกหนัก ทะลักเข้าสู่ประเทศ หลังจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กำลังซื้อลด แต่ผลิตล้น ไม่สามารถพึ่งการบริโภคภายในประเทศ ต้องเร่งระบายสินค้าออก
อย่าง ‘อินโดนีเซีย’ ที่แม้ในปี 2566 จะเกินดุลการค้าจีนอยู่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในครึ่งแรกของปีนี้กลับขาดดุลการค้าจากจีนในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและแก๊สไปแล้วกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วน ‘มาเลเซีย’ ปีที่แล้วขาดดุลการค้าจีน 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขาดดุลการค้าจีนราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ ‘ไทย’ ขาดดุลการค้าจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 โดยขาดดุลมากถึง 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท)
ล่าสุดที่ประชุม ‘คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน’ หรือ กกร. ยังแสดงความกังวลในเรื่อง ‘ขาดดุลจีน’ ด้วยเช่นกัน เพราะแค่ 6 เดือนแรกของปีก็ขาดดุลมากกว่าปีที่แล้ว 15% แล้ว
ครึ่งแรกปี 2567 ไทยได้นำเข้าสินค้าจากจีนไปแล้ว 37,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.12% ทำให้ 6 เดือนแรกขาดดุลการค้าจีนไปแล้ว 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 แสนล้านบาท) หรือขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15%
ทำให้ส่งผลกระทบกับภาคการผลิต 23 กลุ่มอุตสาหกรรม แล้วยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerc ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ลูกค้าในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs ขึ้นไปอีก เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและด้านต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้
กกร. จึงเสนอว่า ถ้าอยากให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ของจีน เสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสิมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี
โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งชั้นได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คือ ‘ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียน’ ที่ลดลง
– กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก 12.7% (1Q/66) เหลือ 1.5% (1Q/67)
– กลุ่มยานยนต์ลดลงจาก 20.9% (1Q/66) เหลือ 18.7% (1Q/67)
สาเหตุมาจากจีนส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปีหดตัว 1.8% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ชของสินค้าจีนที่พูดถึงไปแล้วทางด้านบนอีกด้วย
จึงไม่แปลกที่ชาติอาเซียนทั้ง 3 ประเทศจะเริ่มวาง ‘มาตรการภาษี’ รับมือสินค้าจีนทะลัก อย่างตอนนี้ ‘มาเลเซีย’ ได้กลับมาเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ที่มีราคาต่ำกว่า 500 ริงกิต ซึ่งเคยยกเว้นมาตลอดแล้ว
เช่นเดียวกับ ‘ไทย’ ที่รัฐบาลกลับมาเก็บภาษี 7% สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ด้าน ‘อินโดนีเซีย’ เองก็ประกาศเตรียมตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนสูงสุดถึง 200%
BrandInside ชวนสำรวจความแตกต่างระหว่างมูลค่าการนำเข้าจากจีนและมูลค่าการส่งออกไปจีนของชาติอาเซียน 3 ประเทศอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ข่าวเกี่ยวข้อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา